ดีซ่าน (Jaundice)

ความหมาย ดีซ่าน (Jaundice)

ดีซ่าน (Jaundice) หรืออีกชื่อหนึ่งคือภาวะตัวเหลืองตาเหลือง เป็นอาการที่เยื่อบุตาขาว เนื้อเยื่อ และผิวหนังของผู้ป่วยกลายเป็นสีเหลือง เนื่องจากการมีปริมาณสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดมากเกินไป โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของตับ ระบบน้ำดี และเซลล์เม็ดเลือดแดง

ดีซ่านมักพบในเด็กทารก แต่สามารถเกิดกับผู้ใหญ่ได้เช่นกัน คนที่มีสัญญาณอาการดีซ่านควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะจะช่วยให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และมีโอกาสหายจากโรคต้นเหตุและดีซ่านได้เร็วขึ้น โดยแพทย์จะรักษาดีซ่านตามสาเหตุการเกิดโรค

Jaundice

อาการของดีซ่าน

อาการแสดงหลักของภาวะดีซ่านที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนคือ ดวงตาและผิวหนังมีสีเหลือง อุจจาระอาจมีสีซีดลง และปัสสาวะมีสีเข้ม นอกจากภาวะตัวเหลืองตาเหลืองที่ปรากฏเด่นชัด อาจพบอาการป่วยที่เกิดขึ้นร่วมกัน โดยอาจมีอาการร่วมเพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่าง เช่น

  • อ่อนเพลีย หมดแรง เหนื่อยง่าย
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ท้องบวม ขาบวม 
  • น้ำหนักลด
  • มีไข้ หนาวสั่น 
  • คันตามตัว

สาเหตุของดีซ่าน

ดีซ่านเกิดจากสารบิลิรูบินในเลือดมีปริมาณสูงกว่าระดับปกติ ทำให้เห็นผิวหนังและเยื่อตาขาวเป็นสีเหลือง โดยสารบิลิรูบินเกิดจากการสลายเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าตามธรรมชาติ เมื่อผ่านกระบวนการที่ตับแล้วสารนี้จะถูกส่งไปยังท่อน้ำดีและลำไส้ตามลำดับ จากนั้นจะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ

หากร่างกายขับสารบิลิรูบินออกไปไม่ได้ อาจส่งผลให้สารดังกล่าวสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ มากขึ้นจนเกิดภาวะดีซ่านตามมาในที่สุด

โดยกระบวนการช่วยกำจัดสารบิลิรูบินอาจเกิดความผิดปกติจากปัญหาสุขภาพ เช่น การติดเชื้อบางชนิดอย่างโรคฉี่หนู โรคพยาธิใบไม้ตับ หรือโรคมาลาเรีย นิ่วในถุงน้ำดี ท่อน้ำดีอุดตัน ตับอ่อนอักเสบ โรคตับจากแอลกอฮอล์ ไวรัสตับอักเสบ ตับแข็ง 

รวมถึงมะเร็งตับอ่อน มะเร็งถุงน้ำดี  โรคโลหิตจางบางประเภทอย่างธาลัสซีเมีย (Thalassemia) หรือภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD Deficiency) โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease: SCD) และการใช้ยาบางชนิดอย่างยาพาราเซตามอลหรือยาเพนิซิลลิน (Penicillin) 

บางกรณีที่พบภาวะดีซ่านในเด็กแรกเกิด อาจเกิดจากอวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ในทารกที่คลอดครบกำหนด อาการควรจะหายไปภายใน 2 สัปดาห์ หากพบว่ามีอาการนานเกินไปหรือมีอาการที่น่าสงสัยของโรคอื่นร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที

การวินิจฉัยดีซ่าน

นอกจากการซักประวัติทางสุขภาพ ตรวจร่างกายทั่วไป และสังเกตอาการภายนอกแล้ว แพทย์อาจตรวจหาภาวะดีซ่านด้วยวิธีต่อไปนี้เพิ่มเติม

การตรวจเลือด 

เป็นการวัดค่าการทำงานของตับ ระดับเอนไซม์และโปรตีนในเลือด ตับที่ถูกทำลายและมีความเสียหายจะปล่อยเอนไซม์เข้าสู่กระแสเลือด และระดับโปรตีนในเลือดก็จะลดลง วิธีการนี้สามารถตรวจหาตับแข็ง ตับอักเสบ และตับที่ถูกทำลายจากการดื่มแอลกอฮอล์

การตรวจปัสสาวะ 

แพทย์จะวัดระดับสารยูโรบิลิโนเจน (Urobilinogen) ซึ่งเกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียชนิดดีสลายสารบิลิรูบินในน้ำดี โดยสารบางส่วนอาจถูกขับออกมาพร้อมอุจจาระ ปัสสาวะ หรืออาจเข้าสู่กระแสเลือดแล้วย้อนกลับไปที่ตับ เพื่อนำกลับไปผลิตน้ำดีอีกครั้ง นอกจากนี้ยังวัดสารบิลิรูบิน ซึ่งจะพบในปัสสาวะผู้ป่วยที่เป็นดีซ่านเท่านั้น

การฉายภาพรังสี 

วิธีนี้ใช้ตรวจหาภาวะดีซ่านที่สงสัยว่ามีสาเหตุมาจากตับหรือมีการอุดกั้นของทางเดินน้ำดี ซึ่งจะเห็นภาพความผิดปกติภายในตับหรือในระบบน้ำดีผ่านการฉายภาพรังสี วิธีการฉายภาพรังสีที่นำมาใช้ ได้แก่ การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound Scan) การถ่ายภาพรังสีด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การตรวจชิ้นเนื้อตับ 

