คลินดามัยซิน (Clindamycin)
คลินดามัยซิน (Clindamycin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย มักใช้รักษาสิวอักเสบ การติดเชื้อของผิวหนัง การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อในช่องปาก การติดเชื้อในช่องท้อง หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด โดยแพทย์อาจใช้เป็นยารักษาเพียงตัวเดียว ใช้ควบคู่กับยาปฏิชีวนะตัวอื่น หรือใช้เมื่อใช้ยาตัวอื่นไม่ได้ผล
เกี่ยวกับคลินดามัยซิน
กลุ่มยา | ยาปฏิชีวนะ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาทา และยาฉีด |
คำเตือนของการใช้ยาคลินดามัยซิน
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ก่อนใช้ยาต้องแจ้งแพทย์เกี่ยวกับประวัติการแพ้ยาและประวัติการป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะลำไส้อักเสบ ป่วยเป็นโรคตับขั้นรุนแรง หรือมีประวัติเกิดอาการแพ้
- ก่อนใช้ยาต้องแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่และการรักษาที่ได้รับในปัจจุบัน
- ผู้หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
ปริมาณการใช้ยาคลินดามัยซิน
ปริมาณการใช้ยาคลินดามัยซินจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย รูปแบบของยาที่ใช้ และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้
การติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและกลุ่ม Anaerobic Bacteria
ตัวอย่างการใช้ยาชนิดรับประทาน ได้แก่
เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ให้รับประทานยาในปริมาณ 3–6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6 ชั่วโมง
ผู้ใหญ่ การติดเชื้อระดับรุนแรงปานกลาง ให้รับประทานยาปริมาณ 150–300 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง หากติดเชื้อรุนแรงมากจะเพิ่มปริมาณยาเป็น 300–450 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง และการติดเชื้อสแตฟิโลค็อกคัสชนิดเบต้า ฮีโมไลติก ให้รับประทานยาต่อเนื่องหลังจากหายจากการติดเชื้อแล้วไปอีก 10 วัน เพื่อป้องกันการเกิดไข้รูมาติกและภาวะไตอักเสบ
ตัวอย่างการใช้ยาชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด ได้แก่
เด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป แพทย์จะฉีดยาปริมาณ 15–25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากติดเชื้อรุนแรงมากอาจปรับเป็น 25–40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยกำหนดปริมาณยาขั้นต่ำให้เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน แบ่งให้ยาในปริมาณเท่า ๆ กันวันละ 3–4 ครั้งจนครบปริมาณ
ผู้ใหญ่ แพทย์จะฉีดยาปริมาณ 600–1,200 มิลลิกรัมต่อวัน หากติดเชื้อรุนแรงมากอาจเพิ่มเป็น 1,200–2,700 มิลลิกรัมต่อวัน และอาจสูงสุดถึง 4,800 มิลลิกรัม โดยแบ่งฉีด 2–4 ครั้งต่อวัน หรือค่อย ๆ ให้ผ่านทางหลอดเลือดดำ และการติดเชื้อสแตฟิโลค็อกคัสชนิดเบต้า ฮีโมไลติก จะฉีดยาต่อเนื่องหลังจากหายจากการติดเชื้อแล้วไปอีก 10 วัน เพื่อป้องกันการเกิดไข้รูมาติกและภาวะไตอักเสบ
สิว
ตัวอย่างการใช้ยาคลินดามัยซินเพื่อรักษาสิว
ผู้ใหญ่ ยาทาแบบน้ำให้ทายาบริเวณที่เป็นสิววันละ 2 ครั้ง และยาทาแบบเจลให้ทาบริเวณที่เป็นสิววันละ 1 ครั้ง
การใช้ยาคลินดามัยซิน
ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ โดยยาชนิดรับประทานให้รับประทานขณะท้องว่างอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร หรือ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร ทุก 6–8 ชั่วโมง หากลืมรับประทานยาสามารถรับประทานได้ทันที แต่หากใกล้ถึงกำหนดรอบต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยารอบถัดไป และยาชนิดทาให้ทาเฉพาะบริเวณที่แพทย์แนะนำตามปริมาณที่กำหนด และควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาเกินปริมาณ และไม่ควรหยุดใช้ยาด้วยตนเองหากยังไม่ครบที่แพทย์กำหนด เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการดื้อเชื้อแบคทีเรียต่อไป และเชื้ออาจพัฒนาจนต้านยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาได้ สำหรับผู้หญิงให้นมบุตร หากใช้ยาแล้วเกิดอาการแพ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการท้องร่วง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือถ่ายเป็นเลือด ควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์ทันที
ปฏิกิริยาระหว่างยาคลินดามัยซินกับยาอื่น
หากกำลังที่ใช้ยาชนิดใดอยู่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อน โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด และยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
นอกจากยาในข้างต้น อาจมียาหรือสารชนิดอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของยาคลินดามัยซินได้เช่นกัน ผู้ที่กำลังใช้ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยาคลินดามัยซิน
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคลินดามัยซิน
ผู้ป่วยอาจเกิดอาการจากการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น หายใจติดขัด หน้าบวม หรืออาจเกิดผลข้างเคียงจากตัวยาได้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที
รวมถึงหากอาการแย่ลงหรือไม่ดีขึ้น เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ จากการใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องร่วง ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือเป็นเลือด รู้สึกขมปาก รู้สึกเวียนหัว มึนงง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นดีซ่าน ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ เจ็บคอ แสบตา