ควินิน (Quinine)
Quinine (ควินิน) เป็นยาสำหรับรักษาโรคไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะไปอาศัยอยู่บริเวณตับและเซลล์เม็ดเลือดแดง ตัวยาจะเข้าไปทำลายเชื้อมาลาเรียที่อยู่ภายในเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งแพทย์อาจทำการรักษาโดยใช้ยานี้เพียงชนิดเดียวหรือใช้ร่วมกับยาอื่น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรซื้อยา Quinine มารับประทานเองเพื่อใช้ป้องกันโรคไข้มาลาเรีย และควรใช้ยา Quinine ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น เพราะยา Quinine อาจส่งผลข้างเคียงที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้
เกี่ยวกับยา Quinine
กลุ่มยา | ยาต้านมาลาเรียกลุ่ม Antimalarial Quinolines |
ประเภทยา | ยาตามใบแพทย์สั่ง |
สรรพคุณ | รักษาโรคไข้มาลาเรีย |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ ยา Quinine สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาฉีด |
คำเตือนการใช้ยา Quinine
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Quinine ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยา ส่วนประกอบของยา Quinine หรือยาที่ออกฤทธิ์คล้ายกันอย่าง Mefloquine หรือ Quinidine รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ
- ไม่ควรใช้ยานี้และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยหรือสมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเป็นภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD Deficiency) ผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคเส้นประสาทตาอักเสบ (Optic Neuritis) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis) กลุ่มอาการคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติแบบระยะคิวทียาว (Long QT Syndrome) รวมถึงผู้ป่วยเคยรับประทานยา Quinine มาก่อนแล้วเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับเซลล์เม็ดเลือด ภาวะเลือดออกมากผิดปกติ หรือความผิดปกติเกี่ยวกับไต
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคตับ หรือโรคไต รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน เช่น มีเสียงอื้อในหู
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร หากผู้ป่วยตั้งครรภ์ในระหว่างการใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
- หากผู้ป่วยจำเป็นต้องผ่าตัดหรือผ่าตัดทางทันตกรรมในระหว่างการใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
- ไม่ควรรับประทานยาร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกัญชา
- ไม่ควรรับประทานยาที่ใช้รักษาโรคไข้มาลาเรียตัวอื่นที่แพทย์ไม่ได้สั่ง เช่น ยาควินิดีน (Quinidine) ยาเมโฟลควิน (Mefloquine) และยาคลอโรควิน (Chloroquine)
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยา Quinine หากจำเป็นต้องขับขี่ยานพาหนะ ใช้สายตา หรือทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวตลอดเวลา เนื่องจากยานี้อาจทำให้ตาพร่ามัวและทำให้การตัดสินใจแย่ลงได้
ปริมาณการใช้ยา Quinine
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Quinine ขึ้นอยู่กับอาการป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยแนวทางการใช้ยาในประเทศไทยมีดังนี้
- ผู้ใหญ่รับประทานยา Quinine Sulfate ชนิดเม็ด ปริมาณ 600 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน
- เด็กรับประทานยา Quinine Sulfate ชนิดเม็ด ปริมาณ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน
- ผู้ป่วยโรคไตควรลดปริมาณการใช้ยา Quinine Sulfate หรือ Quinine Bisulfate ชนิดเม็ดตามดุลยพินิจของแพทย์ สำหรับการใช้ยา Quinine Sulfate ชนิดแคปซูล ในครั้งแรกให้ผู้ป่วยรับประทานยาปริมาณ 648 มิลลิกรัม จากนั้นจึงรับประทานยาปริมาณ 324 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง ในกรณีของผู้ป่วยโรคไตที่มีอาการรุนแรงจะให้ยาทางหลอดเลือดดำ โดยลดปริมาณยาเป็น 5-7 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมง
- ผู้ป่วยโรคตับที่มีอาการรุนแรง ไม่ควรรับประทานยา Quinine แต่จะให้ยาทางหลอดเลือดดำแทน โดยลดปริมาณยาเป็น 5-7 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมง
- ผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียที่มีอาการรุนแรง จะให้ยา Quinine Hydrochloride ปริมาณ 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 1,400 มิลลิกรัม โดยให้ยาทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ แบบหยดใน 4 ชั่วโมง แล้วตามด้วยการให้ยาต่อเนื่องทางหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ แบบหยดปริมาณ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ปริมาณยาสงสุดไม่เกิน 700 มิลลิกรัม ใน 2-4 ชั่วโมง ทุก 8 ชั่วโมง ในกรณีของผู้ป่วยโรคตับผิดปกติหรือไตวายจะปรับลดขนาดยาต่อเนื่องลง
การใช้ยา Quinine
