ตาบอดสี (Color Blindness)

ความหมาย ตาบอดสี (Color Blindness)

ตาบอดสี (Color Blindness/Color Vision Deficiency) เป็นภาวะการมองไม่เห็นสีบางสี โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ อายุที่มากขึ้น หรือปัญหาสุขภาพ หากคุณมองไม่เห็นตัวเลขในภาพด้านล่างนี้ อาจสันนิษฐานได้ว่าคุณเป็นตาบอดสี

ตาบอดสีเป็นภาวะพบได้บ่อยในผู้ชายประมาณ 8% และพบในผู้หญิงได้ประมาณ 0.4% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสีที่คนมักเป็นตาบอดสี คือ สีเขียว เหลือง ส้ม และแดง แต่บางคนอาจมีภาวะตาบอดสีทุกสี (Achromatopsia) ซึ่งจะมองเห็นได้เพียงสีขาวและดำเท่านั้น แต่ภาวะนี้มักพบได้น้อยมาก

Color Blindness

อาการตาบอดสี

ภาวะตาบอดสีในแต่ละบุคคลอาจมีอาการแตกต่างกันออกไปตามชนิดของตาบอดสีที่เป็น แต่อาจจะสังเกตได้จากสัญญาณเตือนเหล่านี้

  • จดจำและแยกสีต่าง ๆ ได้ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนในการบอกสีที่เห็น เช่น แยกความต่างของสีเขียวและแดงไม่ได้ แต่สามารถแยกสีน้ำเงินและเหลืองได้ง่าย
  • สามารถมองเห็นสีได้หลากหลายสี แต่บางสีอาจมองเห็นต่างไปจากคนอื่น
  • มองเห็นเฉพาะบางโทนสีเท่านั้น ซึ่งต่างจากคนปกติที่จะสามารถมองเห็นสีได้มากกว่าร้อยสี
  • ในบางรายสามารถมองเห็นได้เฉพาะสีดำ ขาว และเทา แต่แทบไม่พบตาบอดสีประเภทนี้

อาการของภาวะตาบอดสีส่วนใหญ่สามารถพบได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก เนื่องจากเซลล์และเส้นประสาทในดวงตาและสมองจะถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่เกิด ผู้ปกครองอาจลองสังเกตบุตรหลานในเบื้องต้น หากพบเด็กที่มีอายุเกิน 4 ขวบเริ่มจดจำและบอกสีต่าง ๆ ไม่ถูกต้อง หรือเลือกสิ่งของที่มีสีต่างกันไม่ได้ อาจมีแนวโน้มเกิดภาวะตาบอดสีที่สูงมาก ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่แทบไม่รู้ว่าตนเองเกิดตาบอดสีขึ้น

สาเหตุของตาบอดสี

การมองเห็นสีของดวงตาจะต้องอาศัยเซลล์หลังจอตา 2 ชนิดเป็นส่วนสำคัญในการแยกสีที่เรามองเห็น ชนิดแรกคือเซลล์รูปแท่ง (Rod Cell) ที่มีความไวต่อการรับแสงแบบสลัว โดยใช้สำหรับการมองเห็นในเวลากลางคืน แต่สีที่มองเห็นจะเป็นสีในโทนดำ ขาว และเทาเท่านั้น

ส่วนอีกชนิดคือเซลล์รูปกรวย (Cone Cell) ซึ่งมีความไวในการรับแสงที่สว่างกว่าเซลล์รูปแท่ง และสามารถแยกแสงสีต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน โดยเซลล์นี้ยังสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย คือ เซลล์รูปกรวยชนิดที่ไวต่อแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน

ซึ่งในคนปกติจะมีเซลล์รูปกรวยครบทั้ง 3 ชนิดที่ไวต่อแสง แต่ละสีก็จะส่งสัญญาณไปยังสมองในการแยกสี และการผสมของแสงสีต่าง ๆ จากเซลล์นี้ จึงทำให้คนปกติสามารถมองเห็นสีได้หลายโทนสี

สำหรับคนที่มีปัญหาตาบอดสีอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้

กรรมพันธุ์ 

กรรมพันธุ์เป็นสาเหตุหลักของตาบอดสี บุคคลที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นตาบอดสีอาจส่งต่อพันธุกรรมไปยังรุ่นต่อไปโดยการถ่ายทอดผ่านยีนด้อยบนโครโมโซมเพศชนิดเอ็กซ์ (Chromosome X) ซึ่งยีนโครโมโซมเพศนี้จะมีหน้าที่ในการกำหนดเพศชายหรือเพศหญิง 

โดยโครโมโซมเพศชายจะเป็นเอ็กซ์วาย (Chromosome XY) และเพศหญิงเป็นเอ็กซ์เอ็กซ์ (Chromosome XX) เมื่อตาบอดสีเป็นการถ่ายทอดผ่านบนโครโมโซมเอ็กซ์ จึงทำให้สามารถพบตาบอดสีในเพศชายได้มากกว่าเพศหญิงในรุ่นลูก

ในขณะที่เพศหญิงอาจเป็นเพียงพาหะที่สามารถถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติไปสู่ลูกหลานได้แทน นอกจากนี้ยังอาจเกิดการถ่ายทอดทางพันธุกรรมข้ามรุ่นได้ เช่น ตาเป็นตาบอดสี แม่อาจเป็นพาหะ และพบตาบอดสีในหลานชายแทน

สาเหตุอื่น 

ในบางราย ตาบอดสีอาจเกิดได้จากสภาวะบางอย่างของร่างกาย เช่น

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ได้ตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น
  • โรคเกี่ยวกับด้านดวงตาหรือการบาดเจ็บบริเวณจอตา เช่น โรคต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม ต้อกระจก หรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา
  • โรคอื่น ๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคเบาหวาน หรือโรคพาร์กินสัน
  • ผลข้างเคียงของการใช้ยารักษาโรคบางชนิด    
  • การได้รับสารเคมีบางชนิดเป็นระยะเวลานาน เช่น คาร์บอนไดซัลไฟด์หรือสไตรีน ซึ่งอาจส่งผลต่อการสูญเสียการมองเห็นสี

การวินิจฉัยตาบอดสี

แพทย์หรือจักษุแพทย์จะวินิจฉัยผู้ป่วยโดยใช้แผ่นภาพทดสอบตาบอดสี เพื่อดูความสามารถในการแยกแยะสี ซึ่งรูปแบบแผ่นภาพที่ใช้ทดสอบมีอยู่หลากหลายประเภท แต่แผ่นทดสอบตาบอดสีที่นิยมใช้จะมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่

  • แผ่นภาพอิชิฮะระ (Ishihara) ในแต่ละภาพจะมีจุดสีที่ต่างกัน แพทย์จะให้ผู้ป่วยมองหาตัวเลขบนแผ่นภาพนั้น ๆ หากผู้ที่เป็นตาบอดสีจะไม่สามารถบอกตัวเลขจากภาพได้ถูกต้อง วิธีนี้สามารถคัดกรองผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่สามารถบอกได้ถึงระดับความรุนแรงของตาบอดสี
  • การเรียงเฉดสี (Color Arrangement) ผู้ป่วยจะต้องไล่เฉดสีที่กำหนดมาให้ โดยต้องไล่เฉดสีที่คล้ายกันให้อยู่ใกล้กันได้อย่างถูกต้อง หากผู้ป่วยเป็นตาบอดสีจะเกิดความสับสนในการเรียงสีให้ถูกต้อง

การรักษาตาบอดสี

ตาบอดสีที่เกิดจากกรรมพันธุ์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์หรือจักษุแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยสวมแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ที่มีเลนส์กรองแสงบางสีออกไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นสีได้ชัดขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นสีได้เหมือนคนปกติ

แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยตาบอดสีจากสภาวะหรือโรคประจำตัวอื่น ๆ อย่างโรคเบาหวานตา แพทย์จะรักษาจากสาเหตุหลักของโรค เพื่อช่วยให้อาการโดยรวมดีขึ้นและบรรเทาอาการแทรกซ้อนทางสายตาให้ดีขึ้นด้วย

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้เทคนิคการจดจำตำแหน่งหรือใช้ป้ายสัญลักษณ์แทนการใช้สีในบางกรณี เพื่อช่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น เช่น การจำตำแหน่งของไฟจราจรตามลำดับจากบนลงล่าง หรือการใช้ป้ายเขียนบอกสีไว้ที่เสื้อผ้า จะทำให้ผู้ป่วยสามารถเลือกสีเสื้อผ้าได้ง่ายขึ้น

สำหรับผู้ป่วยเด็กควรมีการแจ้งครูและโรงเรียนเกี่ยวกับปัญหาตาบอดสีของเด็ก เพื่อช่วยปรับสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กให้สามารถเรียนรู้ได้ใกล้เคียงกับเด็กที่มีสายตาปกติมากขึ้น รวมไปถึงบอกกับตัวเด็กและคนรอบข้างเองว่าเกิดภาวะตาบอดสีขึ้นและควรปรับตัวอย่างไร

ภาวะแทรกซ้อนของตาบอดสี

ตาบอดสีแทบไม่พบภาวะแทรกซ้อน แต่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงร้ายแรง โดยเฉพาะอาชีพในบางลักษณะที่ต้องอาศัยการแยกและจดจำสีในการทำงาน

ยกตัวอย่างเช่น พนักงานขับรถ นักบิน เจ้าหน้าที่ดับเพลิง แพทย์ พยาบาล ช่างเทคนิคในห้องปฏิบัติการประจำโรงพยาบาล เภสัชกร หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการถ่ายภาพ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในการเรียนรู้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก

การป้องกันตาบอดสี

ตาบอดสียังไม่สามารถป้องกันการเกิดได้อย่างเต็มที่ แต่สามารถเลี่ยงหรือลดโอกาสการเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยควรมีการตรวจคัดกรองตาบอดสีและทดสอบสายตาในเด็กอายุประมาณ 3–5 ขวบ หรือเด็กควรได้รับการตรวจสายตาอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนเข้าโรงเรียน 

บุคคลที่มีคนในครอบครัวเป็นตาบอดสีควรมีการตรวจสายตาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ควรไปปรึกษาจากแพทย์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะถ่ายทอดตาบอดสีไปสู่ลูกหลาน หรือเข้ารับการตรวจทางพันธุกรรมที่แพทย์อาจแนะนำเพิ่มเติม เพื่อประเมินความเสี่ยงการเกิดตาบอดสีในอนาคต

ผู้ที่ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับบุคคลที่เป็นตาบอดสีควรสังเกตความผิดปกติของสายตาตนเองเช่นกัน เนื่องจากตาบอดสีอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เมื่อสงสัยว่ามีปัญหาทางด้านสายตาหรือการมองเห็นสีที่ผิดปกติไป ควรรีบไปพบแพทย์หรือจักษุแพทย์ เพื่อค้นหาต้นเหตุความผิดปกติและรับการรักษาหรือแก้ไขอย่างถูกวิธี