ชันนะตุ

ความหมาย ชันนะตุ

ชันนะตุ (Tinea capitis) เป็นโรคติดเชื้อบนหนังศีรษะที่เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีอาการคัน หนังศีรษะตกสะเก็ด ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ โดยเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบมากในเด็กอายุ 6-12 ปี และติดต่อจากคนไปสู่คนด้วยการสัมผัสใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น หวี ผ้าเช็ดตัว หมอน หมวก เป็นต้น หรืออาจติดต่อจากสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อโรคนี้ก็ได้

ชันนะตุ

อาการของชันนะตุ

โรคชันนะตุอาจแสดงลักษณะอาการได้หลากหลาย โดยอาการที่เกิดขึ้นได้มีดังนี้

  • ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เส้นผมเปราะและหักจนเห็นเป็นจุดดำ ๆ บริเวณที่ติดเชื้อรา
  • หนังศรีษะตกสะเก็ดเป็นจุดกลม ๆ และบางรายอาจมีผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดง มีขุย หรือบวม
  • คันศีรษะอย่างหนัก เมื่อมีอาการคันและเกาจนเป็นแผลจะทำให้แผลเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้
  • ชันนะตุอาจทำให้ผู้ป่วยผมร่วงถาวรและทิ้งรอยแผลเป็นไว้ได้
  • มีตุ่มหนองหรือฝีที่กดแล้วอาจรู้สึกเจ็บ
  • มีไข้ต่ำประมาณ 37.8-38.3 องศาเซลเซียส
  • ต่อมน้ำเหลืองในลำคอโต
อย่างไรก็ตาม มีโรคบนหนังศีรษะหลายชนิดที่อาจทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกันนี้ หากพบว่าผมร่วง มีสะเก็ดรังแค คัน หรืออาการบนหนังศีรษะใด ๆ ที่ผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะการรักษาชันนะตุด้วยตนเองนั้นไม่เพียงพอที่จะช่วยกำจัดเชื้อราอันเป็นสาเหตุของโรคนี้ได้

สาเหตุของชันนะตุ

ชันนะตุเกิดจากการติดเชื้อราชนิดเดียวกันกับโรคกลากที่ชื่อว่าเดอมาโทไฟต์ (Dermatophytes) ซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของเส้นผม เล็บ และผิวหนังชั้นนอกของมนุษย์ เติบโตได้ดีในที่ที่มีอุณหภูมิร้อนชื้น และเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง โดยเฉพาะผิวหนังส่วนที่สร้างน้ำมันมาก เช่น ศีรษะ เปลือกตา ขนตา ดั้งจมูก ริมฝีปาก หลังใบหู หรือใบหู

เชื้อโรคกลากเป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ง่าย ทั้งจากคนไปสู่คนโดยการสัมผัสกับผิวหนังของผู้ติดเชื้อ หรือจากสัตว์มาสู่คน ซึ่งสัตว์ที่พบเชื้อโรคกลาก ได้แก่ สุนัข แมว วัว หมู ม้า แกะ โดยเฉพาะลูกแมวและลูกสุนัข ผู้ที่ใกล้ชิดดูแลหรือให้อาหารสัตว์เหล่านี้จึงเสี่ยงติดเชื้อตามไปด้วย นอกจากนี้ สาเหตุการติดเชื้ออาจมาจากการสัมผัสสิ่งของใด ๆ ที่มีเชื้อจากมนุษย์หรือสัตว์ที่ติดเชื้อติดอยู่ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หมอน ที่นอน หวี ได้เช่นกัน

แม้ชันนะตุจะพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่บุคคลต่อไปนี้อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่า

