ตากุ้งยิง (Stye)

ความหมาย ตากุ้งยิง (Stye)

ตากุ้งยิง (Stye) เป็นภาวะอักเสบบริเวณขอบเปลือกตา มีลักษณะอาการเป็นตุ่มนูนบวมขนาดเล็ก สามารถเป็นได้มากกว่าหนึ่งจุด อาจเกิดในตาข้างเดียว หรือ 2 ข้างพร้อมกัน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเจ็บและปวดบริเวณที่เกิดอาการ โดยเฉพาะเมื่อต้องกะพริบตา

ตากุ้งยิงเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยปกติแล้วอาการสามารถทุเลาลงได้และหายดีภายในเวลาไม่กี่วันแม้ไม่ได้รับการรักษา แต่ก็มีบางกรณีที่ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจและการรักษาอย่างเหมาะสมโดยจักษุแพทย์ เช่น อาการไม่บรรเทาลงหลังผ่านไป 2 วัน หรือเปลือกตาบวมมากจนสร้างความเจ็บปวด

ตากุ้งยิง

อาการของตากุ้งยิง

ตากุ้งยิงแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ตากุ้งยิงภายนอก จะมีตุ่มบวมเกิดขึ้นที่ขอบเปลือกตาด้านนอก และตากุ้งยิงภายใน จะมีตุ่มบวมเกิดขึ้นด้านในของเปลือกตา โดยอาการทั่วไปที่พบเมื่อเป็นตากุ้งยิง ได้แก่ 

  • มีตุ่มบวมแดง หรืออาจเป็นตุ่มหนองคล้ายสิวหรือตุ่มนูนบวมบริเวณเปลือกตา โดยอาจเกิดบริเวณเปลือกตาด้านนอกหรือเปลือกตาด้านในก็ได้ 
  • มีอาการปวดบริเวณที่เกิดตุ่มหนอง ในกรณีที่เกิดขึ้นที่เปลือกตาด้านนอกอาจอักเสบจนกลายเป็นหัวหนอง ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวดเมื่อสัมผัสโดน หากตุ่มเกิดด้านในของเปลือกตา อาการปวดมักจะน้อยกว่า
  • เปลือกตาหรือดวงตามีสีแดง 
  • เปลือกตาบวม
  • คันตา อาจมีน้ำตาไหลร่วมด้วย
  • ดวงตาไวต่อแสง 

โดยปกติแล้ว ตากุ้งยิงมักหายเองได้ในไม่กี่วัน โดยอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น และยุบลงในประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ควรไปพบจักษุแพทย์หากอาการแย่ลงใน 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มเป็น อาการบวมแดงมีความรุนแรงจนบดบังการมองเห็น มีหนองหรือเลือดไหลออกมา รู้สึกร้อนเปลือกตา มีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น หรือเกิดแผลพุพองบริเวณเปลือกตา

สาเหตุของตากุ้งยิง

ตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในต่อมไขมันที่อยู่ใต้เปลือกตา โดยชนิดแบคทีเรียที่พบส่วนใหญ่ คือ สแตฟฟิโลค็อกคัส (Staphylococcus) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่ไม่ร้ายแรงหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นที่เป็นอันตราย

ทั้งนี้ บางคนอาจมีโอกาสเกิดตากุ้งยิงได้ง่ายขึ้น หากมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น

  • มีประวัติเกิดตากุ้งยิงมาก่อน
  • ใช้มือสัมผัสกับดวงตาบ่อย โดยเฉพาะขณะที่มือไม่สะอาด
  • มีภาวะเปลือกตาอักเสบ
  • ใช้เครื่องสำอางบริเวณเปลือกตา และไม่ได้ล้างให้สะอาด หรือใช้เครื่องสำอางเก่าหรือหมดอายุการใช้งาน
  • ใส่คอนแทคเลนส์โดยที่ไม่ได้ล้างคอนแทคเลนส์ให้สะอาด หรือล้างมือให้สะอาดก่อน
  • มีภาวะผิดปกติทางสุขภาพบางชนิด เช่น มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) สูง มีภาวะเบาหวาน มีผิวแห้ง ป่วยเป็นโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) และมีรังแค เป็นต้น

