ตาขี้เกียจ

ความหมาย ตาขี้เกียจ

ตาขี้เกียจ (Amblyopia/Lazy Eye) คือ โรคทางสายตาที่ทำให้ดวงตามองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงและตาบอดถาวรในอนาคต โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับดวงตาข้างเดียว แต่บางรายอาจพบได้ทั้งสองข้าง

ตาขี้เกียจเป็นปัญหาทางสายตาที่มักจะปรากฏในเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีพัฒนาการทางการมองเห็น โดยโรคตาขี้เกียจเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีป้องกัน แต่หากตรวจพบได้เร็ว ก็จะยิ่งรักษาให้ดีขึ้นได้เร็วและป้องกันอาการรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตเห็นอาการผิดปกติต่าง ๆ บริเวณดวงตา 

LazyEye

สาเหตุของตาขี้เกียจ

ตาขี้เกียจอาจเป็นผลมาจากสภาวะใด ๆ ที่บดบังการมองเห็นของดวงตา ทำให้พัฒนาการทางสายตาแย่ลงจนมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ตาเขหรือตาเหล่ (Strabismus) เป็นอาการที่ดวงตาข้างหนึ่งอาจมองตรง ส่วนอีกข้างมองไปยังทิศทางอื่น ซึ่งจะทำให้มองเห็นภาพซ้อน ผู้ที่มีอาการจึงเลือกใช้ดวงตาข้างที่มองตรงเพื่อหลีกเลี่ยงการเห็นภาพซ้อน จึงทำให้ดวงตาอีกข้างไม่พัฒนาตามปกติและทำให้เกิดตาขี้เกียจ
  • ภาวะค่าสายตาผิดปกติที่ต่างกันมาก (Refractive Errors) ทั้งสายตายาว สายตาสั้น หรือสายตาเอียง เพราะแสงที่ส่องผ่านเข้าเลนส์ตามากน้อยไม่เท่ากัน ทำให้สมองเลือกตอบสนองกับดวงตาข้างที่รับแสงได้ดีกว่า ดวงตาอีกข้างจึงไม่ค่อยถูกใช้งานและพัฒนาน้อยกว่าอีกข้าง
  • ความผิดปกติที่ทำให้เกิดความมัวในตา (Stimulus Deprivation Amblyopia) เป็นความผิดปกติที่เกิดได้จากมีสิ่งกีดขวางหรือบดบังการมองเห็นของดวงตา ทำให้การรวมแสงไม่ตกบนจอตา ผู้ป่วยจึงมองเห็นภาพได้ไม่ชัด 

นอกจากนี้ เด็กบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงทำให้มีโอกาสในการเป็นโรคนี้มากกว่าปกติเมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น

  • มีสภาวะบางอย่างที่ทำให้แสงเข้าตาได้ไม่ปกติ เช่น เป็นต้อกระจก หนังตาตก
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคตาขี้เกียจ ตาเขหรือตาเหล่
  • เด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือคลอดออกมาน้ำหนักตัวน้อย
  • มีความผิดปกติด้านพัฒนาการ

อาการตาขี้เกียจ

โรคนี้ค่อนข้างสังเกตได้ยาก และตัวเด็กเองก็อาจแยกออกไม่ออกว่าเกิดอาการกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ ยกเว้นในกรณีที่มองเห็นความผิดปกติจากดวงตาได้ชัดเจน ผู้ป่วยมักมีอาการ ดังนี้

  • การมองเห็นของดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างแย่ลง
  • มีอาการตาเหล่ ต้องเอียงศีรษะหรือปิดตาไว้ข้างหนึ่ง เพื่อให้มองเห็นได้ชัด
  • การกะระยะหรือวัดความห่างระหว่างวัตถุกับสิ่งอื่น ๆ ทำได้ยาก
  • ดวงตาเบนเข้าด้านในหรือออกด้านนอก
  • ปวดศีรษะ

พ่อแม่อาจเริ่มสังเกตอาการของเด็กได้ตั้งแต่หลังคลอดไม่กี่สัปดาห์ แต่ในเด็กบางคนอาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสายตาอย่างละเอียดเป็นหลัก โดยแพทย์มักจะแนะนำให้เด็กอายุระหว่าง 3–5 ปีเข้ารับการตรวจคัดกรองสายตา เพราะการตรวจพบโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยให้พัฒนาการทางด้านสายตาของเด็กเป็นไปตามวัย 

อาการตาขี้เกียจที่ควรไปพบแพทย์

หากพบอาการตาขี้เกียจหรืออาการผิดปกติใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับดวงตาของเด็ก พ่อแม่ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจสายตา นอกจากนี้ เด็กที่มีความเสี่ยงในการเกิดตาขี้เกียจ ก็ควรไปตรวจสายตาเช่นกัน เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคตาขี้เกียจ เป็นโรคต้อกระจกหรือภาวะทางสายตาอื่น ๆ