ควรอ่านฉลากยา Quinine อย่างละเอียด และใช้ตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรปรับปริมาณยาและระยะเวลาการใช้ยาเอง ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้หมดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว เพราะหากไม่รับประทานยาอย่างต่อเนื่องหรือหยุดยาเอง อาจทำให้ร่างกายดื้อยาและกลับมาเป็นไข้มาลาเรียซ้ำได้
ควรรับประทานยา Quinine พร้อมอาหารเพื่อลดการระคายเคืองทางเดินอาหาร อย่างปวดท้อง คลื่นไส้ ถ่ายเหลว หากผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ควรรับประทานยา Quinine ก่อนหรือหลังยาลดกรดประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพราะหากรับประทานพร้อมกัน ยาลดกรดอาจไปรบกวนการดูดซึมยา Quinine ของร่างกายได้
ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ หากระยะเวลาที่ลืมเกิน 4 ชั่วโมง ให้ข้ามไปรับประทานในมื้อถัดไปโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองท่า นอกจากนั้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากรับประทานยา Quinine แล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน หรือรับประทานยาหมดแล้วแต่อาการป่วยยังไม่หายไป
ปฏิกิริยาระหว่างยา Quinine กับยาอื่น
การใช้ยา Quinine ร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาหรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนหากจำเป็นต้องใช้ยาตัวอื่น โดยเฉพาะยาต่อไปนี้
- ยาดิจอกซิน (Digoxin) ยาเดซิพรามีน (Desipramine) และยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (Statin Drugs) อาจถูกขับออกจากร่างกายช้าลงและมีผลต่อประสิทธิภาพของยา
- ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาโดฟีทิไลด์ (Dofetilide) ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) ยารักษาโรคไข้มาลาเรีย เช่น ยาเมโฟลควิน (Mefloquine) ยาควินิดีน (Quinidine) ยารักษาทางจิตเวช เช่น ยาพิโมไซด์ (Pimozide) และยาปฏิชีวนะอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ยารักษาการติดเชื้อรา เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาต้านวัณโรคไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยาต้านไวรัส HIV และยาที่ทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง เช่น ยาโซเดียมไบคาร์โบเนต (Sodium Bicarbonate) เพราะอาจส่งผลต่อการขับยา Quinine ออกจากร่างกาย
- ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เช่น ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) ยาแรนิทิดีน (Ranitidine)
- การรับประทานยา Quinine อาจส่งผลต่อความแม่นยำของผลการตรวจปัสสาวะเพื่อหาระดับฮอร์โมนแคททีโคลามีน (Catecholamines) โปรตีน หรือสเตียรอยด์
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Quinine
การรับประทานยา Quinine อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะเล็กน้อย ปวดท้อง คลื่นไส้ กระสับกระส่าย เหงื่อออกผิดปกติ หูอื้อ ตาพร่า มองเห็นสีไม่เหมือนเดิม หากอาการเหล่านี้แย่ลงหรือไม่หายไปหลังจากที่รับประทานยาหมดแล้ว ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
นอกจากนั้น ยา Quinine อาจทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยเฉพาะในผู้ตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีอาการหิวบ่อย เวียนศีรษะ เหงื่อออก สั่น หัวใจเต้นเร็ว ตาพร่ามัว รวมถึงมือหรือเท้าชาเหมือนมีเข็มทิ่ม หากผู้ป่วยมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรหาของหวานทานเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหรือขนมรสหวาน และรีบแจ้งให้แพทย์ทราบถึงผลข้างเคียงดังกล่าว
ในบางกรณี ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง ซึ่งควรไปพบแพทย์ทันที เช่น
- มีอาการแพ้ เช่น มีผื่นหรือผื่นลมพิษขึ้นตามร่างกาย หายใจลำบาก บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ
- มีอาการของภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง (Hemolytic Anemia) เช่น เหนื่อยหอบ ริมฝีปาก เล็บ และผิวหนังซีด รวมถึงปัสสาวะเป็นสีน้ำตาล
- หายใจเสียงดัง เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด
- มีสัญญาณของการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น มีไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง
- ผิวหนังเป็นรอยช้ำหรือมีเลือดออกง่าย มีจุดสีแดง น้ำตาล หรือม่วงขึ้นบนผิวหนังอย่างผิดปกติ
- มีสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับตับที่รุนแรง เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง อ่อนแรงอย่างมาก ปัสสาวะเป็นสีเข้มผิดปกติ ผิวหนังและตาเหลือง
- มีสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ปริมาณของปัสสาวะลดลง
นอกจากอาการที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ใช้ยานี้อาจพบผลข้างเคียงที่รุนแรงอย่างอื่นได้อีก เช่น วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง หมดสติ หัวใจเต้นผิดปกติ หรือสูญเสียการมองเห็น แต่เป็นกรณีที่พบไม่บ่อยนัก อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัย