ความหมาย ตาบอด
ตาบอด (Blindness/Vision Impairment) คือ ภาวะที่ดวงตาไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ หรือรับรู้ความแตกต่างระหว่างแสงสว่างและความมืดได้ ถือเป็นความพิการทางตาหรือการบกพร่องทางการมองเห็นในระดับที่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวัน ได้รับการศึกษา และประกอบอาชีพได้เช่นคนปกติทั่วไป อาการตาบอดอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการรับประทานยา การผ่าตัด การสวมแว่นตาหรือการใส่คอนแทคเลนส์ แต่อาจมีวิธีการรับมือและป้องกันได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยเริ่มสูญเสียการมองเห็น ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการรักษา แต่ในกรณีที่ความสามารถในการมองเห็นเสียหายจนรักษาไม่ได้ ผู้ป่วยอาจต้องเรียนรู้การใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ เช่น อักษรเบรลล์ หรือโปรแกรมเสียงสำหรับคนตาบอดโดยเฉพาะ เป็นต้น
อาการตาบอด
องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามของตาบอดไว้ว่า เป็นสายตาที่ดีที่สุดเมื่อแก้ไขด้วยแว่นธรรมดา (แว่น สายตาสั้นแว่นสายตายาว แว่นสายตาเอียง) แล้วเห็นน้อยกว่า 3/60 ลงไปจนถึงบอดสนิท ไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือมีลานสายตาโดยเฉลี่ยแคบกว่า 10 องศาลงไป โดยอาจเกิดขึ้นกับดวงตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
อาการตาบอดสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ตาบอดสนิท (Complete Blindness) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้เลย หรือเห็นเป็นภาพมืดทั้งหมด และตาบอดบางส่วน (Partial Blindness) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการมองเห็นที่จำกัด อาจมองเห็นเพียงเงาลาง ๆ และไม่สามารถมองเห็นรูปร่างของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นผู้ที่ตาบอดบางส่วนอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่
- ตามัว รู้สึกระคายเคืองคล้ายมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา
- มองเห็นชัดเจนเฉพาะตรงกลาง (Tunnel Vision)
- มองเห็นไม่ชัดเจนในเวลากลางคืน
- ตาดำอาจเป็นสีขาว หากผู้ป่วยมีโรคต้อกระจก (Cataract)
- กระจกตาอาจเป็นสีขาวหรือเทา กรณีที่กระจกตาติดเชื้อ
นอกจากนี้ อาการตาบอดเกิดขึ้นในเด็กได้เช่นกัน โดยอาจเริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์ และพัฒนาอาการต่อเนื่องภายหลังการคลอดเป็นเวลา 2 ปี ตามปกติแล้ว ในช่วง 6-8 สัปดาห์แรก ทารกจะสามารถจ้องมองหรือติดตามการเคลื่อนไหวของวัตถุได้ และภายใน 4 เดือน ดวงตาของทารกควรจะอยู่ในแนวตำแหน่งปกติ ไม่มีลักษณะตาเข แต่หากบุตรหลานมีอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของอาการตาบอดหรือมีความบกพร่องทางการมองเห็น
- ไม่สามารถมองตามวัตถุขณะเคลื่อนไหวได้
- ไม่สามารถโฟกัสภาพหรือวัตถุได้
- ตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของดวงตาผิดปกติหรือมีตาเขหลังจากอายุครบ 6 เดือน
- ขยี้ตาบ่อย
- มีตาแดงเรื้อรัง
- ดวงตาไวต่อแสงมากและมีน้ำตาไหลเป็นประจำ
- บริเวณตาดำเป็นสีขาว
ผู้ที่อาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการตาบอด ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตา โรคเบาหวาน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ (Stroke) ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดดวงตา ผู้ที่ต้องใช้สารเคมีหรือวัตถุมีคมระหว่างการทำงาน เด็กทารกคลอดก่อนกำหนดและผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้
สาเหตุของตาบอด
การสูญเสียการมองเห็นคือสัญญาณเริ่มต้นของอาการตาบอด โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดตาบอดแตกต่างกันในผู้ใหญ่และเด็กดังนี้
โรคที่เป็นสาเหตุตาบอดในผู้ใหญ่ ได้แก่
