ความหมาย ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia)
ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) เป็นโรคที่เกิดขึ้นในเพศชายเท่านั้น ซึ่งพบได้บ่อยในเพศชายที่สูงวัย โดยต่อมลูกหมากจะโตขึ้นผิดปกติจนไปรบกวนระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัดหรือเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งหากภาวะนี้ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะ และไตได้ในอนาคต
ต่อมลูกหมากมีรูปร่างคล้ายผลวอลนัท อยู่ภายในระบบสืบพันธุ์ของเพศชายบริเวณด้านหน้าของทวารหนัก ระหว่างกระเพาะปัสสาวะและอวัยวะเพศชาย ต่อมลูกหมากจะทำหน้าที่ในการสร้างของเหลวที่คอยหล่อเลี้ยงอสุจิ หากต่อมลูกหมากโตผิดปกติ นอกจากจะส่งผลให้ระบบทางเดินปัสสาวะติดขัดแล้ว ยังส่งผลให้อสุจิที่ถูกหลั่งออกมาไหลกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้อีกด้วย
อาการต่อมลูกหมากโต
อาการต่อมลูกหมากโตมีสาเหตุมาจากขนาดของต่อมลูกหมากใหญ่ขึ้นจนทำให้เกิดแรงดันที่กระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ซึ่งส่งผลกระทบกับการปัสสาวะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น
- ปัสสาวะลำบาก
- มีปัญหาเรื่องการไหลของปัสสาวะ
- ปัสสาวะน้อยและปัสสาวะไม่สุด
- ตื่นบ่อยเนื่องจากการปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะเล็ดเนื่องจากไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้
นอกจากนี้ โรคต่อมลูกหมากโตยังอาจเป็นสาเหตุของการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ หรือการเกิดความเสียหายของไตได้ด้วย หากมีอาการข้างต้นร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดบริเวณสีข้าง หลัง หรือท้อง รวมถึงปัสสาวะมีหนองหรือมีเลือดปน ควรรีบไปพบแพทย์
สาเหตุของต่อมลูกหมากโต
สาเหตุของการเกิดโรคต่อมลูกหมากโตยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามวัยในเพศชาย การเปลี่ยนแปลงของสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย รวมถึงอาจเกิดจากพันธุกรรม โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีอาการค่อนข้างรุนแรงจนต้องรักษาโดยผ่าตัด
นอกจากนี้ ผู้ที่อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่อมลูกหมากโตได้มากกว่าคนอื่น ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก และผู้ที่มีความผิดปกติของอัณฑะ
การวินิจฉัยต่อมลูกหมากโต
การวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโตในเบื้องต้น แพทย์จะตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าอาการผิดเกี่ยวกับการปัสสาวะที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากโรคต่อมลูกหมากโตหรือเกิดจากปัญหาอื่น ๆ ด้วยการสอบถามประวัติสุขภาพโดยเน้นไปที่ระบบทางเดินปัสสาวะ และตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
- การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) เพื่อดูว่าเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่
- การตรวจค่าครีเอทินินในเลือด (Blood Creatinine Test) เพื่อดูการทำงานของไตว่ายังทำงานได้ปกติดีหรือไม่
- การตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam: DRE) โดยการสอดนิ้วเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจดูขนาดและความผิดปกติของต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นการวินิจฉัยโรคเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถวินิจฉัยความรุนแรงของโรคได้
- การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate-Specific Antigen: PSA) เพื่อดูว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากโรคต่อมลูกหมากโตหรือโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากทั้ง 2 โรคมีอาการคล้ายกัน
นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถวินิจฉัยอาการของโรคต่อมลูกหมากโตได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เช่น ตรวจปริมาณปัสสาวะที่คงเหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะหลังจากที่ปัสสาวะแล้ว โดยจะใช้การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือใช้สายสวนปัสสาวะ ตรวจความแรงและปริมาณการไหลของปัสสาวะ รวมถึงจดบันทึกปริมาณและความถี่ในการปัสสาวะในเวลา 24 ชั่วโมงด้วย
