ต้อหิน (Glaucoma)

ความหมาย ต้อหิน (Glaucoma)

ต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคของดวงตาชนิดหนึ่งที่เกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา หรือเส้นประสาทตาถูกทำลาย โดยเป็นเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างตากับสมอง ปัจจัยหลักมาจากความดันในลูกตาสูง ซึ่งเกิดจากการระบายน้ำออกของลูกตามีการอุดตันและเสื่อมสภาพ ทำให้ระบายน้ำออกจากลูกตาได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนทำลายประสาทตาในที่สุด 

ต้อหินสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะเกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีประวัติของคนในครอบครัวเป็นต้อหิน หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต้อหินจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถป้องกันและควบคุมการสูญเสียของการมองเห็นได้

Glaucoma

อาการของต้อหิน

โดยทั่วไป ต้อหินจะไม่มีอาการหรือสัญญาณปรากฏเด่นชัดในตอนแรก และจะเกิดอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหิน ดังนี้

ต้อหินมุมเปิด (Open-Angle Glaucoma)

  • เป็นต้อหินชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการไหลเวียนของน้ำในลูกตาลดลง ไม่ทราบกลไกที่แน่นอน สันนิษฐานว่าเกิดจากความเสื่อมของช่องระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งผลให้น้ำในลูกตาไม่สามารถไหลเวียนออกได้อย่างปกติ ทำให้เกิดความดันในลูกตาสูงจนส่งผลให้ประสาทตาถูกทำลาย
  • ส่วนมากจะไม่มีอาการแสดงในระยะแรก แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาในระยะเริ่มต้นจะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างช้า ๆ ตามัว ลงเล็กน้อยคล้ายมีหมอกมาบังทางด้านข้าง ซึ่งนำไปสู่การตาบอดในที่สุด ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว ยกเว้นคนที่มีการสังเกตค่อนข้างดี

ต้อหินมุมปิด (Angle-Closure Glaucoma)

  • เป็นต้อหินที่พบได้น้อยกว่าต้อหินมุมเปิด อาการจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะโครงสร้างในการระบายน้ำออกจากลูกตามีการอุดตันอย่างทันทีทันใด ซึ่งที่มุมตาจะมีเนื้อเยื่อลักษณะคล้ายตะแกรงที่เรียกว่า Trabecular Meshwork เป็นทางผ่านของน้ำในลูกตา เมื่อเกิดการอุดตันขึ้น จึงทำให้เกิดความดันในลูกตาสูงตามมาจนส่งผลให้ประสาทตาถูกทำลาย
  • อาการที่จะเกิดขึ้นได้ คือ ปวดศีรษะ ตาแดง ตามัว เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ และคลื่นไส้ อาเจียน
  • ในกรณีที่เกิดขึ้นเฉียบพลันจะมีอาการปวดตา หรือปวดศีรษะข้างเดียวกับตา

ต้อหินแต่กำเนิด หรือกรรมพันธ์ุ (Congenital Glaucoma)

เกิดในทารกหรือเด็ก อาการมักรุนแรงและควบคุมโรคได้ยาก หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกอาจพัฒนาไปจนทำให้ตาบอดได้ การตรวจหาโรคอาจทำได้ยากแต่สามารถสังเกตพฤติกรรมของเด็กและสังเกตทางกายภาพได้ เช่น

  • มีดวงตาที่ใหญ่กว่าคนปกติ
  • ไม่ชอบแสงสว่างจ้า
  • ไม่สามารถควบคุมการกะพริบตาได้
  • มีตาแดง ตาแฉะ หรือตาขุ่นมัว
  • ขยี้ตาบ่อย ๆ

ต้อหินชนิดแทรกซ้อน (Secondary Glaucoma)

อาจเกิดมาจากภาวะแทรกซ้อนจากความผิดปกติทางตา หรือเกิดจากโรคตาอื่น ๆ เช่น ได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดอุบัติเหตุที่ตา มีเนื้องอก หรือใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทำให้พัฒนามาเป็นต้อหิน เป็นต้น

สาเหตุของต้อหิน

ในตาของเรานั้นจะมีน้ำหล่อเลี้ยงที่เรียกว่า Aqueous Humor ซึ่งถูกผลิตขึ้นโดยเนื้อเยื้อที่เรียกว่า Ciliary Body โดยน้ำหล่อเลี้ยงที่ถูกสร้างขึ้นมาจะไหลเวียนสู่ช่องหน้าลูกตา ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเลนส์ กระจกตา และหลังจากนั้นจะถูกดูดซึมผ่านออกจากลูกตาไปทางมุมตา 

โดยมุมตาจะมีโครงสร้างลักษณะคล้ายตะแกรง ที่เรียกว่า Trabecular Meshwork ซึ่งจะอยู่บริเวณขอบของม่านตา เมื่อน้ำหล่อเลี้ยงตาที่ผลิตขึ้น และการระบายออกของน้ำในตามีความสมดุล ก็จะทำให้ความดันตาอยู่ในระดับปกติ