- สายตาผิดปกติที่ไม่ได้รับการแก้ไข (Uncorrected Refractive Error) เช่น สายตาสั้น สายตายาว โดยทั่วไปสายตาผิดปกติสามารถแก้ไขได้โดยการใช้แว่นสายตา คอนแทคเลนส์ และการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ อย่างไรก็ตามในประเทศไทยยังคงพบปัญหาไม่มีแว่นตาใช้ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้สายตาอยู่ในระดับตาบอดได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ อาจทำให้เกิดโรคตาอื่นๆ ตามมา ที่สำคัญคือ จอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration) จอตาฉีดขาดและหลุดลอก (Retinal Detachment) ซึ่งทำให้ตาบอดได้
- ต้อกระจก (Cataract) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของแก้วตาตามอายุทำให้ตาดำมีลักษณะขุ่นขาว มักพบในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปโรคต้อกระจกสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด แต่ก็พบว่าประชากรส่วนใหญ่ของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยยังเข้าไม่ถึงบริการนี้ จึงทำให้ต้อกระจกเป็นสาเหตุที่สำคัญของตาบอด
- โรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่เกิดจากความดันในลูกตาสูงจนไปกดและทำลายประสาทตาทำให้ตามัวลงจนถึงขั้นตาบอดได้ ผู้ที่เป็นต้อหินอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการเฉียบพลัน เช่น ปวดตา ตาแดงหรือตามัวทันที หรืออาจมีอาการเรื้อรังคือมีอาการตามัวลงอย่างช้า ๆ โดยไม่มีอาการตาแดงนำมาก่อน ซึ่งโรคนี้ต้องอาศัยการตรวจโดยจักษุแพทย์ ดังนั้นผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีจึงควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อตรวจหาต้อหินแต่เนิ่น ๆ หากได้รับการรักษาทันทีและต่อเนื่องจะช่วยป้องกันตาบอดได้
- จอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน(diabetic retinopathy) ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือเป็นเบาหวานมานานจะทำให้มีหลอดเลือดผิดปกติทั่วร่างกาย รวมถึงหลอดเลือดที่จอประสาทตา ซึ่งจะทำให้มีน้ำเหลืองซึมออกมาทั่วจอประสาทตา และหลอดเลือดที่จอประสาทตาจะเสื่อมมากขึ้นจนเกิดพังผืดและมีหลอดเลือดเกิดใหม่ที่ผิวจอประสาทตาซึ่งจะทำลายจอประสาทตามากขึ้น รวมถึงหลอดเลือดที่เกิดใหม่อาจจะฉีกขาดทำให้มีเลือดออกขังในน้ำวุ้นตา หากเป็นในระยะแรกเริ่มสามารถรักษาได้ด้วยแสงเลเซอร์แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตาบอดได้ ดังนั้น ผู้ที่เป็นเบาหวานควรจะคุมน้ำตาลให้ได้และควรตรวจดวงตาเป็นระยะ
- แผลบริเวณกระจกตา (Corneal Ulcer) กระจกตาเป็นส่วนสำคัญในการมองเห็น จึงต้องใส หากมีการอักเสบหรือเป็นแผล จะทำให้แสงผ่านไม่ได้และเกิดตามัวตามมา สาเหตุที่ทำให้เกิดแผลบริเวณกระจกตา ได้แก่ โรคริดสีดวงตา ภาวะตาแห้ง ภาวะขาดวิตามินเอ ภาวะแทรกซ้อนจากคอนแทคเลนส์ อุบัติเหตุทางกีฬา การขยี้ตาแรง ๆ ฝุ่นเข้าตาหรือเกิดจากเศษใบไม้หรือหญ้าบาดตา ซึ่งอาจทำให้เกิดรอยบริเวณกระจกตา (Corneal Abrasion) และหากไม่ได้รับการักษาอาจทำให้เกิดแผลบริเวณกระจกตาตามมาและทำให้มีเชื้อโรคผ่านกระจกตาเข้าสู่ดวงตาอันเป็นสาเหตุของตาบอดได้
- อุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บบริเวณดวงตา เช่น การเล่นกีฬา ถูกของมีคมทิ่มตำ การกระแทกที่ดวงตา อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในช่องหน้าตา (Hyphema) จะทำให้มีอาการเจ็บปวด ไวต่อแสง และสูญเสียการมองเห็น หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องสามารถทำให้ตาบอดได้
