ความหมาย ตาบวม
ตาบวม (Swollen Eyes) คือ อาการบวมน้ำหรือการมีของเหลวสะสมอยู่ที่เนื้อเยื่อเกี่ยวพันบริเวณรอบ ๆ ดวงตา มักจะเกิดขึ้นที่บริเวณเปลือกตา มีหลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บ บาดแผล การติดเชื้อ การอักเสบ เป็นต้น
อาการตาบวม
อาการตาบวมที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับสาเหตุ อาจมีสัญญาณและอาการที่เกิดขึ้น เช่น
- มีการผลิตน้ำตาออกมามากกว่าปกติ หรือมีขี้ตามาก
- รู้สึกระคายเคืองที่ตา
- ตาแดง
- ตาแห้ง
- มีอุปสรรคในการมองเห็นหรือมองเห็นได้ไม่ชัด
สาเหตุของตาบวม
อาการตาบวมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- ภูมิแพ้
- ภาวะคั่งน้ำ
- แมลงกัด
- เยื่อบุตาอักเสบหรือตาแดง
- ตากุ้งยิง
- ถุงน้ำหรือซีสต์ที่มีการอักเสบหรือติดเชื้อ
- การอักเสบที่กระบอกตาหรือเปลือกตา
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)
- การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส
- เกิดจากการบาดเจ็บหรือ
- ร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
- กลุ่มอาการโรคไต (Nephrotic Syndrome)
- เนื้องอก
- มะเร็งตา (พบได้น้อยมาก)
หากพบว่าตนเองมีอาการตาบวมติดต่อกันนานกว่า 1-2 วัน โดยที่อาการไม่ดีขึ้น หรืออาการบวมไม่ลดลง ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
การวินิจฉัยตาบวม
อาการตาบวมที่เกิดขึ้นนานติดต่อกันมากกว่า 1-2 วัน จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยควรสังเกตอาการของตนเองเพื่อช่วยให้การวินิจฉัยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แก่
- อาการที่เกิดขึ้นก่อนหน้าหรือที่เกิดขึ้นภายหลัง
- อาการเจ็บปวด
- ก้อนแข็งหรืออาการบวมที่สัมผัสได้
- ไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อตาได้หรือมีการมองเห็นที่เปลี่ยนแปลงไป
ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในทันที เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยและรักษาอย่างตรงจุด หรือผู้ป่วยที่พบว่าตามีถุุงน้ำ ท่อน้ำตาอุดตัน หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการบวมและไม่หายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์
การรักษาตาบวม
การรักษาตาบวมขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยมีตัวอย่างในการรักษาที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- ซีสต์ โดยปกติซีสต์อาจหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจกลายเป็นตุ่มแข็งขึ้น ซึ่งรักษาด้วยตนเองเบื้องต้นได้ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบตา เพราะอุณหภูมิอุ่น ๆ จะช่วยในเรื่องการหลั่งน้ำมันและการอุดตันบริเวณตาได้ โดยอาจประคบได้วันละ 4-5 ครั้งต่อวัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ และแพทย์จะช่วยระบายของเหลวออกมาให้
- ตากุ้งยิง หากระบายหนองออกแล้ว อาการของตากุ้งยิ่งก็จะดีขึ้น แต่อาจใช้การประคบร้อนเพื่อช่วยบรรเทาอาการในเบื้องต้นได้ และปกติจะใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็จะหายเป็นปกติ นอกจากนั้น ในระหว่างที่เป็นตากุ้งยิงควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอาง เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้
- เยื่อบุตาอักเสบ ผู้ป่วยดูแลตนเองเบื้องต้นได้โดยสามารถทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาด้วยน้ำอุ่น ซึ่งอาการของเยื่อบุตาอักเสบมักจะทำให้เกิดคราบหรือสะเก็ดติดอยู่ที่ขนตาและหัวตา ในระหว่างที่เกิดอาการควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา ควรใช้ปลอกหมอนที่สะอาด รวมไปถึงหยุดใช้เครื่องสะอางกับดวงตาและคอนแทคเลนส์จนกว่าอาการจะดีขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องรักษา
- การติดเชื้อของผิวหนังและเนื้อเยื่ออย่างเฉียบพลัน เป็นการติดเชื้อที่ทำให้ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ดวงตาเป็นสีแดงและอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ นอกจากนั้น หากเกิดอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้สูง คลื่นไส้ เวียนศีรษะ สั่น สับสน การมองเห็นเปลี่ยนแปลง หรือขยับดวงตาไม่ได้ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
ภาวะแทรกซ้อนของตาบวม
ภาวะแทรกซ้อนของตาบวมจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยคือเปลือกตาอักเสบ ซึ่งอาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ได้แก่ ตาแห้ง ตาแดง เกิดแผลเป็นที่เปลือกตา ตากุ้งยิง หรือเยื่อบุตาอักเสบเรื้อรัง หากตาบวมมีสาเหตุมาจากเยื่อบุตาอักเสบ อาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตา ซึ่งเป็นอันตรายต่อการมองเห็น
การป้องกันตาบวม
โดยส่วนใหญ่อาการตาบวม มักจะหายไปได้เองภายในระยะเวลาอันสั้น ในระหว่างที่มีอาการ ผู้ป่วยสามารถป้องกันและดูแลตนเองได้ดังนี้
- ควรหลีกเลี่ยงใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อให้เกิดการอักเสบ เช่น เครื่องสำอาง เป็นต้น
- ควรเปลี่ยนหรือดูแลความสะอาดผ้าที่ใช้สำหรับเช็ดหน้าหรือปลอกหมอน
- ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ควรดูแลและควบคุมอาการ ด้วยการรับประทานยาหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
- หากตาบวมมีสาเหตุจากการร้องไห้ ควรล้างหน้าให้สะอาดก่อนเข้านอน
- ควรเลือกใช้ยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียมที่ปราศจากสารกันบูด
- ควรล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอและหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา