ตับแข็ง (Liver Cirrhosis)

ความหมาย ตับแข็ง (Liver Cirrhosis)

ตับแข็ง (Liver Cirrhosis) เป็นโรคที่เป็นผลมาจากเนื้อเยื่อตับถูกทำลายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจากหลายสาเหตุ จนเกิดแผลเป็นและพังผืดขึ้น ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ และอาจหยุดการทำงานลงจนนำไปสู่ภาวะตับวายเฉียบพลัน (Liver Failure)

ตับเป็นอวัยวะขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการทำงานในร่างกาย เช่น กรองสารอาหารกลับเข้าสู่กระแสเลือดและกรองของเสียออกจากร่างกาย ผลิตโปรตีนที่มีส่วนช่วยในการแข็งตัวของเลือด ขนส่งออกซิเจนหรือเป็นส่วนประกอบขอระบบภูมิคุ้มกัน ผลิตน้ำดีที่ช่วยย่อยไขมัน และเป็นแหล่งสะสมน้ำตาลสำหรับใช้เป็นพลังงานสำรอง แต่เมื่อการทำงานของตับลดลงจะทำให้เกิดความผิดปกติตามมา

ตับแข็ง

อาการของโรคตับแข็ง

โรคตับแข็งไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง โดยส่วนมากในช่วงแรกของการเกิดโรคแทบไม่พบอาการหรือแสดงอาการน้อยมาก ผู้ป่วยจึงไม่ทราบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แต่เมื่อตับถูกทำลายมากขึ้นจึงพบอาการที่ผิดปกติได้ดังต่อไปนี้

  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
  • มีเลือดออกได้ง่าย
  • เกิดรอยช้ำหรือห้อเลือดด้ง่าย
  • คันตามผิวหนัง
  • ตัวเหลืองและตาเหลือง ดีซ่าน
  • อาการบวมตามอวัยวะต่าง ๆ เนื่องจากการสะสมของน้ำ เช่น ขาบวม ท้องมาน ข้อเท้าบวม
  • คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด
  • เกิดเส้นเลือดฝอยมากผิดปกติตามตัว และฝ่ามือ
  • ลูกอัณฑะฝ่อและเล็กลง หรือหน้าอกขยายใหญ่ขึ้นในผู้ชาย
  • มีอาการทางสมองหรือสมองเสื่อม (Hepatic Encephalopathy) ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสับสน เซื่องซึม และพูดไม่ชัด

หากผู้ป่วยพบความผิดปกติของร่างกายจากอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกติของร่างกายที่พบ บางอาการอาจเป็นสัญญาณของโรคตับแข็งที่ทำให้การรักษาทำได้ง่ายขึ้นเมื่อตรวจพบในครั้งแรก ๆ แต่บางอาการก็อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น

สาเหตุของโรคตับแข็ง

โรคตับแข็งสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่ส่งผลต่อการทำงานของตับและนำไปสู่การเกิดโรคตับแข็งมากที่สุดมักมาจาก 3 สาเหตุ ดังนี้

  • การดื่มสุราที่มากเกินไปติดต่อกันนานหลายปี
  • โรคเรื้อรังจากการติดเชื้อของตับ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบ บี และโรคไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis B และ C) ที่พบได้บ่อย
  • ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ เช่น ภาวะไขมันพอกตับที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนหรือโรคเบาหวาน

ส่วนสาเหตุรองที่อาจนำไปสู่โรคตับแข็งได้ เช่น

  • โรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะท่อน้ำดีอุดตัน เช่น โรคบิลิอารีอะทรีเซีย (Biliary Atresia) ในทารกแรกเกิดที่ไม่มีท่อน้ำดีมาแต่กำเนิด และโรคตับแข็งที่ไม่ทราบสาเหตุ (Primary Biliary Cirrhosis: PBC) ในผู้ใหญ่
  • การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวติดต่อกันหลายครั้งจนทำให้น้ำไหลเข้าตับ
  • โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) โรคพันธุกรรมเมตาบอลิกที่ไม่สามารถสะสมไกลโคลเจนไว้เป็นพลังงานในร่างกายได้ (Glycogen Storage Diseases) ถุงลมโป่งพองจากการขาดอัลฟ่า-1 (Alpha-1 Antitrypsin Deficiency)
  • โรคอื่น ๆ เช่น โรควิลสัน (Wilson’s Disease) ที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของตับที่มีการสะสมทองแดงมากเกินไป และภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
  • การรับประทานยาหรือสมุนไพรบางชนิดเป็นเวลานาน
  • การได้รับสารพิษ
  • การติดเชื้อปรสิต