  • เด็กทารกและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบการติดเชื้อชันนะตุบ่อยที่สุด โดยเฉพาะเด็กในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงดูเด็กที่มักมีการสัมผัสหรือเล่นกันอย่างใกล้ชิด
  • มีการสัมผัสสัตว์เลี้ยง สุนัขและแมวอาจติดเชื้อโรคนี้โดยไม่ได้แสดงอาการใด ๆ ออกมา การเล่นหรือสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เสี่ยงต่อการเป็นชันนะตุได้
  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่หนังศีรษะ
  • ไม่ได้อาบน้ำหรือสระผมบ่อย ๆ
  • การมีผิวหนังเปียกชื้นเป็นเวลานาน เช่น การมีเหงื่อออก เป็นต้น
  • อาศัยอยู่ในสภาพภูมิอากาศอบอุ่น ร้อนชื้น
  • ผู้ป่วยภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงภาวะที่เป็นผลมาจากการรักษาโรคมะเร็ง และผู้ป่วยภาวะขาดสารอาหาร
การวินิจฉัยชันนะตุ

การวินิจฉัยโรคชันนะตุหรือโรคที่กระทบต่อหนังศีรษะ เบื้องต้นแพทย์มักตรวจดูด้วยตาร่วมกับการประเมินอาการตามที่ผู้ป่วยแจ้งให้ทราบ นอกจากนี้ ยังอาจมีการเก็บตัวอย่างจากเส้นผมหรือหนังศีรษะเพื่อส่งไปตรวจดูด้วยกล้องไมโครสโคป ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยให้มองเห็นเชื้อราบนหนังศีรษะและยืนยันผลการวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน

การรักษาชันนะตุ

โรคชันนะตุรักษาได้ด้วยการรับประทานยาฆ่าเชื้อรา โดยยาที่แพทย์มักแนะนำให้ใช้ ได้แก่ กริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) และเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ซึ่งต้องรับประทานเป็นเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ โดยการใช้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ควรระมัดระวัง เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียง ซึ่งที่พบได้บ่อย คืออาการท้องเสียและอาหารไม่ย่อย ผู้ป่วยสามารถประทานยาที่ใช้รักษาร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูงอย่างไอศกรีมหรือเนยถั่ว เพื่อลดผลข้างเคียงจากยา

นอกจากนี้ แพทย์มักแนะนำให้ใช้แชมพูสำหรับกำจัดเชื้อราร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยขจัดสปอร์ของเชื้อรา และเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นหรือกระจายเชื้อไปยังหนังศีรษะบริเวณอื่น หรือผิวหนังตามร่างกายส่วนต่าง ๆ แชมพูขจัดเชื้อรานี้จะประกอบไปด้วยสารต้านเชื้อราอย่างคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) อย่างน้อย 2.5% วิธีใช้คือชโลมแชมพูทิ้งไว้ 5 นาทีแล้วล้างออก แพทย์อาจแนะนำให้ใช้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 เดือน ทั้งนี้ การใช้แชมพูขจัดเชื้อราเพียงอย่างเดียวสามารถช่วยชะลอหรือหยุดการแพร่กระจายของเชื้อราได้ แต่ไม่อาจกำจัดเชื้อราให้หมดไป ต้องรักษาร่วมกับการรับประทานยาต้านเชื้อราด้วย

ส่วนการรักษาผู้ที่มีการอักเสบอย่างรุนแรงจนมีตุ่มหนองนูนขึ้นมานั้นใช้วิธีรักษาเดียวกัน แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่า เป็นเวลาประมาณ 12-16 สัปดาห์ นอกจากนี้ การกำจัดสะเก็ดหนองแข็งออกจะช่วยบรรเทาอาการคันและป้องกันการติดเชื้อทุติยภูมิได้ ควรใช้ผ้าพันแผลจุ่มน้ำอุ่นหรือน้ำเกลือแล้วแตะบริเวณแผลให้ชุ่มชื้นก่อน เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บที่หนังศีรษะขณะนำสะเก็ดหนองเหล่านี้ออก แต่หากผู้ป่วยติดเชื้อขั้นทุติยภูมิจากแบคทีเรีย ก็จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาร่วมด้วย เช่น ยาคลอกซาซิลลิน (Cloxacillin) พร้อมกับการทาครีมต้านเชื้อรา เพื่อช่วยให้แผลที่หนังศีรษะหายดีและป้องกันสะเก็ดหนองก่อตัวขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับการรักษาแล้ว แต่สปอร์ของเชื้อราบนหนังศีรษะที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ อาจคงอยู่ได้เป็นเวลานานหลายเดือน การให้เด็กที่เป็นชันนะตุหยุดเรียนเพื่อรักษาตัวจึงไม่ช่วยอะไร และการรักษายังอาจไม่ได้ผลดี ในกรณีที่มีการติดเชื้ออีกครั้ง ผู้ป่วยไวต่อเชื้อมาก มีการดูดซึมยาไม่ดี หรือไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา

