ดีโนซูแมบ
Denosumab (ดีโนซูแมบ) เป็นยาในกลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ (Monoclonal Antibody) ใช้รักษาความผิดปกติของกระดูก เช่น โรคกระดูกพรุน ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงจากโรคมะเร็ง รวมทั้งผู้ที่กระดูกบางแตกหักง่ายจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ เป็นต้น โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานและการพัฒนาของเซลล์สลายกระดูกเซลล์ด้วยการจับกับโปรตีน RANKL ที่อยู่ในเซลล์สลายกระดูก ซึ่งจะช่วยลดการสลายของมวลกระดูกและเพิ่มความหนาแน่นและความแข็งแรงให้กับทั้งกระดูกชั้นนอกและมวลกระดูกด้านใน นอกจากนี้ ยา Denosumab อาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Denosumab
กลุ่มยา | กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ (Monoclonal Antibody) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน และความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกระดูก |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ เด็ก |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | Category X ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือในสตรีที่อาจตั้งครรภ์ เพราะจากการศึกษาในมนุษย์และสัตว์แสดงให้เห็นว่า ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์มนุษย์และตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ หรือพบหลักฐานยืนยันว่า เกิดความเสี่ยงที่อันตรายต่อทารกในครรภ์ การใช้ยามีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติสูงกว่าประโยชน์ที่อาจได้รับอย่างชัดเจน |
คำเตือนในการใช้ยา Denosumab
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้และผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
- ควรตรวจสุขภาพฟันก่อนการรักษาด้วย Denosumab และรักษาความสะอาดช่องปากตลอดการใช้ยา เนื่องจากยานี้อาจส่งผลต่อกระดูกขากรรไกรและสุขภาพภายในช่องปาก
- การใช้ยานี้ อาจทำให้เกิดภาวะกระดูกขากรรไกรตาย โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง มีปัญหาสุขภาพช่องปาก มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และผู้ที่รับการรักษาโรคมะเร็ง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรแจ้งแพทย์ให้แพทย์ก่อนใช้ยา เช่น โรคไต ผู้ที่ฟอกไต ภูมิต้านทานต่ำ ภาวะการดูดซึมทางลำไส้ผิดปกติ เป็นต้น
- ผู้ที่มีแคลเซียมในเลือดต่ำ ห้ามใช้ยา Denosumab เนื่องจากยาอาจทำให้ภาวะขาดแคลเซียมรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- ผู้ที่มีประวัติการรักษาภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำ เคยผ่าตัดต่อมไทรอยด์ หรือเคยผ่าตัดลำไส้ ควรแจ้งแพทย์ก่อนการรักษา
- แจ้งให้แพทย์ว่ากำลังใช้ยานี้ รวมทั้งยาหรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่ใช้เป็นประจำก่อนเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมหรือการผ่าตัดใด ๆ
- Prolia และ Xgeva เป็นชื่อตราสินค้าของยา Denosumab จึงไม่ควรใช้ยาสองยี่ห้อนี้ซ้ำกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยาเกินขนาด
- การใช้ยาไม่ต่อเนื่องและการหยุดยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาจทำให้อาการทรุดลงและยังเพิ่มความเสี่ยงที่อาจทำให้กระดูกเปราะหักง่ายมากขึ้น
- หากผู้ป่วยใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดจนทำให้หมดสติหรือหายใจติดขัด ญาติควรรีบโทรเรียกรถพยาบาลหรือนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน
- ห้ามใช้ยานี้ขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
- ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากยานี้อาจซึมผ่านทางน้ำนมได้ และทำให้เกิดอันตรายต่อทารกได้
- ผู้ที่วางแผนจะมีบุตรควรเว้นระยะหลังจากการใช้ยาอย่างน้อย 5 เดือน และปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยง
- แจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากระหว่างรับประทานยานี้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น
ปริมาณการใช้ยา Denosumab
โรคกระดูกพรุน
ตัวอย่างการใช้ยา Denosumab เพื่อรักษาโรคกระดูกพรุน
ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังปริมาณ 60 มิลลิกรัม ทุก 6 เดือน โดยใช้ยาร่วมกับการรับประทานแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม/วัน และวิตามินดีอย่างน้อย 400 IU/วัน
ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงจากโรคมะเร็ง
ตัวอย่างการใช้ยา Denosumab เพื่อรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงจากโรคมะเร็ง
ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังปริมาณ 120 มิลลิกรัม ทุก 4 สัปดาห์ ในช่วงเดือนแรก ต้องทำการฉีดยาเพิ่มในวันที่ 8 และ 15 ครั้งละ 120 มิลลิกรัม นับจากวันที่ฉีดเข็มแรก โดยใช้ยาร่วมกับการรับประทานแคลเซียมอย่างน้อย 500 มิลลิกรัม/วัน และวิตามินดีอย่างน้อย 400 IU/วัน