- การติดเชื้อ โดยอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Keratitis) เช่น เกิดตามหลังอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บบริเวณดวงตา หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการใช้คอนแทคเลนส์ นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ตาอักเสบจากโรคเริม (Herpes Keratitis) จอตาอักเสบจากไวรัสซีเอ็มวี (Cytomegaloviral Retinitis) ซึ่งมักพบในผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี เป็นต้น
- ภาวะหลอดเลือดดำที่จอตาอุดตัน (Retinal Vein Occlusion)
- ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดตา
- ความผิดปกติโดยกำเนิด เช่น โรคตาทางพันธุกรรม หรือโรคหัดเยอรมัน (Rubella)
- โรคเกี่ยวกับดวงตาอื่น ๆ เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม (Retinitis Pigmentosa) โรคเส้นประสาทตาอักเสบ (Optic Neuritis)
โรคที่เป็นสาเหตุของอาการตาบอดในเด็ก ได้แก่
- จอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of Prematurity) โดยภาวะนี้มักพบในเด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ ที่ต้องได้รับการช่วยชีวิตด้วยการให้ออกซิเจน เนื่องจากหลอดเลือดที่จอตาจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุครรภ์ 36-40 สัปดาห์ ดังนั้น เด็กที่คลอดก่อนช่วงเวลานี้จะมีการพัฒนาหลอดเลือดที่จอตาไม่สมบูรณ์และไวต่อออกซิเจนที่ได้รับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดและมีหลอดเลือดใหม่เกิดขึ้น ภาวะนี้หากอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยการทำเลเซอร์และต้องได้รับการตรวจติดตามการเจริญของหลอดเลือดและจอตาเป็นระยะ แต่หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีจะทำให้ตาบอดได้
- ต้อกระจกชนิดที่เป็นตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเป็นในแม่ที่เป็นหัดเยอรมัน (Rubella)
- ภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) ซึ่งอาจเกิดจากการมีตาเขหรือตาเหล่ (Strabismus) หรือความผิดปกติของสายตานำมาก่อน ทำให้เด็กมีสายตาไม่เท่ากัน และตาข้างที่ไม่ดีจึงไม่ถูกใช้งาน หากไม่ได้รับการรักษาตาข้างที่ไม่ใช้งานอาจจะมัวลงและตาบอดได้
- ภาวะขาดวิตามินเอ ซึ่งจะทำให้ตาแห้งหากเป็นนานเข้าจะทำให้เกิดกระจกตาแห้งและเกิดแผลที่กระจกตารวมถึงทำให้ติดเชื้อในดวงตาตามมาทำให้ตาทะลุและเกิดตาบอดตามมา จึงควรส่งเสริมให้เด็กกินนมแม่หรือนมผสมที่เสริมวิตามินเอ นอกจากนี้ยังพบภาวะขาดวิตามินเอได้ในเด็กที่เป็นโรคหัด จึงควรได้รับการเสริมวิตามินเอในเด็กที่เป็นโรคหัดด้วย
- เยื่อตาและกระจกตาอักเสบจากเชื้อหนองใน (Gonococcal Conjuctivitis) โดยเป็นการติดเชื้อจากช่องคลอดมารดาที่เป็นหนองในขณะทำการคลอด ทำให้เด็กทารกมีขี้ตาแฉะเป็นหนอง เปลือกตาติดกัน และเชื้อจะลุกลามเข้าสู่ตาดำทำให้ตาบอดได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในประเทศไทยมีการป้องกันโดยการป้ายยาฆ่าเชื้อที่ตาให้แก่ทารกคลอดใหม่ทุกคนเพื่อป้องกันการติดเชื้อดังกล่าว
- โรคทางพันธุกรรมที่เป็นแต่กำเนิดอื่นๆ เช่น โรคต้อหินแต่กำเนิด โรคจอประสาทตาเสื่อม (Retinal Dystrophy) ประสาทฝ่อ (Optic Atrophy) ดวงตาเล็กแต่กำเนิดเป็นต้น
- เนื้องอก เช่น โรคมะเร็งจอประสาทตา (Retinoblastoma) และ Optic Glioma เป็นต้น
การวินิจฉัยอาการตาบอด
แพทย์อาจสอบถามประวัติอาการเพื่อช่วยในการค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ และวินิจฉัยดวงตาแต่ละข้าง เนื่องจากอาการตาบอดเกิดขึ้นได้กับดวงตาเพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง โดยแพทย์จะถามประวัติที่เกี่ยวข้องกับดวงตาและการมองเห็น ตรวจลักษณะภายนอกของดวงตา (External Examination) ด้วยการใช้ไฟฉายเพื่อดูเปลือกตา (Eyelids) และเนื้อเยื่อรอบๆ ดวงตา ตามด้วยการตรวจลักษณะของดวงตาตั้งแต่เยื่อบุตาขาว ตาขาว กระจกตา ช่องหน้าม่านตา รูม่านตา เลนส์ตา ไปจนถึงส่วนหลังของลูกตา ซึ่งได้แก่ น้ำวุ้นตา จอประสาทตา และขั้วประสาทตา ซึ่งอาจต้องอาศัยเครื่องมือสำหรับตรวจตาโดยเฉพาะ นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้การทดสอบต่าง ๆ ต่อไปนี้เพื่อประเมินร่วมด้วย
