-
กรดไหลย้อนขึ้นที่กล่องเสียง
-
May 03, 2017 at 05:13 PM
เรียนคุณหมอ
เมื่อตอนต้นปี มกราคม 60 เคยมีอาการไข้และต่อมน้ำเหลืองคอโตบวมปูดเป็นลูกมะนาว แพทย์ ร.พ.เอกชนให้ทายาฆ่าเชื้อ ยาลดบวม จนคอยุบบวม พอเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 60 ดิฉันมีอาการเจ็บในคอ เหมือนมีอะไรมาจุกอยู่ที่หลอดอาหาร กลืนลำบาก ที่กล่องเสียงมีลักษณะบวมโตขึ้นเล็กน้อย เป็นมา 3-4 สัปดาห์ แพทย์ ร.พ.รัฐ ให้อ้าปากกดลิ้นดูคอนิดนึงแล้วมีความเห็นว่า กรดไหลย้อนขึ้นที่กล่องเสียง ให้ยามาทาน (air-x80mg/algycon200mg/miracid20mgและmotidom-m10mg)1 เดือน นัดต่อ อาการดีขึ้นบ้างแต่ยังไม่หาย ดิฉันคงเป็นกรดไหลย้อน เพราะมีทานอาหารไม่ย่อยเรอเปรี้ยวบ่อย เสมหะมากลักษณะเป็นฟองๆเหนียวใส แต่ไม่เคยแสบร้อนหรือจุกในอก ไม่ไอ แพทย์ปรับยาบางตัวให้ใหม่ (gasmotin5mg และ nac long)แต่ดิฉันยังไม่ได้เริ่มทาน เพราะตอนนี้คอ(กล่องเสียง)ยังคงบวม ยังกลืนลำบาก เสียงแหบพร่านิดๆในบางวัน ดิฉันไม่แน่ใจอาการเจ็บ-จุกในคอ และกล่องเสียงที่มีลักษณะบวมโตขึ้นเล็กน้อย และเหมือนมีสิ่งอุดกั้นตลอดเวลากลืน/หายใจ เรียนปรึกษาว่า ควรเปลี่ยนแพทย์ หรือ ตรวจอาการเพิ่มม้ัยคะ
ขอบคุณมากค่ะ
May 04, 2017 at 10:01 AM
สวัสดีค่ะ คุณ Rungmanthakan Sukwinya
ผลการตอบสนองต่อการรักษากรดไหลย้อนในแต่ละคนแตกต่างกันไป โดยทั่วไปใช้เวลารักษาอย่างต่อเนื่องประมาณ 1-3 เดือน การรักษาประกอบด้วยยา และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตค่ะ ยาที่ใช้บ่อย ได้แก่ ยาลดกรด ยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร ยาขับลม
ร่วมกับการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอน การสูบบุหรี่ หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย
- ควรกินอาหารในปริมาณที่พอดีในแต่ละมื้อ หรือแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อยครั้งมากขึ้นแทน การกินอาหารจนอิ่มเกินไป ไม่ควรกินอาหารรสจัดทุกมื้อ กินอาหารให้ตรงเวลา
- ไม่ควรเข้านอน ออกกำลังกาย หรือยกของหนักหลังกินอิ่มทันที
- ควรเว้นช่วงให้กระเพาะอาหารได้ย่อยอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ก่อนล้มตัวลงนอน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่พอดีกับรูปร่าง ไม่รัดแน่นจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่จะไปกระตุ้นให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น รวมไปถึงจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์อาจทำให้หูรูดหลอดอาหารปิดไม่สนิท
- อย่าปล่อยให้เกิดอาการเครียด ซึ่งอาจไปกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารให้มากขึ้น
ห้หากทานยาประมาณ 2-3 เดือน แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการมากขึ้นในระหว่างนั้น เช่น มีก้อนโตผิดปกติ น้ำหนักลดมาก หายใจลำบาก แพทย์จะพิจารณาการส่องกล้องในระบบทางเดินอาหาร กล่องเสียง ว่ามีสาเหตุอื่นร่วมที่ทำให้เกิดอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก หรือไม่ โดยทำการส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางด้านหูคอจมูก อายุรแพทย์ หรือศัลยแพทย์ช่วยประเมิณร่วมค่ะ แนะนำให้ปรึกษากับแพทย์ให้การรักษา เพื่อวางแผนการรักษาค่ะ ขอให้อาการดีขึ้นค่ะ
-
ถามแพทย์
-
กรดไหลย้อนขึ้นที่กล่องเสียง