โรคเนื้องอกกระดูกชนิดไม่ร้ายแรง (Giant Cell Tumors of Bone)
ตัวอย่างการใช้ยา Denosumab เพื่อรักษาเนื้องอกกระดูกชนิดไม่ร้ายแรง
ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังปริมาณ 120 มิลลิกรัม ทุก 4 สัปดาห์ ในช่วงเดือนแรก ต้องทำการฉีดยาเพิ่มในวันที่ 8 และ 15 ครั้งละ 120 มิลลิกรัม นับจากวันที่ฉีดเข็มแรก โดยใช้ยาร่วมกับการประทานแคลเซียมอย่างน้อย 500 มิลลิกรัม/วัน และวิตามินดีอย่างน้อย 400 IU/วัน
เด็ก อายุ 13 ปี ขึ้นไป และมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 45 กิโลกรัม ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังปริมาณ 120 มิลลิกรัม ทุก 4 สัปดาห์ ในช่วงเดือนแรก ต้องทำการฉีดยาเพิ่มในวันที่ 8 และ 15 ครั้งละ 120 มิลลิกรัม โดยนับจากวันที่ฉีดเข็มแรก
ภาวะมะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูก
ตัวอย่างการใช้ยา Denosumab เพื่อป้องกันอาการที่เกี่ยวข้องกับกระดูกเนื่องจากภาวะเนื้องอกแพร่กระจายไปยังกระดูก
ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังปริมาณ 120 มิลลิกรัม ทุก 4 สัปดาห์ โดยใช้ยาร่วมกับการรับประทานแคลเซียมอย่างน้อย 500 มิลลิกรัม/วัน และวิตามินดีอย่างน้อย 400 IU/วัน
การใช้ยา Denosumab
- อ่านเอกสารกำกับยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
- ห้ามหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาจากแพทย์ เนื่องจากอาจส่งผลให้ความเสี่ยงที่กระดูกจะเปราะหักง่ายมากยิ่งขึ้น
- เพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิสูงที่สุด ควรฉีดยาเมื่อครบกำหนดและใช้ยาในปริมาณที่ถูกต้อง รวมทั้งรับประทานอาหารเสริมตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาร่วมกับผู้อื่นในทุกกรณี แม้จะเป็นโรคเดียวกันหรือมีอาการเดียวกันก็ตาม
- ยา Denosumab ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้อง ต้นขา หรือต้นแขน โดยระยะการรักษาและปริมาณยานั้นขึ้นอยู่กับโรคที่จะรักษาและดุลยพินิจของแพทย์
- โดยทั่วไปแพทย์จะเป็นผู้ทำการฉีดยา แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือญาติผ่านการอบรมการให้ยาจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว สามารถฉีดยาได้เองที่บ้าน
- หากลืมฉีดยา ให้ติดต่อแพทย์หรือเภสัชกรทันที เพื่อปรับปริมาณหรือเวลาการฉีดยาให้เหมาะสม
- ควรเก็บรักษายาไว้ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส หรือเก็บไว้ในตู้เย็นโดยไม่ต้องแช่แข็ง และควรเก็บให้พ้นจากแสง ความร้อน เด็ก และสัตว์เลี้ยง
- เมื่อต้องการใช้ยา ให้นำยาออกมาจากตู้เย็น และปล่อยให้อุณหภูมิยาเพิ่มขึ้นเองโดยไม่ต้องทำการอุ่นยา และใช้ยาที่อยู่ในอุณหภูมิห้อง โดยยาจะสามารถอยู่ได้ 14 หลังจากนำออกจากตู้เย็น
- ห้ามเขย่ายา หากสังเกตพบว่ามีสารแขวนลอยหรือตะกอนในยาให้ติดต่อแพทย์เพื่อสั่งจ่ายยาใหม่
- ยา Denosumab อาจอยู่ในรูปแบบหลอดฉีดยาที่บรรจุยาแบบพร้อมใช้ สำหรับการฉีดครั้งเดียวเท่านั้นและให้ทิ้งยาหลังการฉีด หากเหลือยาจากการฉีดในแต่ละครั้ง ห้ามนำกลับมาใช้
- การใช้เข็มและกระบอกฉีดยาควรใช้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่นำกลับมาใช้ใหม่
- ควรทิ้งอุปกรณ์ในการฉีดยา รวมถึงบรรจุภัณฑ์ยาอย่างเหมาะสม โดยอาจปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีทิ้งเข็มฉีดยาอย่างถูกต้อง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Denosumab
การใช้ยา Denosumab อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่สามารถพบได้ทั่วไป เช่น รู้สึกคัน ระคายเคือง หรือแดงตามผิวหนัง ผิวหนังแห้ง แตก หรือตกสะเก็ด ปวดกระดูกหรือกล้ามเนื้อ ปวดบริเวณหลัง ขา หรือแขน ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขุ่นหรือมีเลือดปน และกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ เป็นต้น
หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงภายหลังการใช้ยา Denosumab ดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน หายใจติดขัด บวมตามใบหน้า ริมฝีปาก หรือลำคอ วิงเวียนศีรษะ และหมดสติ เป็นต้น
- อาการจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง เช่น เป็นไข้ หนาวสั่น และมีเหงื่อออกขณะนอนหลับ เกิดความผิดปกติบนผิวหนัง โดยจะมีอาการปวด บวม แดง เมื่อสัมผัสจะรู้สึกอุ่น ปวดท้องอย่างรุนแรง หายใจสั้นลง รวมทั้งมีอาการไอ ปวดปัสสาวะแบบฉับพลันหรือปวดบ่อยขึ้น เมื่อปัสสาวะจะรู้สึกปวดและแสบขัด เป็นต้น
- ปวดต้นขา สะโพก และขาหนีบ โดยไม่มีสาเหตุ
- ผิวหนังแห้ง ลอก เป็นสะเก็ด พุพอง
- ปวดกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่ออย่างรุนแรง
- เหน็บหรือชาที่รอบปากหรือนิ้ว
- กล้ามเนื้อตึงหรือเกร็งโดยมีสาเหตุจากแคลเซียมในเลือดต่ำ
นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