ส่วนในกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนหรือมีภาวะแทรกซ้อนของโรคต่อมลูกหมากโต แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้การตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
- การตรวจอัลตราซาวด์ทางทวารหนัก (Transrectal Ultrasound) เพื่อตรวจดูขนาดและโครงสร้างของไต กระเพาะปัสสาวะ และต่อมลูกหมาก
- การเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมาก (Prostate Biopsy) เพื่อให้สามารถระบุได้ว่าการที่ต่อมลูกหมากโตนั้นเกิดขึ้นจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือเกิดจากสาเหตุอื่น
- การตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เพื่อตรวจท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะในกรณีที่ขนาดของต่อมลูกหมากโตขึ้นจนอาจไปขัดขวางทางเดินปัสสาวะ
- การตรวจความดันภายในกระเพาะปัสสาวะขณะปัสสาวะ เพื่อให้สามารถระบุได้ว่าปัญหาการปัสสาวะลำบากเกิดจากโรคต่อมลูกหมากโตหรือเกิดจากปัญหาอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะและระบบประสาทที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะ
- การตรวจด้วยการฉีดสี (Intravenous Pyelogram: IVP) เพื่อตรวจการทำงานของไตและการไหลเวียนของปัสสาวะจากไตไปยังกระเพาะปัสสาวะ
การรักษาต่อมลูกหมากโต
การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตมีหลายวิธีการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การใช้ยารักษา การผ่าตัด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตในกรณีโรคไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยมากนัก หรือแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาหลายวิธีควบคู่กันไปก็ได้เช่นกัน โดยตัวอย่างการรักษามีดังนี้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตที่มีอาการไม่รุนแรงมาก อาจรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้
- ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอย่างน้อย 1–2 ชั่วโมงก่อนเวลาเข้านอน เพื่อช่วยลดอาการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน แต่ไม่ควรอดหรือลดปริมาณการดื่มน้ำในแต่ละวัน
- ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะและทำให้อาการของโรคแย่ลง
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดน้ำมูกหรือยาแก้แพ้ เพราะอาจทำให้ปัสสาวะได้ลำบาก เนื่องจากตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณท่อปัสสาวะที่ควบคุมการไหลของปัสสาวะหดตัวลง
- ไม่ควรอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเกิดความเสียหาย โดยอาจฝึกเข้าห้องทุก 4–6 ชั่วโมงให้ติดเป็นนิสัย
- ควรกำหนดเวลาในการรับประทานยาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน
- ควรออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างน้อยวันละ 30–60 นาที เพื่อช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น
- ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และควบคุมน้ำหนัก เพราะโรคอ้วนอาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดโรคต่อมลูกหมากโตที่เพิ่มมากขึ้น
การใช้ยา
การรักษาด้วยยาเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แพทย์ใช้ในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตที่ไม่รุนแรง ซึ่งบางครั้งแพทย์อาจใช้ยาหลายชนิดในการรักษาร่วมกัน เพื่อช่วยลดอาการในกรณีที่ใช้ยาชนิดเดียวรักษาไม่ได้ผล ตัวอย่างยาที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษามีดังนี้
- ยาในกลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha Blockers) เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณคอของกระเพาะปัสสาวะ คลายเส้นใยกล้ามเนื้อในต่อมลูกหมาก และช่วยให้สามารถปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
- ยาในกลุ่ม 5 แอลฟา รีดักเตส อินฮิบิเตอร์ (5 Alpha Reductase Inhibitor) เพื่อช่วยให้ต่อมลูกหมากหดตัว และช่วยลดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ทำให้ต่อมลูกหมากขยายตัวด้วย
- ยาทาดาลาฟิล (Tadalafil) เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และช่วยรักษาโรคต่อมลูกหมากโต แต่ยาชนิดนี้มักจะถูกใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเท่านั้น
