-
การดูแลเรื่องอาหารและสถานที่สำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่รู้สึกตัว
-
Apr 16, 2018 at 07:31 AM
สวัสดีคะ รบกวนปรึกษาคะ ผู้สูงอายุเพศหญิงวัย 92 ปี ประสบอุบัติเหตุหกล้มซ้ำซาก ทำการCT scanแล้วคุณหมอพบว่ามีเลือดออกในสมอง แต่ไม่แจ้งว่าเป็นอันตราย อวัยวะภายในสามารถทำงานได้ปกติ ยกเว้นสมองที่เสียหาย ทำการรักษาจนผู้ป่วยรู้สึกตัว สามารถลืมตา พูดคุยได้ประมาณ 5 วัน ก็มีอาการชักกระตุกและไม่รู้สึกตัวอีกเลย แต่มือปัดป่ายไปมาเป็นระยะๆ นอนกรน ไม่สามารถลืมตา ลิ้นพัน พูดไม่ได้ ส่งเสียงร้องเป็นระยะๆ หายใจได้เอง ปัจจุบันญาติรับผู้ป่วยกลับมาดูแลต่อที่บ้าน เพราะคุณหมอแจ้งว่าถ้าอยู่โรงพยาบาลก็เพื่อดูอาการ และให้สมองผู้ป่วยฟื้นฟูตัวเอง คำถามคือ 1) การให้อาหารผู้ป่วย ควรให้อย่างไร ในกรณีที่ไม่สะดวกให้ทางสายยาง เนื่องจากเดิม ผู้ป่วยเป็นคนขี้รำคาญ หากใส่ท่อสายยางให้อาหาร จะ ทำให้ผู้ป่วยทรมานหรือไม่ 2) อาหารสำหรับผู้ป่วยระยะนี้ จำเป็นหรือไม่ และช่วยฟื้นฟูร่างกายให้ดีขึ้นได้หรือไม่ 3) ควรทำการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หรือนำส่งศูนย์ดูแลผู้ป่วย 4) จากข้อ3, หากควรดูแลผู้ป่วยที่บ้าน อุปกรณ์หรือสิ่งพื้นฐานจำเป็นที่ต้องมีคืออะไรบ้าง 5) มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะสามารถฟื้นขึ้นมาเหมือนก่อนไม่รู้สึกตัวหรือไม่ 6) เพราะเหตุใดผู้ป่วยถึงส่งเสียงร้อง และมีอาการหงุดหงิดเป็นระยะ โดยที่แขนข้างที่หักยกปัดไปมาตลอด ขอบคุณคะApr 16, 2018 at 10:21 AM
สวัสดีคะคุณ Happy Rainny
การดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องเลือดในสมอง และอาจจะมีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วยนั้นต้องดูเป็นองค์รวมหลายๆอย่างค่ะ คงต้องเรียนตรง ๆเลยนะค่ะ ว่าถ้าญาติสามารถที่จะดูแลก็สามารถดูแลที่บ้านได้ค่ะ แต่ปัญหาในผู้สูงอายุ ที่อาจจะมีปัญหาเรื่องความรู้สึกตัวจะเป็นปัญหาค่อนข้างจะมากและอาจจะลำบากในการดูแลค่ะ ที่สำคัญเรื่องการสำลัก และ แผลกดทับค่ะ และอาจจะมีปัญหาเรื่องชักได้ค่ะ
ตอนนี้เลือดออกในสมองถ้าออกไม่มากหยุดเองไปเแล้ว เนื่องจากสมองผู้สูงอายุจะฝ่อทำให้มีการขยายไม่มาก มีที่ให้เลือดไปได้ค่ะ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องของระบบประสาทชัดเจนค่ะ แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดภาวะเลือดออกซ้ำอีกซึ่งอาจจะมีได้ค่ะ
แนะนำต้องรับประทานยาให้ครบ และไม่ไม่ขาดยา
1) การให้อาหารผู้ป่วย ควรให้อย่างไร ในกรณีที่ไม่สะดวกให้ทางสายยาง เนื่องจากเดิม ผู้ป่วยเป็นคนขี้รำคาญ หากใส่ท่อสายยางให้อาหาร จะ ทำให้ผู้ป่วยทรมานหรือไม่
