ความหมาย ต้อเนื้อ
ต้อเนื้อ (Pterygium) หรือต้อลิ้นหมา เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเป็นต้อลม มักพบเป็นแผ่นเนื้อสีขาวเหลืองหรือสีชมพู รูปทรงคล้ายสามเหลี่ยม เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุตายื่นเข้าไปในตาดำ แม้ต้อเนื้อไม่ค่อยก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ และอาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากต้อเนื้อมีขนาดใหญ่หรือหนาขึ้นเข้าไปบังตาดำ อาจต้องผ่าตัดออก เพราะจะส่งผลต่อการมองเห็นของผู้ป่วยได้
อาการต้อเนื้อ
โรคต้อเนื้ออาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรือมักเป็นอาการที่ไม่รุนแรง เช่น ระคายเคือง รู้สึกแสบหรือคันที่ดวงตา แต่หากต้อเนื้อมีขนาดใหญ่หรือหนาขึ้นจนคลุมบริเวณกระจกตา อาจส่งผลต่อการมองเห็น เพราะอาจกระทบต่อความโค้งของตาดำ ทำให้รู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา และทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถสวมใส่คอนแทคเลนส์ ได้ตามปกติ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หากสงสัยเกี่ยวกับอาการที่เป็นอยู่ และรีบไปแพทย์โดยด่วน หากมีอาการระคายเคืองดวงตามากขึ้น น้ำตาไหลมากผิดปกติ หรือรู้สึกเจ็บตาอย่างรุนแรง
สาเหตุต้อเนื้อ
แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดต้อเนื้อ แต่มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่เผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์เป็นเวลานาน ผู้ที่มีอาการตาแห้ง รวมถึงผู้ที่ระคายเคืองตาจากลม ฝุ่น ควัน มลพิษ หรือทราย เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ชาวนา ชาวประมง และผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้แนวของเส้นศูนย์สูตร โดยโรคต้อเนื้อมักเกิดขึ้นในเพศชายที่อายุระหว่าง 20-40 ปี และผู้ที่มีผิวขาวหรือตาสีอ่อนก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดต้อเนื้อได้เช่นกัน
การวินิจฉัยต้อเนื้อ
แพทย์จะวินิจฉัยต้อเนื้อด้วยการตรวจบริเวณดวงตาและเปลือกตา โดยอาจตรวจดูด้วยตาเปล่า หรืออาจใช้เครื่องมือตรวจโรคตาเบื้องต้นที่เรียกว่า Slit Lamp อุปกรณ์ที่มีแสงไฟและมีกำลังขยาย ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในดวงตาได้ รวมถึงสอบถามอาการของผู้ป่วย ระยะเวลาในการเผชิญกับแสงแดดและมลภาวะโดยไม่ได้สวมใส่แว่นตาหรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตา ทั้งนี้ จักษุแพทย์อาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การวัดสายตา โดยให้ผู้ป่วยอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขสีดำบนพื้นหลังสีขาวของ Snellen Chart ซึ่งเป็นวิธีที่ได้มาตรฐานและใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
การรักษาต้อเนื้อ
โรคต้อเนื้ออาจไม่จำเป็นต้องรักษา หากไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตาถึงขั้นรุนแรง หรือไม่ได้บดบังการมองเห็น โดยทั่วไป การป้องกันดวงตาจากแสงแดดด้วยการสวมใส่แว่นกันแดดก็เพียงพอ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกเคืองตา ตาแดง หรือตาบวม จักษุแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ขี้ผึ้ง หรือน้ำตาเทียม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตา รวมถึงการใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบของดวงตา และอาจช่วยลดการบวมแดงได้ แต่หากรักษาด้วยวิธีดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้น และต้อเนื้อส่งผลกระทบต่อการมองเห็น หรือทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตา จักษุแพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนของต้อเนื้อ
โรคต้อเนื้ออาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่กระจกตา แม้พบได้ค่อนข้างยาก แต่หากปล่อยไว้และไม่ได้รับการรักษา อาจเป็นเหตุให้สูญเสียการมองเห็นได้ นอกจากนี้ ยังมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการรักษาต้อเนื้อด้วยการผ่าตัด เช่น ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดต้อเนื้อซ้ำอีกครั้งและอาจมีอาการที่รุนแรงกว่าเดิม หรืออาจส่งผลต่อการมองเห็น ทำให้มองเห็นไม่ชัดเจน เนื่องจากการผ่าตัดต้อเนื้ออาจทำให้ความโค้งของกระจกตาไม่เท่ากัน หรือที่เรียกว่าสายตาเอียง ทั้งนี้ ในขั้นตอนการผ่าตัด จักษุแพทย์อาจนำเนื้อเยื่อบาง ๆ มาแปะในบริเวณที่เพิ่งผ่าตัดต้อเนื้อออกไป เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ
การป้องกันต้อเนื้อ
โรคต้อเนื้อป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรค โดยปฏิบัติตามวิธีดังนี้
- สวมใส่แว่นกันแดดที่มีเลนส์กรองรังสีอัลตราไวโอเลต หรือแว่นตาที่ช่วยปกป้องดวงตาจากลม ฝุ่น มลภาวะ รวมถึงแสงอื่น ๆ ที่สะท้อนเข้าสู่ดวงตา
- เมื่อต้องออกไปอยู่กลางแจ้ง อาจเลือกสวมหมวกที่มีปีกกว้าง เพื่อช่วยปกป้องดวงตาจากแสงอาทิตย์
- ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีแสงแดดจ้า มีฝุ่น ควัน ลม หรือมลภาวะในปริมาณมาก
- ใช้น้ำตาเทียม เพื่อช่วยหล่อลื่น เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตาา และอาจช่วยป้องกันการเกิดต้อเนื้อได้