การวินิจฉัยโรคตับแข็ง

โดยทั่วไปโรคตับแข็งในระยะแรกอาจไม่พบอาการผิดปกติของร่างกาย แต่บางรายอาจมีการตรวจพบโรคตับแข็งในหว่างการตรวจสุขภาพประจำปี แพทย์จะตรวจเบื้องต้นด้วยการสอบถามประวัติทางการแพทย์ อาการผิดปกติที่พบ พฤติกรรมการดื่มสุรา และการตรวจร่างกายทั่วไปโดยการคลำดูขนาดและตำแหน่งของตับ เพื่อประเมินให้มีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น

การตรวจเลือด

ขั้นตอนนี้เป็นการตรวจสารเคมีในเลือดตรวจดูการแข็งตัวของเลือดและวัดประสิทธิภาพในการทำงานและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตับ โดยอาจมีการทดสอบดูในหลายส่วน เช่น 

  • การตรวจการทำงานของตับโดยดูค่าสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ที่เกิดจากการแตกตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงหรือเอนไซม์บางชนิด
  • การทดสอบหาโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ด้วยการวัดเอนไซม์ 2 ตัว คือ SGOT (AST) และ SGPT(ALT) ซึ่งค่าที่ตรวจถ้าสูงกว่ามาตรฐานอาจบ่งบอกว่าเกิดการอักเสบของตับ เนื่องมาจากโรคไวรัสตับอักเสบหรือตับอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ
  • การตรวจการทำงานของไตจากการดูค่าครีเอตินิน (Creatinine) ซึ่งช่วยวัดค่าการทำงานของไตว่าอยู่ในระดับไหน หากมีระดับที่ลดลงอาจหมายถึงเริ่มมีอาการของโรคตับแข็งระยะสุดท้าย (Decompensated Cirrhosis)
  • การตรวจวัดปริมาณอัลบูมินในเลือด ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยการทำงานของตับที่ผิดปกติ หากมีค่าอัลบูมินต่ำกว่าค่าปกติอาจเป็นสัญญาณของโรคตับแข็งได้

การตรวจสแกนตับ

การสแกนตับเป็นการถ่ายภาพของตับด้วยการเอกซเรย์ เพื่อดูสภาพของเนื้อเยื่อว่าเกิดพังผืดหรือรอยแผลขึ้นหรือไม่ เช่น อัลตราซาวด์ (Ultrasound) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีที สแกน (CT Scan) การตรวจตับและม้ามด้วยรังสี (Radioisotope Liver/Spleen Scan) หรือไฟโบร สแกน (Fibro Scan)

การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

การตัดชิ้นเนื้อเป็นการนำตัวอย่างชิ้นเนื้อบางส่วนของเนื้อเยื่อตับที่ได้จากผู้ป่วยไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยยืนยันผลการวินิจฉัยของแพทย์และช่วยหาสาเหตุของโรคได้

การผ่าตัดผ่านกล้อง

ในบางกรณีอาจต้องใช้การผ่าตัดส่องกล้องบริเวณช่องท้อง เพื่อให้เห็นตับทั้งหมดได้ชัดเจนมากขึ้น

การรักษาโรคตับแข็ง

โรคตับแข็งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เป็นการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง และลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ทั้งนี้ วิธีการรักษาจะต้องดูตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเป็นหลัก ในรายที่เป็นโรคในระยะที่รุนแรงแล้ว อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ในบางรายอาจเป็นการควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น

หยุดการดื่มแอลกอฮอล์

หากผู้ป่วยโรคตับแข็งที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ควรหยุดดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพื่อไม่ให้เป็นปัจจัยไปกระตุ้นให้พัฒนามากยิ่งขึ้น แพทย์อาจมีการแนะนำให้เข้าร่วมโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุราในบางราย หากไม่สามารถลดการดื่มแอลกอฮอล์ลงได้