ปกติหมอจะแนะนำให้ให้อาหารทางสายยางค่ะ เพราะจะไม่มีปัญหาเรื่องการสำลักค่ะ ในกรณีที่คนไข้ไม่รู้สึกตัวนะคะ แต่ถ้าคนไข้รู้สึกตัว จะแนะนำว่าอาจจะต้องป้อนท่านั่งและอาจจะต้องให้นั่งหลังรับประทานอาหารประมาณหนึ่งถึงสองชั่วโมงเพื่อไม่ให้มีการลำลัก และ เรอหรืออาเจียนออกมาค่ะ ถ้าเป็นไปได้อาจจะต้องดูอาหารให้ไม่ให้เหลวเกิินไป ต้องมีความหนืดบ้างค่ะ แต่ถ้าไม่มีฟันจะลำบากในการเคี้ยวมาก ถ้ามีฟันปลอมแนะนำให้ใช้เพื่อที่จะสามารถเคี้ยวและกลืนได้ ให้ป้อนอาหารน้อยๆ แต่ให้บ่อยๆค่ะ
การคำนวณอาหารให้ตาม แคลลอรี่ต่อวันค่ะ ประมาณ 30 กิโลแคลลอรี่ต่อน้ำหนักตัวค่ะ แต่ต้องระวังอาหารที่แพทย์ให้งดด้วยนะค่ะ
2) อาหารสำหรับผู้ป่วยระยะนี้ จำเป็นหรือไม่ และช่วยฟื้นฟูร่างกายให้ดีขึ้นได้หรือไม่
ถ้าถามถึงอาหารเสริม เรียนว่าสามารถใช้ได้ค่ะ ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารธรรมดาที่จัดเตรียมให้ได้ จะมีอาหารพวกนม ที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เป็นนมชงค่ะ ใช้ได้ค่ะ
3) ควรทำการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หรือนำส่งศูนย์ดูแลผู้ป่วย
ถ้าไม่สามารถที่จะดูแลได้แนะนำฝากที่ศูนย์ผู้สูงอายุค่ะ เพราะการดูแลจะครบวงจรกว่าค่ะ
4) จากข้อ3, หากควรดูแลผู้ป่วยที่บ้าน อุปกรณ์หรือสิ่งพื้นฐานจำเป็นที่ต้องมีคืออะไรบ้าง
เตียงที่ปรับระดับได้ค่ะ ไม้กั้นเตียง ที่นั่งช่วยในการขับถ่าย การช่วยเดินหรือเคลื่อนไหว การช่วยเรื่องการพลิกตัว การเปลี่ยนผ้าอ้อมค่ะ เตียงลมค่ะ เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับค่ะ
5) มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะสามารถฟื้นขึ้นมาเหมือนก่อนไม่รู้สึกตัวหรือไม่
ไม่สามารถรับรองได้ค่ะ คงต้องอยู่ว่าเลือดออกในสมองส่วนไหนค่ะ และมากแค่ไหนค่ะ และหยุดหรือยังค่ะ ถ้ายังมีปัญหาอยู่ก็อาจจะฟื้นตัวช้าค่ะ แต่ถ้าหยุดไปแล้ว อายุมากอาจจะเป็นปัญหาในการฟื้นตัวค่ะ
6) เพราะเหตุใดผู้ป่วยถึงส่งเสียงร้อง และมีอาการหงุดหงิดเป็นระยะ โดยที่แขนข้างที่หักยกปัดไปมาตลอด
เลือดออกบริเวณที่ควบคุมสมองส่วนแสดงออกก็เป็นได้ค่ะ จะทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้นะค่ะ
เอาเป็นว่าโดยรวมการดูแลผู้สูงอายุ ที่มีเลือดออกในสมองต้องอาศัยความอดทน และ ต้องดูแลให้ครบถ้วนค่ะ พยายามหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน เช่น การสำลัก การหกล้ม และ แผลกดทับค่ะ
-
ถามแพทย์
-
การดูแลเรื่องอาหารและสถานที่สำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่รู้สึกตัว