- การวัดระดับการมองเห็น (Visual Acuity) เพื่อตรวจดูระยะที่ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ โดยในขั้นตอนการตรวจจะให้มองตัวอักษร ตัวเลข หรือสัญลักษณ์จากระยะห่างที่กำหนด ทั้งในระยะห่างที่ใกล้และไกล และดูว่าผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ที่ระยะใดหรือมองไม่เห็นแสงเลย
- การทดสอบการมองเห็นภาพด้านข้างหรือลานสายตา (Visual Field Test) เพื่อตรวจวัดการมองเห็นโดยรอบ (Peripheral Vision)
- การวัดความดันตา (Tonometry Test) เพื่อประเมินความดันในดวงตา ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคต้อหินได้
- ทดสอบการทำงานของกล้ามเนื้อตา
- ทดสอบการตอบสนองต่อแสงของรูม่านตา
สำหรับผู้ป่วยเด็กหรือทารก แพทย์อาจเริ่มต้นจากการตรวจดูแนวตำแหน่งตา แล้วจึงตรวจวัดระดับการมองเห็น (Visual Acuity) การโฟกัสภาพ โครงสร้างและการทำงานของดวงตา เช่น การจ้องมอง การตอบสนองต่อแสง หรือวัตถุที่มีสี และตรวจตาด้วยอุปกรณ์สำหรับเด็ก เป็นต้น
การรักษาอาการตาบอด
การรักษาอาการตาบอดหรือความบกพร่องในการมองเห็นขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ หากแพทย์ตรวจพบสาเหตุของอาการตาบอดที่สามารถรักษาได้ อาจต้องเข้ารับการรักษาตามสาเหตุโดยวิธีต่อไปนี้
- ในผู้ป่วยที่มีปัญหาสายตาสั้น หรือสายตายาว อาจแก้ไขสายตาด้วยการสวมแว่นตา หรือการใส่คอนแทคเลนส์
- หากตาบอดเกิดขึ้นจากภาวะพร่องโภชนาการและการขาดวิตามินเอ ควรรับประทานวิตามินเออย่างเหมาะสม
- ผู้ที่เกิดจากการอักเสบหรือติดเชื้อ อาจใช้ยาหยอดตา หรือรับประทานยาลดการอักเสบและรักษาการติดเชื้อ
- หากเกิดจากต้อกระจก ควรเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก
- หากเกิดจากแผลที่กระจกตาอาจรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา
ในกรณีที่สาเหตุของอาการตาบอดไม่สามารถรักษาได้แพทย์อาจแนะนำวิธีการที่เหมาะสมในการใช้สายตาให้กับผู้ป่วยที่มีภาวะตาบอดบางส่วน (Partial Blindess) หรือสามารถมองเห็นได้อย่างจำกัด ดังนี้
- การใช้แว่นขยายขณะอ่านหนังสือ หรือเพิ่มขนาดตัวอักษรในคอมพิวเตอร์ให้ใหญ่ขึ้น
- การใช้หนังสือหรือนาฬิกาเสียง
ส่วนในผู้ป่วยที่มีภาวะตาบอดสนิท (Complete Blindness) ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น
- การเรียนอักษรเบรลล์
- การใช้สุนัขนำทาง
- การพับธนบัตรด้วยรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแยกแยะมูลค่าบนธนบัตร
- การจัดแต่งบ้าน เพื่อความสะดวกในการหยิบจับสิ่งของ
- การติดตั้งราวจับในห้องน้ำ เพื่อความปลอดภัย
- การวางแผนทางการเงิน หรือขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล
- การสมัครงานสำหรับผู้พิการ โดยอาจสอบถามได้จากกรมการจัดหางาน
- การตรวจสอบสิทธิ์ และติดตามข่าวสารความช่วยเหลือและผลประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับผู้พิการ
สำหรับประเทศไทยเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นคนตาบอดที่ไม่มีวิธีรักษาให้ดีขึ้นแล้ว ผู้นั้นจะต้องไปลงทะเบียนเป็นคนพิการทางสายตา (ทั้งตาบอดและตาเห็นเลือนราง) เมื่อได้ขึ้นทะเบียนแล้ว มีสิทธิเข้าถึงการรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลได้กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นสวัสดิการให้คนพิการสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้เท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป โดยมีสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ได้แก่
- เบี้ยความพิการ คนพิการทุกคนที่มีสมุด/บัตรประจำตัวคนพิการมีสิทธิลงทะเบียนขอรับ “เบี้ยความพิการ” คนละ 500 บาท/เดือนได้