ทั้งนี้ เมื่อตรวจพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อชันนะตุ หากจำเป็น อาจต้องตรวจรักษาสมาชิกคนอื่น ๆ รวมถึงสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน เพราะมีโอกาสที่เชื้อจะเแพร่กระจายไปสู่กันและกัน และเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เด็กและคนอื่น ๆ ในบ้านอาจต้องใช้แชมพูขจัดเชื้อรา 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ นานประมาณ 6 สัปดาห์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อชันนะตุควรซักทำความสะอาดผ้าเช็ดตัวในน้ำสบู่ร้อนและตากให้แห้งด้วยการใช้ความร้อนสูงทุกครั้งหลังจากใช้ผ้าเช็ดตัวเสร็จ และควรทำความสะอาดหวีและแปรงด้วยการจุ่มลงในน้ำผสมผงซักฟอกในอัตราส่วน 1:10 เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ทำติดต่อกัน 3 วัน

ภาวะแทรกซ้อนของชันนะตุ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคชันนะตุที่อาจเกิดขึ้นตามมา ได้แก่ ผมร่วงรุนแรง ผมร่วงและทิ้งรอยแผลเป็นไว้อย่างถาวร นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจด้วย โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากลักษณะอาการของโรคที่ทำให้เกิดความอับอาย เป็นที่รังเกียจ หรือถูกเพื่อนล้อ เกิดเป็นปัญหาทะเลาะวิวาทเมื่อเด็กรู้สึกโกรธจนควบคุมตนเองไม่ได้และลงมือทำร้ายเพื่อนตามมาได้เช่นกัน

การป้องกันชันนะตุ

ชันนะตุเป็นโรคที่ยากต่อการป้องกัน เพราะมีสาเหตุมาจากเชื้อราที่แพร่กระจายได้ง่ายมาก อย่างไรก็ตาม การลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคนี้ทำได้หากปฏิบัติตามดังนี้

  • ศึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับชันนะตุแก่เด็ก ๆ หรือสมาชิกในบ้านให้ตระหนักและระวังความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคกลากจากผู้อื่นหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยบอกวิธีสังเกตอาการของการติดเชื้อโรคกลากและวิธีหลีกเลี่ยงแก่เด็ก ๆ
  • สระผมเป็นประจำ หรือหากมีบุตรหลาน ผู้ปกครองควรสระผมให้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหลังจากการตัดผมในร้านตัดผมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการใช้หวีหรืออุปกรณ์ร่วมกับผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้ เด็ก ๆ ยังควรตัดผมให้สั้นเข้าไว้เพื่อลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ
  • อย่าใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า หวี หรือของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ และควรเน้นย้ำข้อนี้กับเด็ก ๆ ไม่ให้หยิบยืมหรือใช้สิ่งของเหล่านี้ร่วมกับผู้อื่น
  • รักษาสุขอนามัย สอนให้เด็ก ๆ หมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะที่มีการใช้ร่วมกันเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณโรงเรียน ศูนย์เลี้ยงดูเด็ก โรงยิม และตู้ล็อกเกอร์สาธารณะต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยสังเกตได้จากผิวหนังของสัตว์ที่มีขนหลุดร่วงเป็นหย่อม ๆ ซึ่งมักปรากฏรอยแผล แต่บางครั้งสัตว์ที่ติดเชื้อโรคกลากก็อาจไม่มีอาการใด ๆ บ่งบอก จึงควรหมั่นนำสัตว์เลี้ยงไปตรวจกับสัตวแพทย์สม่ำเสมอ