ความหมาย ต่อมน้ำลายอุดตัน (Mucocele)
ต่อมน้ำลายอุดตัน (Mucocele) เป็นภาวะที่ท่อน้ำลายเกิดความเสียหายหรือเกิดการอุดตันจนเกิดเป็นตุ่มบวม มักจะเกิดบริเวณใกล้ริมฝีปาก แต่ในบางกรณีก็อาจเกิดขึ้นที่บริเวณอื่นภายในช่องปากได้เช่นกัน เช่น เหงือก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น หรือใต้ลิ้น
ปกติแล้วภาวะต่อมน้ำลายอุดตันหรือตุ่มบวมที่เกิดขึ้นมักไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บหรือเป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกายนอกจากสร้างความรำคาญหรือทำให้ใช้ชีวิตประจำวันลำบากเท่านั้น โดยอาการมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เอง
อาการของต่อมน้ำลายอุดตัน
ผู้ที่มีภาวะต่อมน้ำลายอุดตันจะพบตุ่มบวมขนาดแตกต่างกันออกไป โดยตุ่มบวมอาจมีขนาดประมาณ 1–15 มิลลิเมตร เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อภายในช่องปาก อย่างบริเวณใกล้ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น หรือใต้ลิ้น โดยลักษณะหรืออาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความลึกของท่อน้ำลายที่เกิดความเสียหายหรือเกิดการอุดตัน เช่น
- หากเกิดบริเวณผิวหนังด้านบนหรือผิวหนังชั้นนอก รอยตุ่มบวมอาจจะมีลักษณะเป็นสีออกม่วง น้ำเงิน หรือในบางกรณีอาจเป็นสีขาว และอาจขรุขระหรือเป็นสะเก็ดหากตุ่มแผลโดนสัมผัสบ่อยครั้ง
- หากเกิดบริเวณลึกลงไปในชั้นผิวหนัง รอยตุ่มบวมจะมีลักษณะเป็นสีออกแดง ชมพู คล้ายสีเนื้อเยื่อปากปกติ
นอกจากนี้ ในกรณีที่ภายในรอยตุ่มบวมเกิดเลือดออก รอยตุ่มบวมอาจเปลี่ยนเป็นสีแดงสดคล้ายกับโรคฮีแมงจิโอมา (Hemangioma)
ทั้งนี้ ผู้ที่มีลักษณะอาการของภาวะต่อมน้ำลายอุดตันควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งช่องปากหรือโรคอื่น ๆ ที่รุนแรงได้เช่นกัน
สาเหตุของต่อมน้ำลายอุดตัน
ภาวะต่อมน้ำลายอุดตันเป็นภาวะที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การกัดเนื้อเยื่อภายในปากเป็นประจำ โดยสาเหตุนี้เป็นกรณีที่พบได้บ่อย
- ต่อมน้ำลายเกิดความเสียหาย โดยมักเกิดจากการกระทบกระเทือนบริเวณใบหน้า ส่งผลให้ต่อมน้ำลายเกิดอาการอักเสบ บวม และมีเยื่อเมือกสะสม
- การเจาะปาก อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อภายในช่องปาก และนำไปสู่การเกิดต่อมน้ำลายอุดตัน
- การขาดสุขอนามัยที่ดีในช่องปาก อาจทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปากและเกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดการอุดตันของต่อมน้ำลาย จนเกิดภาวะต่อมน้ำลายอุดตันหรือตุ่มบวมได้
การวินิจฉัยต่อมน้ำลายอุดตัน
ในการวินิจฉัยภาวะต่อมน้ำลายอุดตัน โดยส่วนใหญ่แพทย์มักเพียงตรวจดูลักษณะของรอยโรคก็สามารถวินิจฉัยได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีตรวจอื่น ๆ ทางการแพทย์ หรืออาจเพียงสอบถามประวัติบางอย่างของผู้ป่วยเท่านั้น เช่น ผู้ป่วยมีพฤติกรรมกัดริมฝีปากบ่อย ๆ หรือได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณใบหน้าหรือไม่
ในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม เพื่อผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ เช่น
- การตัดเนื้อเยื่อตัวอย่างไปตรวจ (Biopsy) หากเห็นว่ารอยตุ่มบวมของผู้ป่วยอาจเป็นอาการของโรคอื่นหรือมีขนาดใหญ่ผิดปกติ แพทย์อาจพิจารณาตัดเนื้อเยื่อตัวอย่างไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ
- อัลตราซาวด์ (Ultrasound) แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการตรวจด้วยอัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูความผิดปกติภายในตุ่มบวม
- ซีที สแกนหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ของรอยตุ่มบวม
การรักษาต่อมน้ำลายอุดตัน
แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาภาวะต่อมน้ำลายอุดตันแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมและความรุนแรงของอาการ ในกรณีที่รอยตุ่มบวมมีขนาดเล็ก เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังด้านบน แพทย์อาจไม่จำเป็นต้องรักษาเนื่องจากอาการมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เอง โดยแพทย์อาจเพียงแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือแกะแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อเท่านั้น
ส่วนในกรณีที่แพทย์เห็นว่ามีความรุนแรง เช่น รอยตุ่มบวมกลับมาเกิดซ้ำบ่อย รอยตุ่มบวมมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือรอยตุ่มบวมเกิดในบริเวณลึกลงไปในชั้นผิวหนัง แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การผ่าตัดหรือใช้เลเซอร์เพื่อกำจัดต่อมน้ำลายออก การใช้ความเย็นเพื่อทำให้รอยตุ่มบวมแข็งและกำจัดออก (Cryotherapy) และการผ่าตัดเปิดออก (Marsupialization) เพื่อช่วยลำเลียงน้ำลายออกจากต่อมน้ำลาย
ภาวะแทรกซ้อนของต่อมน้ำลายอุดตัน
ผู้ป่วยภาวะต่อมน้ำลายอุดตันมักไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดนอกจากการเกิดตุ่มบวมซ้ำ หรืออาการเจ็บบริเวณแผลและเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงภายหลังการรักษา
การป้องกันต่อมน้ำลายอุดตัน
การป้องกันภาวะต่อมน้ำลายอุดตันอาจทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการกัดริมฝีปาก ระมัดระวังและสวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการถูกกระทบเทือนบริเวณใบหน้า รักษาความสะอาดภายในช่องปากอยู่เสมอ และในกรณีที่ต้องการเจาะปาก ควรเลือกสถานที่ที่สะอาดและมีผู้เชี่ยวชาญดูแล