ต้อหินมีสาเหตุมาจากจอประสาทตามีความเสื่อมหรือถูกทำลาย โดยประสาทตาจะเสื่อมลงทีละน้อย และเกิดจุดบอดขึ้นที่ลานสายตา มักมีสาเหตุสำคัญมาจากความดันในตาสูงอันเนื่องมาจากการไหลเวียนเข้าและออกของน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตาไม่สมดุล เกิดการอุดตันบริเวณทางออกของช่องระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา

ซึ่งทำให้มีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตามากขึ้นแต่การไหลออกช้าลง ทำให้ความดันในตาสูงขึ้น อาจเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ หรือเฉียบพลัน ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคต้อหิน 

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ความดันในตาสูงนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม การใช้ยาหยอดขยายม่านตา การใช้ยารักษาโรคอย่างยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ การลดลงของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงยังเส้นประสาทตา และภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น  

นอกจากนี้ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับดวงตาก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดต้อหินได้ แม้จะเป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนักก็ตาม เช่น ภาวะอักเสบ การติดเชื้ออย่างรุนแรง การบาดเจ็บที่เกิดจากแรงกระแทกหรือสารเคมี การอุดตันของหลอดเลือด และการผ่าตัด เป็นต้น

การวินิจฉัยต้อหิน

แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคต้อหินจากประวัติทางการแพทย์ และตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียด ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจดังต่อไปนี้

ตรวจความดันลูกตา
โดยแพทย์จะหยอดยาชาที่ตาก่อนแล้วจึงใช้เครื่องมือที่เรียกว่า โทโนมิเตอร์ (Tonometer) เพื่อใช้วัดความดันในลูกตา โดยความดันตามีค่าปกติอยู่ที่ 12-20 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งหากความดันตาสูงกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท แสดงว่าผิดปกติ

ตรวจประสาทตาและจอรับภาพ
ตรวจด้วยเครื่องมือตรวจนัยน์ตา ออพธัลโมสโคป (Ophthalmoscopy) เป็นการใช้เครื่องมือตรวจส่องภายในลูกตา ให้แพทย์เห็นถึงความเสียหายหรือความเสื่อมของจอประสาทตา ช่วยให้แพทย์มองเห็นเข้าไปในตา สามารถวินิจฉัยรูปร่างและสีของจอประสาทตาได้  

การวัดประสิทธิภาพของลานสายตา
ตรวจโดยใช้เครื่องตรวจวัดลานสายตา สามารถตรวจวิเคราะห์ลานสายตาด้วยการฉายแสงให้เป็นจุดไปยังตำแหน่งต่าง ๆ เครื่องสามารถตรวจดูการเคลื่อนไหวของตาและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมภายในเครื่อง แสดงผลการตรวจออกมาได้อย่างแม่นยำและช่วยให้สามารถวินิจฉัยการเกิดต้อหินได้

การวัดความหนาของกระจกตา
ตรวจด้วยเครื่องวัดความหนาของกระจกตาที่เรียกกันว่า Corneal Pachymetry โดยการวัดความหนาของกระจกตาสามารถนำมาช่วยประเมินค่าความดันตาที่วัดได้อย่างแม่นยำขึ้น เนื่องจากความหนาและบางของกระจกตามีผลต่อการวัดความดันของกระจกตา

การตรวจช่องทางการไหลของน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตา
ด้วยเครื่องตรวจดูภายในลูกตา Gonioscopy เป็นการตรวจเพื่อหาว่าเป็นต้อหินชนิดมุมเปิดหรือมุมปิด ซึ่งสามารถตรวจดูในทิศทางต่าง ๆ เพื่อดูมุมของการระบายของเหลว และพื้นที่ส่วนที่ทำหน้าที่ระบายของเหลวจากตา

การรักษาต้อหิน

เส้นประสาทตาของผู้ที่เป็นโรคต้อหินจะถูกทำลายอย่างถาวร การรักษาจึงเป็นการประคับประคองเพื่อไม่ให้ประสาทตาถูกทำลายมากขึ้น และเพื่อคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้นานที่สุด ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคต้อหินและระยะของโรคที่เป็นอยู่ 

โดยเป้าหมายการรักษาต้อหินคือการลดความดันในตา การรักษาโรคต้อหินมีหลายวิธี ได้แก่ การใช้ยาหยอดตา การรับประทานยา การผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์ และการผ่าตัดชนิดอื่น ๆ

การใช้ยาหยอดตา

การรักษาโรคต้อหินมักเริ่มด้วยยาหยอดตาตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งการหยอดตาจะช่วยลดความดันลูกตา โดยไปลดการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา หรือช่วยเพิ่มอัตราการไหลออกของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา

ตัวอย่างกลุ่มยาหยอดตาที่ใช้รักษาโรคต้อหิน มีดังนี้

  • แอลฟ่า อดริเนอจิก อโกนิส ช่วยลดการสร้างของเหลวในลูกตา และเพิ่มการไหลออกของของเหลว
  • เบต้า บล็อคเกอร์ ช่วยลดการสร้างของเหลวในลูกตาและลดอัตราการไหลของของเหลวที่เข้าไปในลูกตา
  • คาร์บอนิก แอนไฮเดรส อิฮิบิเตอร์ มีทั้งที่เป็นยาหยอดตา และยาเม็ดรับประทาน ออกฤทธิ์โดยช่วยลดการสร้างของเหลวในลูกตา
  • พลอสตาแกรนดินส์ ช่วยลดความดันลูกตาโดยเพิ่มการไหลออกของของเหลวในลูกตา
  • โคลิเนอร์จิก เอเจนท์

การรับประทานยา

หากการหยอดตาไม่ช่วยให้ความดันในตาลดลงไปในระดับที่ต้องการ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยารับประทาน โดยทั่วไปจะใช้ยาคาร์บอนิก แอนไฮเดรส อิฮิบิเตอร์ ซึ่งมีทั้งที่เป็นยาหยอดตาและยาเม็ดรับประทาน โดยจะช่วยลดการสร้างของเหลวในลูกตา แต่มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย มีอาการชาที่นิ้วมือและนิ้วเท้า มีภาวะซึมเศร้า มีอาการปวดท้อง หรืออาจเกิดนิ่วในไตได้

การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

แพทย์อาจแนะนำการการผ่าตัดซึ่งมีหลายแบบ หรือการรักษาบำบัดด้วยการใช้เลเซอร์ โดยวิธีเหล่านี้มีเป้าหมายในการระบายออกของของเหลวในตาให้ดีขึ้นและลดความดันในตา เช่น การรักษาด้วยเลเซอร์ที่แพทย์จะยิงเลเซอร์รักษาโรคต้อหินชนิดมุมเปิด โดยใช้แสงเลเซอร์สร้างรูเปิดเล็ก ๆ ที่มุมตา เพื่อช่วยให้ระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาได้ดียิ่งขึ้น 

และช่วยลดความดันตาหรืออาจใช้การผ่าตัดเปิดทางระบายให้น้ำข้างในออกมาอยู่ที่ใต้เยื่อบุตา เพื่อลดความดันในลูกตากรณีที่การรักษาเบื้องต้นไม่ได้ผล เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของต้อหิน

โรคต้อหินที่ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาได้ไม่ดีพออาจทำให้อาการแย่ลงจนสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ป่วยโรคต้อหินจะได้รับการรักษาแล้ว แต่ก็อาจเสี่ยงต่ออาการตาบอดได้เช่นกัน โดย 15 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ได้รับการรักษามีโอกาสสูญเสียการมองเห็นอย่างน้อยที่ดวงตา 1 ข้างภายในเวลา 20 ปี  

นอกจากนี้ การรักษาต้อหินด้วยการผ่าตัดก็อาจทำให้มีอาการเลือดออกในตาหรือเกิดการติดเชื้อในตาได้ หรือการใช้ยาหยอดตาที่ซื้อมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก็อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับดวงตาได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ควรซื้อยามาใช้เอง แต่ควรปรึกษาแพทย์และใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น

การป้องกันต้อหิน

ต้อหินเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาที่ไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม หากได้รับการตรวจและได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ ก็อาจช่วยป้องกันการเสื่อม หรือลดการถูกทำลายของประสาทตา เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็น

โดยวิธีดูแลสุขภาพตาและลดความเสี่ยงของอาการรุนแรงจากโรคต้อหิน มีดังนี้

เข้ารับการตรวจสายตา
ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ควรเข้ารับการตรวจสายตาตาทุก ๆ 5-10 ปี อายุ 40-54 ปี ควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 2-4 ปี อายุ 55-64 ปี ควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 1-3 ปี และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 1-2 ปี ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคต้อหินสูงหรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา อาจต้องเข้ารับการตรวจบ่อยครั้งขึ้น

ใช้ยาหยอดตา
การใช้ยาหยอดตาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะความดันในลูกตาสูงที่อาจก่อให้เกิดต้อหินตามมาได้ และควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนดแม้จะไม่มีอาการของโรคต้อหินเกิดขึ้นก็ตาม เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดทางการรักษา   

ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้นและลดความดันในตาลง แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตนด้วย และไม่ควรเล่นกีฬาที่ต้องห้อยศีรษะ เพราะอาจเพิ่มความดันในตาและอาจทำให้เกิดอันตรายได้

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินบำรุงสายตาและหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป เพราะอาจทำให้ความดันในตาเพิ่มขึ้นได้

สวมแว่นตาหรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตา
ควรสวมแว่นตาหรืออุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่อันตรายหรือมีความเสี่ยงที่จะทำให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บ เพราะการบาดเจ็บที่ดวงตาอาจนำไปสู่การเกิดโรคต้อหินได้

หนุนหมอนในระดับความสูงที่เหมาะสม
เวลานอนควรหนุนหมอนในระดับพอเหมาะ ไม่สูงหรือต่ำเกินไป โดยยกหมอนให้สูงประมาณ 20 องศาจากแนวการนอน ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยลดความดันในลูกตาขณะนอนหลับได้