การตรวจชิ้นเนื้อเป็นวิธีการที่ถูกใช้ในผู้ป่วยซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ โดยการใช้เข็มเจาะเอาชิ้นเนื้อในตับไปตรวจในห้องปฏิบัติการด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาความผิดปกติของเซลล์ตับ

การส่องกล้องตรวจทางเดินท่อน้ำดีและตับอ่อน (ERCP)

วิธีนี้เป็นการตรวจหาความผิดปกติของท่อน้ำดีและตับอ่อน โดยการสอดกล้องขนาดเล็กและท่อฉีดสารสีผ่านทางปากของผู้ป่วยไปยังบริเวณท่อน้ำดี หลังจากสารสีถูกฉีดออกมาและกระจายทั่วท่อน้ำดีแล้วจึงใช้เครื่องเอ็กซเรย์มาถ่ายภาพจากภายนอกร่างกาย เพื่อดูความผิดปกติในบริเวณดังกล่าว

การรักษาดีซ่าน

แพทย์จะเน้นรักษาหรือบรรเทาอาการของผู่ป่วยตามสาเหตุของดีซ่าน และคอยป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือภาวะอื่นแทรกซ้อนตามมา เช่น ผู้ป่วยดีซ่านจากโรคฉี่หนูหรือโรคมาลาเรียอาจต้องใช้ยาฆ่าเชื้อตามที่แพทย์สั่ง ผู้ป่วยดีซ่านจากไวรัสตับอักเสบเฉียบพลันอาจหายได้เองเมื่อตับได้รับการฟื้นฟู ผู้ป่วยดีซ่านจากท่อน้ำดีอุดตันอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดในบริเวณที่มีการอุดตัน

สำหรับทารกแรกเกิดที่มีอาการตัวเหลืองไม่รุนแรงมักหายดีภายใน 2–3 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่หากมีอาการปานกลางไปจนถึงรุนแรง เด็กอาจต้องเข้ารับการดูแลรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยแพทย์อาจรักษาด้วยการส่องไฟชนิดพิเศษ เปลี่ยนถ่ายเลือด หรือรักษาตามสาเหตุของการเกิดดีซ่าน เช่น ผ่าตัดท่อน้ำดีหากมีปัญหาท่อน้ำดีตีบ หรือให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย

ภาวะแทรกซ้อนของดีซ่าน

ดีซ่านเป็นอาการแสดงของหลาย ๆ โรค เนื่องจากเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะและเซลล์เม็ดเลือดแดง โรคที่มักพบร่วมกับภาวะดีซ่าน ได้แก่ โรคโลหิตจาง การติดเชื้อในตับหรือระบบทางเดินน้ำดี ตับอักเสบ และตับแข็ง

โรคเหล่านี้ทำให้เกิดการเจ็บป่วยอย่างการปวดท้องรุนแรง ท้องร่วง พบภาวะเลือดออกที่ผิดปกติ หรืออาจมีภาวะอวัยวะทำงานล้มเหลวเป็นเหตุให้เสียชีวิตในรายที่ป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรง อย่างโรคธาลัสซีเมีย หรือมะเร็งตับ 

นอกจากนี้ สารบิลิรูบินยังเป็นอันตรายต่อเซลล์สมองของทารกแรกเกิด หากมีสารบิลิรูบินปริมาณมากผ่านเข้าสู่เซลล์สมองอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคและกลุ่มอาการทางสมองด้วยอย่างเคอนิคเทรัส (Kernicterus) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนทางสมองที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อสมองถูกทำลายอย่างถาวร กระทบต่อประสาทการฟัง เป็นผลให้สูญเสียการได้ยินหรือระบบการได้ยินผิดปกติ และอาจกระทบทำให้มีระดับสติปัญญาลดลง

การป้องกันดีซ่าน

แม้ไม่มีวิธีการที่เฉพาะเจาะจงในการป้องกันการเกิดดีซ่าน แต่การป้องกันควรครอบคลุมหลายสาเหตุที่อาจเป็นที่มาของดีซ่านคือ เน้นไปที่การดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการทำงานผิดปกติและการติดเชื้อในตับ เซลล์เม็ดเลือดแดง และระบบน้ำดี

โดยการดูแลสุขภาพซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการป้องกันโรค ประกอบด้วย

  • รับประทานอาหารอย่างถูกสุขอนามัย ไม่รับประทานอาหารดิบ เช่น ปลาน้ำจืดดิบ เนื่องจากเป็นสาเหตุของพยาธิใบไม้ในตับ และนำไปสู่มะเร็งทางเดินน้ำดีได้
  • หมั่นรักษาความสะอาดร่างกายตนเองอยู่เสมอ เช่น ล้างเท้าให้สะอาดหลังเดินลุยน้ำ ล้างมือหลังสัมผัสสิ่งสกปรก เพื่อลดโอกาสของการติดเชื้อบางชนิดที่อาจนำไปสู่ภาวะดีซ่านได้
  • ลดหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน การสูบบุหรี่หรือยาสูบอื่น ๆ และไม่ใช้ยาเสพติด
  • ควบคุมน้ำหนักตัวและระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยเน้นรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงและไขมันต่ำอย่างผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช หรือรำข้าว เพื่อป้องกันนิ่วในทางเดินน้ำดี
  • บริหารจัดการความเครียด หลีกเลี่ยงความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ด้วย

นอกจากนี้ยังควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอและบี โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ทารกที่มารดาป่วยเป็นไวรัสตับอีกเสบ ผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบ ผู้ป่วยโรคตับหรือไตเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย กลุ่มชายรักชาย ผู้ที่ไปท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงสูง หรือผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน