ความหมาย ขี้ตาเยอะ
ขี้ตาเยอะ คือ อาการที่มีขี้ตาสะสมอยู่ตรงหัวตาหรือเปลือกตาปริมาณมาก ซึ่งเกิดจากการสะสมของเมือกในตา เซลล์ผิวหนัง น้ำมัน และฝุ่นผงต่าง ๆ บริเวณหัวตาที่มักเกิดในขณะนอนหลับ และทำให้ตื่นขึ้นมาพบว่ามีขี้ตาเยอะในตอนเช้า โดยอาการดังกล่าวอาจเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม หากมีขี้ตาปริมาณมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายวันก็อาจเป็นสัญญาณการบาดเจ็บหรือติดเชื้อที่ดวงตาได้ โดยเฉพาะหากขี้ตาเยอะร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น คันตา เจ็บตา ตาไวต่อแสง เป็นต้น
อาการของขี้ตาเยอะ
อาการขี้ตาเยอะ คือ มีขี้ตาสีขาวหรือสีเหลืองบริเวณหัวตาปริมาณมากเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า ซึ่งอาจเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่หากมีขี้ตาเยอะจากการเจ็บป่วยหรือการติดเชื้อต่าง ๆ อาจมีอาการดังต่อไปนี้
- มีขี้ตาเยอะและเหนียวเกิดขึ้นในเวลากลางวัน หรือติดต่อกันหลายวัน
- ขี้ตามีลักษณะเป็นหนองข้น
- เปลือกตาบวมหรือแดง
- ลืมตาลำบากในตอนเช้า
ทั้งนี้ หากพบอาการข้างต้น รวมถึงปวดตาหรือมีปัญหาการมองเห็น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที
สาเหตุของขี้ตาเยอะ
การสะสมของเยื่อเมือกในตา เซลล์ผิวหนัง น้ำมัน และฝุ่นผงต่าง ๆ ทำให้เกิดขี้ตาขึ้น ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายที่ช่วยป้องกันดวงตาและกำจัดเศษผงต่าง ๆ ในดวงตาที่อาจเป็นอันตรายออกไป แต่การมีขี้ตาเยอะเกินไปนั้น อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ท่อน้ำตาเกิดการอุดตัน ทารกแรกเกิดจะมีท่อน้ำตาขนาดเล็กซึ่งเกิดการอุดตันได้ง่าย ทำให้เกิดการสะสมของขี้ตาสีขาวหรือสีเหลืองขึ้น และอาจมีลักษณะคล้ายหนอง แต่ปัญหาขี้ตาเยอะในทารกอาจไม่ใช่สัญญาณของการติดเชื้อหากไม่มีอาการตาแดงเกิดขึ้นร่วมด้วย
- ตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบ ภาวะดังกล่าวอาจทำให้มีขี้ตาสีขาว สีเขียว หรือสีเหลืองออกมาเป็นปริมาณมาก และขี้ตาอาจมีลักษณะข้นเหนียวหรือติดที่เปลือกตาจนทำให้ลืมตาลำบากได้ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบที่ตาเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น
- ตากุ้งยิง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในต่อมไขมันใต้เปลือกตา ส่งผลให้เกิดตุ่มนูนเล็ก ๆ ภายในหรือภายนอกเปลือกตา อาจทำให้มีขี้ตาเยอะและเกิดตุ่มหนองที่สร้างความเจ็บปวดได้
- กระจกตาเป็นแผล แผลที่กระจกตาอาจทำให้กระจกตาติดเชื้อและเกิดการอักเสบได้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีขี้ตาไหลออกมาเป็นเมือกเหนียวตลอดเวลาร่วมกับอาการปวดตา และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตาบอดได้
- คอนแทคเลนส์ การใส่คอนแทคเลนส์อาจทำให้มีขี้ตาเยอะได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากใส่คอนแทคเลนส์เก่าหรือเกิดอาการแพ้ส่วนผสมบางอย่างในน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ เช่น ไทเมอรอซอล (Thimerosal) เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ตาเกิดการระคายเคือง มีขี้ตา และตาแดงตามมาได้
การวินิจฉัยขี้ตาเยอะ
เมื่อมีขี้ตาไหลออกมาจากดวงตาปริมาณมากร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น ตาบวม ตาแดง ขี้ตามีสีข้น หรือมีขี้ตาเยอะติดต่อกันหลายวัน เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงไม่ให้อาการป่วยแย่ลง
เมื่อไปพบแพทย์ ควรแจ้งอาการให้แพทย์ทราบอย่างละเอียดรวมถึงอาการอื่นที่เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น น้ำตาไหล คันตา หรือแสบตา เป็นต้น โดยแพทย์อาจตรวจดูบริเวณดวงตาเพื่อหาสาเหตุของปัญหาขี้ตาเยอะ เพื่อประเมินแนวทางการรักษาให้เหมาะสมต่อไป
การรักษาขี้ตาเยอะ
การมีขี้ตาเยอะในตอนเช้าเป็นเรื่องปกติและไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่หากมีขี้ตาเยอะจากการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อต้องรักษาตามสาเหตุที่พบ ซึ่งวิธีการรักษาอาการขี้ตาเยอะ ปฏิบัติดังนี้
- ใช้น้ำตาเทียม แพทย์อาจแนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมหยอดตา เพื่อรักษาอาการแพ้และอาการตาแห้ง
- ใช้ยาปฏิชีวนะ กรณีที่อาการขี้ตาเยอะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาป้ายตาหรือยาหยอดตา เพื่อรักษาการติดเชื้อ ลดอาการแทรกซ้อน และลดโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตา หากใช้ยาหยอดตาควรล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง
- สวมแว่นตา ควรใส่แว่นตาแทนการใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าอาการขี้ตาเยอะจะดีขึ้น
- ประคบร้อน ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นแล้วประคบลงบนเปลือกตา เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากปัญหาสุขภาพตา
ภาวะแทรกซ้อนของขี้ตาเยอะ
โดยทั่วไป อาการขี้ตาเยอะไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่หากเกิดขี้ตาเยอะจากการติดเชื้อหรือเป็นแผลที่กระจกตาอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็น และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจทำให้ตาบอดได้
การป้องกันขี้ตาเยอะ
วิธีต่อไปนี้อาจช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการมีขี้ตาเยอะและการติดเชื้อที่ดวงตาได้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาหากไม่จำเป็น และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
- กรณีที่ใช้ยาหยอดตา ควรระวังไม่ให้ปลายขวดยาหยอดตาสัมผัสกับหน้าหรือนิ้วมือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หากเป็นไปได้ควรเลือกใช้น้ำตาเทียมที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีกันเสีย
- ก่อนใส่คอนแทคเลนส์ ต้องล้างมือให้สะอาดและตรวจสอบให้แน่ใจว่าเลนส์ได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรคเรียบร้อยแล้ว
- เปลี่ยนตลับใส่คอนแทคเลนส์อย่างสม่ำเสมอ และเปลี่ยนคอนแทคเลนส์เมื่อหมดอายุการใช้งาน
- หากมีปัญหาสุขภาพตาอยู่ ต้องรับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