รับประทานยาเพื่อช่วยควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบ

แพทย์จะมีการจ่ายยาประเภทสเตียรอยด์หรือยาต้านไวรัส เพื่อช่วยไม่ให้เซลล์ตับถูกทำลายมากขึ้น และลดจำนวนไวรัสลง

ลดน้ำหนัก

ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการดื่มสุรา ควรลดน้ำหนักตัวเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุเฉพาะเจาะจง แต่อาจเป็นอาการผิดปกติจากภาวะแทรกซ้อนของโรค 

แพทย์จะใช้ยาในการควบคุมอาการของโรคควบคู่กับการเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การรักษาด้วยให้ให้อัลบูมิน (Albimin Infusion) การรักษาภาวะบวมน้ำ (Edema) ตามอวัยวะต่าง ๆ ด้วยการรับประทานยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เพื่อช่วยขับน้ำออกจากร่างกาย และเลี่ยงการรับประทานเกลือที่มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการบวมน้ำมากขึ้น การรักษาภาวะเหล็กเกินด้วยการใช้ยาขับธาตุเหล็ก และ

หากผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งขั้นรุงแรงจนทำให้ไตทำงานได้น้อยลงมาก อันส่งผลให้เกิดโรคหรืออาการรุนแรง เช่น ตัวเหลือง ท้องมานรุนแรง มะเร็งตับ อาจจำเป็นต้องมีการปลูกถ่ายตับใหม่ที่ได้จากผู้บริจาคตับ และยังทำได้เฉพาะในคนที่แข็งแรงเท่านั้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง

โรคตับแข็งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เมื่อโรคมีการพัฒนารุนแรงมากขึ้น เช่น

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร (Variceal Bleeding)

เนื่องมาจากความดันในหลอดเลือดดำที่ไหลผ่านตับมีเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง จึงอาจเกิดการอุดตันจนเส้นเลือดโป่งพองขึ้นได้ง่าย มีความเปราะ และเสี่ยงต่อการแตกจนทำให้มีเลือดออกอย่างรุนแรงในกระเพาะอาหารส่วนบนหรือหลอดอาหารได้

การบวมน้ำและท้องมาน (Edema and Ascites)

อาการบวมน้ำและท้องมานเป็นภาวะที่มีการคั่งของน้ำและเกลือตามช่องว่างของเซลล์ต่าง ๆ จนทำให้ขาบวม หรืออาการท้องโต

อาการทางสมองจากโรคตับ (Hepatic Encephalopathy)

อาการนี้มักเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากตับทำงานลดลงจนไม่สามารถกำจัดสารพิษออกจากลำไส้เล็กได้ จึงซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือดจนส่งผลให้ผู้ป่วยอาจมีอาการสับสน ซึม มึนงง พูดไม่ชัด

อาการร้ายแรงอื่น ๆ

ผู้ป่วยอาจพบอาการร้ายแรงอื่น ๆ เช่น ภาวะไตล้มเหลว ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง โรคเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ภาวะเลือดออกอย่างรุนแรง สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เต้านมขยายในผู้ชาย เข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติ และอาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะตับวายได้

การป้องกันโรคตับแข็ง

โรคตับแข็งป้องกันได้โดยลดโอกาสของการพัฒนาโรคด้วยการเลี่ยงปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดโรคให้มากที่สุด โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ รวมไปถึงการดูแลสุขอนามัยพื้นฐานตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงหรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นปัจจัยหลักของการเกิดโรค โดยไม่ควรดื่มเกิน 14 หน่วยมาตรฐานต่อสัปดาห์ และควรกระจายปริมาณการดื่มไม่ให้มากเกินไปในแต่ละวัน
  • ฉีควัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี โดยในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ซี
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี
  • ควรมีการป้องกันตนเองก่อนการใช้หรือสัมผัสกับสารเคมีต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดโอกาสของการเกิดภาวะไขมันพอกตับขึ้นจนนำไปสู่โรคได้
  • ระมัดระวังในการใช้สมุนไพรหรือเห็ดบางชนิด เพราะอาจส่งผลอันตรายต่อตับได้
  • หลีกเลี่ยงหรืองดการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนของพยาธิใบไม้ในตับที่อาจเป็นสาเหตุของโรคตับตามมาได้