- การบริการทางการแพทย์ ผู้พิการมีสิทธิรับการตรวจ การรักษาด้วยยา ด้วยการผ่าตัด การสังคมสงเคราะห์ การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็น การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ยังสามารถได้รับเครื่องช่วยสายตา (Visual Aids) ได้แก่ แว่นขยาย กล้อง Telescope กล้องขยายตามสมควรแต่ละบุคคล เป็นต้น
- บริการทางการศึกษารวมถึงการอ่านเขียนอักษรเบรลล์ (Braille) และหลักสูตรพิเศษสำหรับคนตาบอด
- การบริการทางอาชีพ ได้รับการแนะนำการฝึกอาชีพที่เหมาะสม เช่น พนักงานรับโทรศัพท์ นักดนตรี พนักงานพิมพ์ดีด และจัดหาสถานที่ทำงานให้ เป็นต้น
การป้องกันอาการตาบอด
อาการตาบอดอาจไม่มีสัญญาณเตือนหรือแสดงอาการใด ๆ และคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าสายตาที่บกพร่องนั้นเกิดจากความเสื่อมของดวงตาจากอายุที่มากขึ้น แต่จริง ๆ แล้วเกิดได้จากหลายสาเหตุ และอาการตาบอดมักเกิดจากสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ 80-90% หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเมื่อมีความผิดปกติที่ดวงตา และสามารถเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ การเข้ารับการตรวจตาเป็นประจำอาจช่วยให้แพทย์ตรวจพบความผิดปกติหรือสัญญาณการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ผู้ป่วยจึงได้รับการรักษาที่ทันเวลา และมีวิธีการป้องกันไม่ให้อาการทรุดลงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ จึงควรรีบพบแพทย์ทันทีเมื่อสงสัยหรือมีภาวะสูญเสียการมองเห็น เพราะอาจมีโอกาสในการฟื้นฟูการมองเห็นได้สูงขึ้น
กรณีของทารก ทารกอายุ 6-8 สัปดาห์มักมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้าทางสายตาได้ แต่หากบุตรหลานไม่สามารถตอบสนองต่อแสงสว่างหรือวัตถุที่มีสีสันในช่วงอายุ 2-3 เดือน ไม่สามารถมองตามวัตถุ หรือมีอาการและความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ตาเข ควรรีบนำตัวเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที แต่หากระหว่างนั้นทารกไม่มีความผิดปกติใด ๆ ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานเข้ารับการตรวจตากับแพทย์ได้เมื่ออายุครบ 6 เดือน
การป้องกันอื่น ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้แก่
- ผู้ที่มองเห็นไม่ชัดควรได้รับการประเมินวัดสายตาและแก้ไขปัญหาสายตาด้วยการสวมแว่น
- ควรมีการตรวจตาเป็นระยะ โดยเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยง เช่น อายุมากกว่า 40 ปี มีโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคเส้นเลือดสมอง โรคทางพันธุกรรมในครอบครัว ทารกคลอดก่อนกำหนด และตรวจติดตามตามคำแนะนำของจักษุแพทย์
- ผู้มีโรคเบาหวาน ควรเข้ารับการตรวจตาและวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม
- สวมแว่นตาป้องกันขณะทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่ดวงตา เช่น การเล่นกีฬา หรือการทำงานที่ต้องใช้สารเคมี ของมีคม ค้อน หรือเลื่อย เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา เพื่อให้ร่างกายได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี หรือสารลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งอาจช่วยป้องกันกระจกตาและจอประสาทตา
- งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการทำให้จอตาเสื่อม (Macular Degeneration)
- เลือกใช้คอนแทคเลนส์ หรือน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมและและไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอน
- ควรพักสายตาจากการทำงานหรือจ้องมองคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน
- ไม่ควรเอามือถูหรือขยี้ตาแรงๆ
- ส่งเสริมให้เด็กกินนมแม่หรือนมผสมที่มีวิตามินเออย่างเหมาะสม
- หากบุตรหลานมีอาการผิดปกติทางดวงตาและการมองเห็นควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์