ติ่งเนื้อสะดือทารก (Umbilical Granuloma)

ความหมาย ติ่งเนื้อสะดือทารก (Umbilical Granuloma)

Umbilical Granuloma หรือติ่งเนื้อสะดือทารก เป็นภาวะที่เกิดได้บ่อยในทารกแรกเกิด โดยจะพบว่ามีก้อนหรือติ่งเนื้อสีแดงชมพูยื่นออกมาจากฐานสะดือ แต่ปกติแล้วติ่งเนื้อดังกล่าวจะหลุดไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด 

แม้ว่า Umbilical Granuloma จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่ควรพาเด็กส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจหาความผิดปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยแพทย์จะช่วยให้คำแนะนำในการดูแลอย่างเหมาะสม

Umbilical Granuloma

อาการของ Umbilical Granuloma

Umbilical Granuloma มักเป็นอาการผิดปกติที่พบได้ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด โดยบริเวณสะดือจะเกิดตุ่มนูนสีแดงหรือชมพู มีลักษณะนิ่ม ขนาดประมาณ 3–10 มิลลิเมตร และอาจมีของเหลวใสหรือเลือดไหลออกจากสะดือของเด็ก หากสังเกตเห็นความผิดปกติเหล่านี้ ควรพาเด็กไปพบแพทย์ 

อย่างไรก็ตาม ควรนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดหากพบว่ามีของเหลวกลิ่นเหม็นสีเหลือง สีน้ำตาล หรือเลือดไหลออกมาจากตุ่มนูนสะดือของเด็กปริมาณมาก หรือเด็กร้องไห้เมื่อสัมผัสสะดือหรือบริเวณใกล้เคียง 

สาเหตุของ Umbilical Granuloma

สาเหตุของการเกิด Umbilical Granuloma ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดกันว่าอาจเกิดจากขั้วสายสะดือของเด็กหลุดแล้วร่างกายของเด็กไม่สามารถสมานแผลได้ตามปกติ สายสะดือหลุดจากสะดือช้ากว่าปกติ หรือความชื้นในบริเวณดังกล่าวที่มากเกินไป ซึ่งปกติแล้วขั้วสายสะดือของเด็กจะหลุดออกไปเองภายใน 1–3 สัปดาห์หลังคลอด และแผลบริเวณดังกล่าวจะดีขึ้นและหายไปเอง

การวินิจฉัย Umbilical Granuloma

แพทย์จะตรวจร่างกายทารกเพื่อสังเกตสะดือของเด็กที่มีติ่งเนื้อยื่นออกมา โดยจะดูลักษณะ สี หรือรูปทรงของติ่งเนื้อว่าคล้ายกับ Umbilical Granuloma หรือไม่ และอาจตรวจด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ การเอกซเรย์  การทำซีที สแกน (CT Scan) และการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากที่สุด

การรักษา Umbilical Granuloma

แพทย์จะรักษา Umbilical Granuloma ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

การรักษาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อซิลเวอร์ไนเตรท (Silver Nitrate) 

 

แพทย์จะทาน้ำยาฆ่าเชื้อซิลเวอร์ไนเตรทลงบนบริเวณสะดือของเด็ก และปล่อยให้น้ำยากัดเนื้อเยื่อในบริเวณดังกล่าว วิธีนี้จะไม่ทำให้เด็กรู้สึกเจ็บเนื่องจากติ่งเนื้อในบริเวณที่ทาน้ำยาจะไม่มีเส้นประสาทอยู่

การรักษาด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid Nitrogen) 

การรักษาด้วยไนโตรเจนเหลวเป็นวิธีที่ใช้เมื่อผู้ป่วยรักษาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อซิลเวอร์ไนเตรทแล้วไม่ได้ผล โดยแพทย์จะใช้ไนโตรเจนเหลวที่มีความเย็นจัดจี้ที่ติ่งเนื้อ ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวแข็งตัวอย่างรวดเร็วและหลุดออกเอง

การเย็บมัดติ่งเนื้อ 

 

วิธีนี้จะทำให้เลือดไม่ไหลเวียนไปยังบริเวณที่เกิดติ่งเนื้อ ทำให้ติ่งเนื้อแห้งและหายไปเอง

การรักษาด้วยเกลือ 

 

เป็นการใช้เกลือเป็นตัวดูดซับของเหลวบริเวณติ่งเนื้อจนแห้งไปเอง โดยเริ่มจากล้างมือให้สะอาดหรือใส่ถุงมือ ใช้สำลีเช็ดทำความสะอาดสะดือด้วยน้ำอุ่น โรยเกลือลงบนติ่งเนื้อเพียงเล็กน้อยแล้วปิดด้วยผ้าก็อซทิ้งไว้เป็นเวลา 10–30 นาที จากนั้นทำความสะอาดด้วยน้ำต้มสุก ทำซ้ำ 2 ครั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 2 วัน

คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ที่ดูแลทารกจะต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนเริ่มการใช้เกลือในการรักษา เพื่อให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสม และวิธีสังเกตแผลว่ามีอาการดีขึ้นหรือไม่ 

การผ่าตัด 

 

ในกรณีที่ติ่งเนื้อเกิดการติดเชื้อ แพทย์จะผ่าตัดนำติ่งเนื้อออกโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังบริเวณอื่น ๆ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยให้หายได้อย่างรวดเร็ว 

ภาวะแทรกซ้อนของ Umbilical Granuloma

ทารกที่มี Umbilical Granuloma อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในบริเวณสะดือได้ โดยสัญญาณของการติดเชื้อจะสังเกตได้จากทารกมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ผิวรอบติ่งเนื้อมีผื่น บวมหรือเป็นรอยแดง มีเลือดไหลออกออกมาจากบริเวณรอบ ๆ ติ่งเนื้อ มีของเหลวกลิ่นเหม็นไหลจากสะดือ และเจ็บเมื่อสัมผัสสะดือหรือรอบ ๆ สะดือ

การป้องกัน Umbilical Granuloma

Umbilical Granuloma เป็นความผิดปกติที่ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุของการเกิดที่แน่ชัด แต่คุณพ่อคุณแม่และผู้ที่ดูแลทารกสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการทำความสะอาดในบริเวณที่เกิด Umbilical Granuloma อย่างสม่ำเสมอโดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดเบา ๆ หรือปรึกษาแพทย์เพื่อให้ทารกได้รับการดูแลที่ถูกต้องและเหมาะสม