การวินิจฉัยตาขี้เกียจ

แพทย์จะตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจตาอย่างละเอียดและวัดสายตา ซึ่งเทคนิคในการตรวจต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับอายุของเด็กเป็นหลัก หากเป็นเด็กที่มีอาการตาเหล่หรือตาเข แพทย์ผู้ชำนาญการตรวจวัดภาวะตาเขหรือตาเหล่โดยเฉพาะจะช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเกิดตาขี้เกียจที่อาจทำให้การรักษายากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมในกรณีที่พบว่าผลการตรวจสายตาเป็นปกติ แต่สงสัยว่าอาจมีโรคซ่อนอยู่ เช่น ซีที สแกน (CT Scan) เอ็มอาร์ไอ (MRI) การตรวจหาจุดรั่วด้วยการฉีดสีฟลูออเรสซีน (Fluorescein Angiography) การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study) การถ่ายภาพของจอประสาทตา (Spectral-Domain Optical Coherence Tomography: SD-OCT)

การรักษาตาขี้เกียจ

การตรวจพบตาขี้เกียจตั้งแต่เด็กจะมีโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้สูงกว่าเมื่อพบตอนเป็นผู้ใหญ่ โดยการรักษาก่อนอายุ 7 ปี จะได้ผลดีมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการพัฒนาดวงตาและสมองส่วนที่ควบคุมการมองเห็น แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงอายุ 7–9 ปีขึ้นไป การรักษาอาจทำได้ยากมากขึ้นตามอายุ อย่างไรก็ตามในช่วงอายุไม่เกิน 17 ปี การตอบสนองต่อการรักษายังเป็นไปได้ด้วยดี

แนวทางในการรักษาจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้งานดวงตาข้างที่กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เพื่อช่วยให้สมองทำงานประสานกับดวงตาข้างที่ใช้งานน้อยให้มากขึ้น และรักษาความผิดปกติของสายตาที่เป็นต้นเหตุ โดยอาจใช้หลายวิธีควบคู่กัน ดังนี้

  • สวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ ช่วยแก้ไขปัญหาสายตาของผู้ป่วยที่มีความต่างระหว่างสายตาทั้งสองข้างมาก จึงทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนและสั่งการสมองให้ทำงานประสานกับดวงตาข้างที่อ่อนแอมากขึ้น เพื่อพัฒนาสายตาทั้ง 2 ข้างให้มีการทำงานเท่ากันและเป็นไปตามปกติ
  • ใส่ที่ครอบตา แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยสวมที่ครอบตากับดวงตาข้างที่ใช้งานบ่อยเป็นระยะเวลาประมาณ 2–6 ชั่วโมงต่อวันในช่วงเวลาที่มีการใช้งานดวงตา โดยอาจต้องสวมที่ครอบตาไว้ติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ไปจนถึงเป็นปีตามสถานการณ์ของแต่ละคน
  • ใช้ยาหยอดตา เป็นยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของสารอะโทรปีนหยอดลงในตาข้างที่แข็งแรงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อทำให้เกิดอาการมัวชั่วคราวและกระตุ้นให้ดวงตาข้างที่อ่อนแอใช้งานมากขึ้น แต่อาจส่งผลให้ดวงตามีความไวต่อแสงมากขึ้น
  • การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุตาขี้เกียจจากตาเขหรือตาเหล่ หนังตาตก และการรักษาในวิธีข้างต้นไม่ได้ช่วยให้ตำแหน่งของสายตากลับมาเป็นปกติ แพทย์อาจแนะนำให้มีการผ่าตัดกล้ามเนื้อดวงตาเพื่อให้ทำงานได้เป็นปกติมากขึ้น

ระยะเวลาในการรักษาอาจแตกต่างกันออกไปตั้งแต่หลายสัปดาห์ไปเป็นปี แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 6 เดือนถึง 2 ปี นอกจากนี้ หลังการรักษาจบลงอาจต้องมีการตรวจดูอาการอยู่เป็นระยะ เพราะเด็กที่เคยเป็นตาขี้เกียจยังอาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกครั้ง

ภาวะแทรกซ้อนของตาขี้เกียจ

เมื่อผู้ป่วยที่เป็นโรคตาขี้เกียจไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลาอาจส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงไปจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร 

การป้องกันตาขี้เกียจ

เด็กทุกคนมีโอกาสในการเกิดตาขี้เกียจ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่กล่าวไปข้างต้น หากเป็นทารกแรกเกิดไปจนถึงวัย 6–12 เดือน พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของทารกและพบแพทย์ตามนัดการตรวจสุขภาพของเด็กอย่างสม่ำเสมอ สำหรับเด็กที่อยู่ในช่วงวัยก่อนเข้าเรียนหรืออายุประมาณ 3–5 ปี ควรเข้ารับการตรวจวัดสายตาเป็นประจำเพื่อการตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ในระยะเนิ่น ๆ และรักษาได้ทันท่วงที