การผ่าตัด
การผ่าตัดมักใช้ในกรณีที่ตัวโรคมีความรุนแรง รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มีปัญหาเกี่ยวกับไต โดยการผ่าตัดที่นิยมใช้คือการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อขูดต่อมลูกหมาก (Transurethral Resection of the Prostate: TURP) เป็นวิธีที่ช่วยรักษาอาการได้อย่างรวดเร็ว แต่หลังจากผ่าตัดผู้ป่วยต้องใส่ท่อระบายปัสสาวะชั่วคราว และลดการทำกิจกรรมหนัก ๆ ลงจนกว่าจะหายดี
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาแบบอื่น ๆ ที่จะใช้ในผู้ป่วยที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดรักษาโรคต่อมลูกหมากโต แต่อาจมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงกว่าได้แก่
- การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อขยายท่อปัสสาวะ (Transurethral Incision of the Prostate: TUIP) เป็นการผ่าตัดส่องกล้องและกรีดบริเวณต่อมลูกหมากให้เป็นรอยเล็ก ๆ ประมาณ 1–2 รอย เพื่อช่วยให้สามารถปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
- การผ่าตัดด้วยการใช้คลื่นไมโครเวฟ (Transurethral Microwave Thermotherapy: TUMT) เป็นการใช้อุปกรณ์พิเศษสอดเข้าไปในท่อปัสสาวะ แล้วใช้คลื่นไมโครเวฟในการกำจัดเนื้อเยื่อบางส่วนของต่อมลูกหมากออก เพื่อช่วยให้สามารถปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
- การผ่าตัดส่องกล้องด้วยเข็ม (Transurethral Needle Ablation: TUNA) เป็นการสอดกล้องเข้าไปในท่อปัสสาวะและสอดเข็มเข้าไปในต่อมลูกหมาก จากนั้นจะปล่อยคลื่นวิทยุไปที่เข็มเพื่อให้ความร้อนจากคลื่นวิทยุทำลายเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากที่ขัดขวางการไหลเวียนของปัสสาวะ
- การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser Therapy) เป็นการรักษาด้วยรังสีพลังงานสูงที่สามารถช่วยกำจัดเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากที่เกิดขึ้นมากผิดปกติได้ วิธีนี้เป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่นและเสียเลือดน้อยกว่าด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีเงื่อนไขสุขภาพบางอย่างไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ เช่น ผู้ที่มีอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะตีบ (Urethral Stricture) ผู้ที่เคยมีประวัติการรักษาโรคต่อมลูกหมากด้วยรังสีหรือเคยผ่าตัดทางเดินปัสสาวะ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทอย่างโรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) ด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของต่อมลูกหมากโต
ภาวะแทรกซ้อนของโรคต่อมลูกหมากโตสามารถเกิดขึ้นได้หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า หรือการรักษาที่ไม่เหมาะสม โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เกิดความเสียหายของกระเพาะปัสสาวะ หรือเกิดการติดเชื้อที่ไต
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตโดยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีอาการของภาวะแทรกซ้อน และไม่ได้เกิดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น แต่อาการปัสสาวะไม่ออกอย่างเฉียบพลันหรืออาการไตเสียหายก็สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงได้เช่นกัน
วิธีป้องกันต่อมลูกหมากโต
ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันโรคต่อมลูกหมากโตได้อย่างถาวร ดังนั้น วิธีป้องกันโรคที่เหมาะสมที่สุดคือเพศชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี รวมถึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ และรีบไปพบแพทย์หากมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะกะปริบปะปรอย รู้สึกเจ็บเวลาปัสสาวะ หรือปัสสาวะเป็นเลือดเกิดขึ้น
และแม้ว่าผู้ป่วยบางคนจะเคยได้รับการผ่าตัดรักษาโรคต่อมลูกหมากโตมาแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอยู่ เพราะในการผ่าตัดเป็นแค่การนำบางส่วนของต่อมลูกหมากออกไปเท่านั้น ดังนั้น ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตแล้วควรมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำด้วย