การวินิจฉัยตากุ้งยิง

ในการวินิจฉัยตากุ้งยิง จักษุแพทย์สามารถวินิจฉัยได้เพียงการมองดูด้วยตาเปล่าและสอบถามอาการเท่านั้น หรืออาจใช้อุปกรณ์บางชนิด เช่น แว่นขยายหรือไฟฉาย เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ

การรักษาตากุ้งยิง

ในเบื้องต้น ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการตากุ้งยิงด้วยตนเองได้ด้วยการหลับตาแล้วใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณดวงตาประมาณ 5–10 นาที และนวดเบา ๆ บริเวณนั้น เพื่อให้อุณภูมิของน้ำอุ่นช่วยขับให้หนองอักเสบในตากุ้งยิงไหลออกมา ทั้งยังเป็นการป้องกันตากุ้งยิงก่อตัวขึ้นได้แต่แรกอีกด้วย โดยให้ทำเช่นนี้ซ้ำ ๆ ประมาณ 3–4 ครั้งต่อวัน จนกว่าอาการตากุ้งยิงจะดีขึ้นและหายไป 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรักษาความสะอาดด้วยการค่อย ๆ เช็ดเศษต่าง ๆ ที่ติดบริเวณเปลือกตาเบา ๆ เสมอ ไม่ควรใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตา ขยี้ตา รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการบีบให้หนองบริเวณตากุ้งยิงไหลออกมาด้วยตนเอง

ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ จักษุแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามสาเหตุของตากุ้งยิงและความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ใช้ยาปฏิชีวนะ โดยอาจเป็นรูปแบบขี้ผึ้ง แบบรับประทาน แบบฉีด และแบบหยอดตาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ หรืออาจต้องผ่าตัดเพื่อระบายหนองในตุ่มนูนออก 

ภาวะแทรกซ้อนของตากุ้งยิง

เมื่อเกิดตากุ้งยิง อาจทำให้มีโอกาสเกิดอาการอื่นตามมาได้ แต่มักเป็นอาการป่วยที่ไม่รุนแรง เช่น ซีสต์ไมโบเมียนที่เกิดจากการเป็นภาวะคาลาเซียน (Chalazion) โดยลักษณะอาการคือ มีตุ่มนูนเป็นก้อนแข็งและไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่หากมีการติดเชื้อในภายหลัง จักษุแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะหรือทำการผ่าตัดเล็กเพื่อรักษาต่อไป

อีกหนึ่งอาการที่อาจเกิดขึ้นคือการอักเสบที่เนื้อเยื่อเปลือกตา (Preseptal Cellulitis) เกิดจากการติดเชื้อแพร่กระจายไปสู่เนื้อเยื่อรอบดวงตา ซึ่งจะทำให้เปลือกตามีอาการบวมแดง โดยอาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเช่นกัน

การป้องกันการเกิดตากุ้งยิง

การปรับพฤติกรรมบางอย่างอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดตากุ้งยิงได้ เช่น

  • ไม่ใช้มือจับ ถู และขยี้บริเวณดวงตา
  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ด้วยน้ำอุ่น สบู่ หรือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อบ่อยครั้ง หรือหลังจากสัมผัสของใช้ร่วมกันต่าง ๆ
  • ไม่ใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุ ไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น และไม่แต่งหน้าแล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานโดยไม่ล้างออก
  • หากต้องใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ควรรักษาความสะอาดคอนแทคเลนส์อยู่เสมอ และล้างมือก่อนสัมผัสคอนแทคเลนส์
  • หากเพิ่งหายจากอาการตากุ้งยิงไม่นาน ควรใช้การประคบร้อนบริเวณเปลือกตาบ่อย ๆ เพื่ออาจช่วยป้องกันตากุ้งยิงกลับมาเป็นซ้ำ
  • กรณีที่มีอาการเจ็บป่วยบริเวณดวงตาอยู่ก่อนหน้า เช่น เปลือกตาอักเสบ ให้ทำตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด