ปวดกระบอกตา

ความหมาย ปวดกระบอกตา

ปวดกระบอกตา เป็นอาการปวดตื้อ ๆ จนรู้สึกถึงแรงกดหรือแรงตึงบริเวณดวงตาที่มาจากภายในศีรษะด้านหลังตา ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคเกี่ยวกับดวงตาหรือศีรษะก็ได้ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงได้ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง สูญเสียการมองเห็น สูญเสียการรับความรู้สึกหรือการเคลื่อนไหวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น

1495 Resized ปวดกระบอกตา

สาเหตุของอาการปวดกระบอกตา

โรคและภาวะที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดกระบอกตาหรือปวดตื้อ ๆ ลึกลงไปบริเวณหลังดวงตา มีดังนี้

ปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะอาจก่อให้เกิดอาการปวดด้านหลังดวงตาได้ เช่น อาการปวดศีรษะจากความเครียดซึ่งมีลักษณะปวดตื้อหรือแน่นบริเวณหน้าผากหรือด้านหลังศีรษะและลำคอ ปวดศีรษะแบบตุบ ๆ ข้างเดียวอย่างไมเกรน หรือปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ที่เป็นการปวดรุนแรงอย่างเป็น ๆ หาย ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีแรงดันหลังลูกตาสูงอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ ตาแดง น้ำตาไหล หนังตาตก ใบหน้าบวมข้างหนึ่ง ผิวแดง หรือมีเหงื่อออก เป็นต้น

ไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบ เป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือไวรัสบริเวณโพรงอากาศข้างจมูก ทำให้บริเวณดังกล่าวบวม มีมูกเหนียวหรือเมือกสารคัดหลั่ง ผู้ป่วยจึงรู้สึกถึงแรงกดบริเวณส่วนบนของใบหน้าและด้านหลังดวงตา รวมทั้งอาจมีอาการอื่น ๆ ได้แก่ เจ็บด้านหลังจมูก ตา และโหนกแก้ม มีน้ำมูกมาก น้ำมูกเหนียวข้นเป็นสีเขียวหรือเหลือง หรือน้ำมูกแห้ง คัดจมูก ไอ ปวดศีรษะ มีกลิ่นปาก ปวดหู มีแรงดันในหู มีไข้ อ่อนเพลีย เป็นต้น

โรคเกรฟส์

โรคเกรฟส์ เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองและส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป ทั้งยังส่งผลต่อกล้ามเนื้อดวงตาทำให้ตาโปนและรู้สึกปวดด้านหลังดวงตา โดยอาการจะแย่ลงเมื่อเคลื่อนไหวดวงตา ส่วนอาการอื่น ๆ ของโรคนี้ ได้แก่ ปวดตา รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา ตาแดง เปลือกตาบวมพอง และสูญเสียการมองเห็น

เส้นประสาทตาอักเสบ

เส้นประสาทตาอักเสบ อาจมีสาเหตุมาจากโรคเอ็มเอส โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือการติดเชื้ออื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดอาการบวมหรืออักเสบที่ด้านหลังดวงตาจนเส้นประสาทตาเสียหาย และนำไปสู่อาการปวดตื้อ ๆ ด้านหลังดวงตาได้ ซึ่งอาจปวดยิ่งขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวดวงตา รวมทั้งอาจสูญเสียการมองเห็นของตาข้างใดข้างหนึ่ง สูญเสียการมองเห็นด้านข้างหรือการมองเห็นภาพสี และเห็นแสงไฟคล้ายแฟลชเมื่อเคลื่อนไหวลูกตา

โรคต้อหิน

โรคต้อหินมุมปิดชนิดเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ มีสาเหตุมาจากความดันตาที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากดวงตาผลิตสารน้ำในตามากเกินไปหรือมีการอุดกั้นการไหลของสารน้ำ ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดปกติทางการมองเห็น หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตาบอดได้

ม่านตาอักเสบ

ม่านตาอักเสบ เป็นการอักเสบบริเวณสีของดวงตาหรือรอบ ๆ ลูกตาดำ ส่งผลให้มีอาการปวดลึกในดวงตา มักเกิดขึ้นพร้อมกับอาการมองภาพไม่ชัดและตาแพ้แสง

การได้รับบาดเจ็บ

การได้รับบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือนที่ดวงตา อุบัติเหตุที่ส่งผลต่อดวงตาอาจทำให้รู้สึกปวดตาอย่างรุนแรงหรือกระจกตาถลอกได้

ปัญหาสุขภาพปากและฟัน

ปัญหาสุขภาพปากและฟัน อาการปวดฟัน ความผิดปกติในการเรียงตัวของขากรรไกร หรือปัญหาในการกัดเคี้ยวอาหาร อาจทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวจนมีอาการปวดศีรษะและปวดตื้อบริเวณหลังตาไปด้วย

การวินิจฉัยอาการปวดกระบอกตา

ในเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติสุขภาพ สอบถามรายละเอียดอาการ ตรวจร่างกาย และอาจส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์เฉพาะทางตามอาการ ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจตา หากสันนิษฐานว่าอาการปวดตื้อเกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา แพทย์อาจใช้แสงไฟส่องดูตาของผู้ป่วยว่าประสาทตาและส่วนประกอบต่าง ๆ ของตาปกติดีหรือไม่ และอาจมีการตรวจแบบเฉพาะเจาะจงอื่น ๆ เช่น การตรวจวัดสายตา การตรวจชั้นต่าง ๆ ของลูกตาโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ หรือการตรวจความดันลูกตา เป็นต้น
  • การส่องกล้อง แพทย์จะใช้ยาชาทาภายในจมูกของผู้ป่วยและใช้ท่อเล็ก ๆ ที่มีกล้องติดอยู่บริเวณส่วนปลายท่อสอดเข้าไป เพื่อดูว่ามีอาการบวมหรือมีเนื้องอกในโพรงไซนัสหรือไม่
  • การถ่ายภาพ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การทำ MRI Scan การทำ CT Scan หรือการอัลตราซาวด์ เป็นต้น
  • การตรวจเลือด โดยใช้ชุดทดสอบที่สัมพันธ์กับภาวะที่คาดว่าเป็นสาเหตุของอาการปวดกระบอกตา เช่น การตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ที่ร่างกายสร้างขึ้น เป็นต้น
  • การใช้สารกัมมันตรังสีไอโอดีน เป็นวิธีที่ใช้ตรวจหาโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์และโรคเกรฟส์ โดยแพทย์จะฉีดสารชนิดนี้เข้าไปในร่างกายปริมาณเล็กน้อย แล้วจึงใช้กล้องชนิดพิเศษถ่ายภาพต่อมไทรอยด์เพื่อดูความผิดปกติ
  • การตรวจทางทันตกรรม กรณีที่คาดว่าอาการของผู้ป่วยเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับปากและฟัน ทันตแพทย์จะตรวจดูขากรรไกรและลักษณะการกัดหรือการเรียงตัวของฟัน เพื่อดูว่ามีความผิดปกติที่ทำให้กล้ามเนื้อตึงจนส่งผลให้เกิดแรงกดบริเวณตาตามมาได้หรือไม่

การรักษาอาการปวดกระบอกตา

การรักษาอาการปวดกระบอกตาขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุ โดยมีตัวอย่างการรักษา ดังนี้

  • ปวดศีรษะ หากผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะจนทำให้รู้สึกปวดบริเวณด้านหลังตาไปด้วย แพทย์อาจให้รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน เป็นต้น หรืออาจใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงกว่าเพื่อป้องกันและรักษาอาการปวดศีรษะ เช่น ยาแก้ปวดชนิดเสพติด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากลุ่มทริปแทน เป็นต้น
  • ไซนัสอักเสบ กรณีที่อาการอักเสบของไซนัสเกิดจากการติดเชื้อไวรัส การล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือจะช่วยลดอาการบวมและคัดจมูก ซึ่งอาจทำให้อาการปวดกระบอกตาดีขึ้นด้วย แต่หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับยาแก้ปวดและยาแก้คัดจมูกร่วมด้วยจนกว่าจะหายดี แต่หากอาการของไซนัสหรืออาการปวดกระบอกตายังไม่ดีขึ้นหลังการรักษาเหล่านี้ ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดไซนัสด้วย
  • โรคเกรฟส์ รักษาได้ด้วยการรับประทานยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากเกินไป ส่วนวิธีอื่น ๆ ที่แพทย์อาจนำมาใช้ ได้แก่ การรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน และการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ซึ่งหากต้องรับการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาเพื่อทดแทนฮอร์โมนไทรอยด์ เนื่องจากร่างกายจะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้อีกต่อไป
  • เส้นประสาทตาอักเสบ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการบวมของเส้นประสาทตา แต่หากการอักเสบมีสาเหตุมาจากโรคเอ็มเอสหรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อาจต้องใช้ยาอื่น ๆ ที่ช่วยกดภูมิต้านทานเพื่อป้องกันเส้นประสาทเสียหายมากยิ่งขึ้น
  • ปัญหาการสบฟันและการเรียงตัวของฟัน ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม เพื่อปรับการจัดเรียงตัวของฟันและลักษณะขากรรไกร
  • โรคต้อหินมุมปิดชนิดเฉียบพลัน การรักษาลำดับแรกมุ่งเน้นไปที่การลดความดันตา โดยอาจหยดยาที่ช่วยทำให้ม่านตาแคบลง หรือยาลดปริมาณของเหลวที่ตาสร้างขึ้น หลังจากความดันตาลดลงแล้ว แพทย์อาจใช้เลเซอร์เจาะรูเล็ก ๆ ในม่านตา เพื่อช่วยระบายของเหลวในลูกตาและทำให้การไหลเวียนของน้ำในตากลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
  • ม่านตาอักเสบ แพทย์อาจใช้ยาหยอดตาแบบสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดการอักเสบ หรือยาหยอดขยายม่านตาเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดบริเวณม่านตาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับม่านตา

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดกระบอกตา

อาการปวดกระบอกตาอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตาและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ที่รุนแรงและส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดกระบอกตาร่วมกับมีไข้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง สูญเสียการมองเห็น สูญเสียการรับความรู้สึกหรือการเคลื่อนไหวของส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกาย เป็นต้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุของการเจ็บป่วยและรักษาได้อย่างทันท่วงที

การป้องกันอาการปวดกระบอกตา

เนื่องจากอาการปวดกระบอกตานั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงไม่มีวิธีป้องกันที่แน่นอน ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพเบื้องต้นโดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีอาการผิดปกติใด ๆ โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวกับการมองเห็น หรือมีอาการที่ทำให้รู้สึกกังวลใจ ควรไปปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