ถามแพทย์

  • โดนเศษทิ่มใต้เล็บเป็นแผล เคยฉีดบาดทะยัด ปี 2554 ได้ 2 เข็ม ควรฉีดกระตุ้นไหม?

  •  piggyshow
    สมาชิก

    สวัสดีค่ะ วันนี้เมื่อตอนบ่ายเราขัดล้างกระป๋องน้ำอัดลมเก่าที่มีสนิมฝุ่นเขรอะ แล้วมีเศษอะไรไม่รู้มาทิ่มใต้เล็บแผลนิดเดียว ตอนล้างเราเอามือที่มีแผลแช่น้ำที่ล้างประป๋องด้วย ควรไปฉีดวัคซีนกันบาดทะยักมั้ยคะ เราเคยฉีดล่าสุดเมื่อปี 2554 แต่ฉีดไม่ครบ3 เข็ม ฉีดไปแค่ 2 เข็มค่ะ ขอบคุณค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ piggyshow,

                   โรคบาดทะยักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium tetani พบเชื้อชนิดนี้ในพื้นดิน พื้นผิวที่มีฝุ่นต่างๆ รวมทั้งผิวหนังและอุจจาระคน และยังพบได้ในมูลสัตว์ต่างๆเช่น หมู ไก่ หมา แมว วัว ควาย เป็นต้น เชื้อบาดทะยักสามารถเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดโรคได้หลายทาง ซึ่งรวมถึงบาดแผลสดต่างๆ  เช่น แผลจากตะปู หรือเศษไม้ตำ แผลถูกสัตว์กัด แผลถลอก แผลฉีกขาด แผลถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นต้น ดังนั้นการถูกกระป๋องที่มีสนิมและฝุ่นบาดจนเป็นแผล แม้จะเป็นเพียงแผลเป็นรูขนาดเล็กหรือแผลถลอกก็ตาม ควรพิจารณฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักค่ะ   

                   โดยหากในสมัยเด็กคุณ piggyshow ได้รับวัคซีนครบตามกำหนด (ในเด็กเล็กจะเป็นวัคซันรวมป้องกัน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก) เมื่อเกิดบาดแผลขึ้น จะพิจารณาตามนี้ 

                    1. หากแผลที่เกิดจากการโดนกระป๋องบาด เป็นแผลสะอาด แผลไม่ลึก ขนาดแผลไม่ใหญ่ หากได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก หรือคอตีบ-บาดทะยัก เข็มสุดท้ายมาไม่เกิน 10 ปี ไม่ต้องฉีดวัคซีนค่ะ แต่หากเกิน 10 ปีแล้ว ควรฉีดวัคซีนค่ะ ซึ่งในกรณีของคุณ piggyshow ได้ฉีดไปล่าสุดเมื่อปี 2554 แล้ว จึงไม่ต้องฉีดอีกค่ะ

                    2. หากแผลที่เกิดจากการโดนกระป๋องบาด เป็นแผลสกปรก คือมีเศษดิน สนิมปนเปื้อนแผล บาดแผลลึก ปากแผลแคบ หากได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักเข็มสุดท้ายมาเกิน 5 ปีแล้ว ต้องฉีดวัคซีนค่ะ 

                  แต่หากในสมัยเด็กคุณ piggyshow ได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด และการฉีดเมื่อปี 2554 เป็นการฉีดแค่ 2 เข็ม ไม่ครบ 3 เข็ม ดังนั้นในครั้งนี้จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักใหม่ค่ะ โดยควรเลือกฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก 1 เข็มในครั้งนี้ และฉีดอีก 2 เข็ม ในอีก  1 เดือนและ 6 เดือนถัดไปค่ะ 

                 นอกจากนี้ควรดูแลทำความสะอาดแผลด้วยค่ะ โดยหากแผลมีขนาดเล็กและสะอาด ให้ล้างทำความสะอาดด้วยสบู่หรือยาฆ่าเชื้อในครั้งแรก และทำความสะอาดแผลต่อทุกวันด้วยน้ำเกลือ เช็ดให้แห้ง อาจใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพไวโดน-ไอโอดีน (povidone-iodine) และหลีกเลี่ยงการโดนน้ำจนกว่าแผลจะหาย ระวังการโดนฝุ่นละอองต่างๆ โดยการปิดแผลด้วยผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซค่ะ