ต้อกระจก

ความหมาย ต้อกระจก

ต้อกระจก (Cataracts) เป็นโรคผิดปกติทางดวงตาชนิดหนึ่งที่เกิดจากการที่เลนส์ตามีความขุ่นมัวจนกระทบต่อการมองเห็น เช่น มองเห็นภาพเบลอ ภาพซ้อน หรือมองเห็นภาพเป็นสีเหลืองจาง แต่มักไม่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหรืออาการระคายเคืองใด ๆ ทางดวงตา

ต้อกระจกอาจเกิดขึ้นได้กับดวงตาทั้งสองข้างพร้อมกัน หรือเกิดขึ้นกับดวงตาเพียงข้างใดข้างหนึ่ง แต่ไม่สามารถแพร่กระจายจากดวงตาข้างใดข้างหนึ่งไปยังดวงตาอีกข้างได้

ต้อกระจก

อาการของโรคต้อกระจก

โรคต้อกระจกเป็นโรคที่จะค่อย ๆ แสดงอาการในช่วงระยะเวลาหลายปี ในช่วงแรกมักยังไม่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ที่เป็นโรคต้อกระจกมักพบอาการในลักษณะต่อไปนี้

  • มองเห็นได้ไม่ชัดเจน ภาพเบลอ หรือพร่ามัว 
  • ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา
  • ดวงตามองเห็นในที่ที่มีแสงสลัวได้ดีกว่าแสงจ้า แพ้แสงจ้า
  • มองเห็นเป็นภาพซ้อน 
  • มองภาพเป็นสีเหลืองหรือสีซีดจางลง
  • มองเห็นเป็นวงแหวนรอบแสงไฟหรือหลอดไฟ
  • ผู้ป่วยอาจเข้าใจว่าความพร่ามัวเกิดจากระดับสายตาที่มีปัญหา เช่น สายตาสั้น และนำไปสู่การเปลี่ยนแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์บ่อย ๆ

สาเหตุของโรคต้อกระจก

โดยปกติเลนส์ตาของคนเราจะมีลักษณะใส และประกอบไปด้วยน้ำและโปรตีนเป็นส่วนมาก ซึ่งโปรตีนเหล่านี้จะเรียงตัวเป็นระเบียบเพื่อให้แสงสามารถผ่านเข้าสู่เลนส์ได้ แต่ด้วยปัจจัยบางอย่างทำให้เกิดการสะสมของโปรตีนเป็นกลุ่มในเลนส์ตาจนส่งผลให้เลนส์ตาขุ่นมัวขึ้นเรื่อย ๆ โดยสาเหตุที่อาจเกี่ยวข้อง ได้แก่

ต้อกระจกในวัยสูงอายุ (Age–related cataract) 

อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต้อกระจกที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากระบบโครงสร้างของกระจกตามักเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา

ต้อกระจกแต่กำเนิด (Congenital cataract) 

ทารกสามารถเป็นต้อกระจกได้ตั้งแต่แรกเกิด สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม การติดเชื้อ การได้รับอันตรายหรือมีพัฒนาการระหว่างอยู่ในครรภ์ไม่ดี โดยทารกที่มักพบว่าเป็นต้อกระจกแต่กำเนิด ได้แก่ ทารกที่มีภาวะกาแล็กโทซีเมีย โรคหัดเยอรมัน โรคท้าวแสนปมชนิดที่ 2 

นอกจากนี้ เด็กเล็กบางคนอาจแสดงอาการในภายหลัง โดยมักเป็นทั้งสองข้าง บางครั้งต้อกระจกอาจเล็กมากจนไม่ส่งผลต่อการมองเห็น แต่เมื่อพบว่ามีผลกระทบต่อการมองเห็นจึงจะผ่าออก

ต้อกระจกทุติยภูมิ (Secondary cataract) 

การผ่าตัดรักษาโรคตาชนิดอื่นอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อกระจกตามมาได้ เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ ตาอักเสบ นอกจากนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือภาวะความดันโลหิตสูง หรือการได้รับยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะบางตัว ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคต้อกระจกได้ง่ายด้วย

ต้อกระจกจากการได้รับบาดเจ็บ (Traumatic cataract) 

อุบัติเหตุที่กระทบต่อดวงตา ทั้งที่ต้องผ่าตัดและไม่ผ่าตัดดวงตา สามารถนำไปสู่การเกิดต้อกระจกภายหลังได้เช่นกัน

นอกจากนี้ โรคต้อกระจกอาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น บุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยโรคนี้ รับประทานอาหารที่มีวิตามินไม่ครบถ้วน ต้องเผชิญแสงแดดเป็นเวลานานในชีวิตประจำวัน การสูบบุหรี่ หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ

การวินิจฉัยโรคต้อกระจก

แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย จากนั้นจะใช้วิธีการตรวจต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจวัดสายตา (Visual acuity test) การวัดความสามารถการมองเห็นในระยะต่าง ๆ โดยให้อ่านชุดตัวอักษร เมื่อทดสอบตาข้างหนึ่ง อีกข้างจะถูกปิดไว้ วิธีนี้เป็นการประเมินว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติทางสายตาหรือไม่
  • การทดสอบโดยขยายรูม่านตา (Retinal eye exam) แพทย์จะหยดยาลงที่ตาเพื่อให้รูม่านตาเปิดกว้างขึ้น แล้วใช้เลนส์ขยายแบบพิเศษตรวจดูจอประสาทตาและเส้นประสาทตาเพื่อหาความผิดปกติของตา โดยหลังการตรวจนี้ ดวงตาของผู้ป่วยจะมองเห็นในระยะใกล้พร่ามัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง
  • การตรวจโดยใช้กล้องจักษุจุลทรรศน์ชนิดลำแสงแคบ (Slit lamp examination) เป็นการใช้กล้องที่มีความเข้มของลำแสงสูงและบางพอที่จะส่องกระจกตา ม่านตา เลนส์ตา รวมถึงพื้นที่ว่างระหว่างม่านตาและกระจกตา ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างที่เป็นส่วนเล็กได้อย่างสะดวก

การรักษาโรคต้อกระจก

ในช่วงแรก ๆ ที่อาการยังไม่รุนแรง แพทย์อาจเพียงแนะนำให้ตัดแว่นสายตา สวมแว่นกันแดดกันแสงสะท้อน หรืออาจใช้เลนส์ขยายเพื่อบรรเทาอาการ แต่หากอาการจากโรคต้อกระจกเริ่มกระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน แพทย์จะแนะนำการรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก โดยมีขั้นตอนต่อไปนี้

ก่อนการผ่าตัดต้อกระจก

การผ่าตัดต้อกระจกขึ้นอยู่กับการตัดสินใจทั้งของผู้ป่วยและแพทย์ผู้ดูแลร่วมกัน การผ่าตัดต้อกระจกไม่จำเป็นต้องรีบร้อน เนื่องจากการเลื่อนการผ่าตัดไม่ได้ส่งผลต่อการมองเห็น แต่ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นต้อกระจกอาจมีอาการทรุดลงได้เร็วกว่าผู้ป่วยทั่วไป

กรณีที่ผู้ป่วยต้องผ่าตัดต้อกระจกทั้งสองข้าง แพทย์จะผ่าตัดทีละข้างเนื่องจากต้องรอให้ดวงตาข้างแรกที่ผ่าตัดหายดีเสียก่อนแล้วจึงจะผ่าตัดอีกข้างหนึ่งได้ 

โดยก่อนการผ่าตัด 1–2 อาทิตย์ แพทย์จะให้ผู้ป่วยทำแบบทดสอบต่าง ๆ เช่น วัดความโค้งกระจกตา ขนาดของดวงตา และระดับของสายตา เพื่อเลือกเลนส์แก้วตาเทียม (Intraocular lens: IOL) ที่เหมาะสมกับดวงตาของผู้ป่วย และผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องงดรับประทานอาหาร 12 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด

ระหว่างการผ่าตัดต้อกระจก

แพทย์จะใช้ยาชาบริเวณรอบดวงตา และหยดยาเพื่อเปิดม่านตาให้กว้าง จากนั้นจะล้างทำความสะอาดบริเวณโดยรอบ ก่อนจะนำเอาเลนส์แก้วตาที่มัวออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทนที่แก้วตาเดิม

การผ่าตัดต้อกระจกใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เมื่อเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเรียบร้อย แพทย์จะเฝ้าดูว่ามีภาวะเลือดออกหรือปัญหาใด ๆ หรือไม่ หากไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องพักที่โรงพยาบาล

หลังผ่าตัด

ผู้ป่วยอาจมีอาการคันหรือรู้สึกไม่สบายหลังการผ่าตัด มีอาการน้ำตาไหล ดวงตาไวต่อแสงและสัมผัส ซึ่งผู้ป่วยต้องระวังอย่าก้มลงหยิบสิ่งของบนพื้นหรือยกของหนัก และคอยรักษาความสะอาดที่ดวงตา โดยให้ล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสดวงตา ใช้ผ้าปิดตาหรือสวมแว่นตาเพื่อป้องกันดวงตา และไม่ถูหรือกดบริเวณตาข้างที่ผ่าตัด

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามแพทย์แนะนำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น และใช้น้ำตาเทียมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่วง 2–3 สัปดาห์หลังผ่าตัด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะดีขึ้นและหายดีภายใน 8 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่แพทย์อาจนัดผู้ป่วยไปตรวจดูอาการเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การผ่าตัดต้อกระจกเป็นการรักษาที่ต้องใช้เวลา โดยการมองเห็นหลังการผ่าตัดจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนเป็นปกติ แต่หากผู้ป่วยมีโรคตาชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น จอประสาทตาเสื่อม การมองเห็นของผู้ป่วยอาจจะไม่ดีขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์

ภาวะแทรกซ้อนของการรักษาโรคต้อกระจก

ผู้ป่วยโรคต้อกระจกที่ไม่ได้รับการรักษาอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เลนส์ตาบวม ต้อหินทุติยภูมิ ไปจนถึงภาวะสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอด 

นอกจากตัวโรคเองแล้ว ภาวะแทรกซ้อนก็อาจเกิดจากการผ่าตัดต้อกระจกได้เช่นกัน แต่มีโอกาสเกิดได้น้อย โดยผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงคือ ผู้ที่มีภาวะม่านตาอักเสบ สายตาสั้นขั้นรุนแรง มีภาวะเบาหวานขึ้นจอตา มีปัญหาในการนอนราบ มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หรือกำลังรับประทานยารักษาโรคต่อมลูกหมากอยู่ 

ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ภาวะถุงเลนส์ตาขุ่นหลังผ่าตัดต้อกระจก (Posterior capsule opacification: PCO) ที่ส่งผลให้การมองเห็นพร่ามัว ซึ่งผู้ป่วยอาจเข้าใจว่าเป็นอาการต้อกระจกที่ยังไม่หายไป อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้พบได้น้อย และรักษาได้ด้วยการใช้เลเซอร์ผ่าตัดตา ซึ่งอาการจะดีขึ้นได้ภายใน 2–3 วันโดยไม่ทิ้งร่องรอยบาดแผลใด ๆ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางคนอาจมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงจากการผ่าตัด เช่น อาการบวมแดงในตา บวมที่จอประสาทตาและกระจกตา จอประสาทตาแยกตัวจากผนังด้านในของดวงตาทำให้เกิดจอตาหลุดลอก เลือดออกในตา หรือดวงตาติดเชื้อ หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บ บวมแดง มองไม่เห็น หรือการมองเห็นผิดปกติหลังกลับมารักษาตัวที่บ้าน ควรไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ แพทย์อาจพบปัญหาระหว่างการผ่าตัด ได้แก่ การไม่สามารถนำเอาต้อกระจกออกจนหมด เปลือกหุ้มเลนส์ตาเกิดฉีกขาด มีเลือดออกในดวงตา ต้อกระจกตกหล่นไปที่บริเวณหลังตา หรืออันตรายต่อกระจกตาหรือดวงตาบริเวณอื่น  

อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต้อกระจกมักรักษาได้ด้วยการใช้ยาหรือผ่าตัดเพิ่มเติม ซึ่งมีโอกาสหายเป็นปกติได้สูง และมีโอกาสน้อยมากที่การผ่าตัดจะเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

การป้องกันโรคต้อกระจก

การป้องกันโรคต้อกระจกทำได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันหรือลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดโดยตรงด้วยการสวมหมวกมีปีกหรือแว่นกันแดด เพื่อป้องกันอันตรายต่อดวงตาจากแสงยูวี
  • จัดสรรเวลานอนให้เพียงพอ โดยควรนอนให้ครบ 6 ชั่วโมงในแต่ละวัน
  • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากมีงานการวิจัยในปัจจุบันหลายชิ้นที่ชี้ชัดว่าผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำจะมีโอกาสเกิดโรคต้อกระจกได้สูงและเร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคตาชนิดอื่น ๆ ด้วย
  • ไม่ควรใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรหยุดพักสายตาเป็นระยะ
  • จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีแสงสว่างที่พอดีและสบายต่อการมองเห็น
  • ไม่ควรซื้อยาหยอดตาทุกชนิดมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • เมื่อต้องทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาเสมอ 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ปลา ไข่ เนย นม ตับสัตว์ และอาหารจำพวกวิตามินที่มีสารอนุมูลอิสระ และวิตามินเอสูงช่วยในการบำรุงสายตา อย่างแครอท ฟักทอง มะเขือเทศ กล้วย มะละกอสุก เป็นต้น

นอกจากนั้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสายตาเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรได้รับการตรวจดวงตาโดยวิธีขยายม่านตาทุก ๆ ปี ซึ่งไม่ใช่เพียงตรวจโรคต้อกระจกเท่านั้น แต่รวมถึงตรวจโรคทางสายตาชนิดอื่นด้วยเพื่อให้ได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที