ถามแพทย์

  • จุกแน่นหน้าอกและท้องส่วนบน ไม่แน่ใจว่าเป็นกรดไหลย้อนหรือแผลในกระเพาะอาหาร

  •  skyboy914455
    สมาชิก

    สวัสดีครับ คุณหมอ ผมรบกวนสอบถาม ผมเริ่มป่วยในวันที่ทานอาหารเยอะมากๆ มีอาการจุกแน่นท้อง ท้องอืดกลางดึกอาหารไม่ย่อย หลังจากนั้นผมทานได้น้อย จุกแน่นท้องส่วนบนมาที่หน้าอก หายใจลำบาก ร่างกายเพลียง่าย ทานได้น้อย น้ำหนักลดลง เวลาท้องว่างจะแสบร้อนท้องแต่ไม่มาก ในวันที่จุกแน่นหนักๆจะเรอขึ้นมาที่คอเหมือนมีฟองยิบๆ นับจากวันที่เริ่มป่วย3เดือนแล้วน้ำหนักลด10กิโลพยายามทานอาหารอ่อนๆ ผมไปพบหมอมาแล้ว2ครั้ง ครั้งที่1ได้ยามาทานอาการก็ทุเราไม่แน่นมากพอใช้วีวิตประจำวันได้ ทำงานได้หมอระบุกรดไหลย้อน  ครั้งที่ 2 เพิ่งไปเมื่อวานนี้ คุณหมอเจาะเลือกตรวจเบาหวาน ผลเบาหวานไม่มี  หมอระบุจุกแน่นหน้าอก และคุณหมอนัดเจาะเลือดตรวจอีกครั้งในเดือนถัดไป การเจาะเลือดตรวจจะทราบผลโรคใดได้บ้างครับ เพราะไม่ได้ส่องกล้องในกระเพาะ อันนี้ผมไม่ได้สอบถามคุณหมอที่นัดครับ  ขอบคุณครับ

    skyboy914455  พญ.นรมน
    แพทย์

    สวัสดีค่ะคุณ skyboy914455

    การวินิจฉัยที่เป็นไปได้

    -กรดไหลย้อน

    -กระเพาะอาหารอักเสบ

    -เนื้องอกที่กระเพาะอาหาร อาจทำให้จุกท้องเรื้อรัง กินได้น้อย น้ำหนักลด

    กรดไหลย้อน เป็นภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร โดยผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว แน่นอก จุกคอ มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ ไปจนถึงกลืนอาหารได้ลำบาก คลื่นไส้

    ดังนั้นจากอาการที่กล่าวมานั้นก็เข้าได้กับกรดไหลย้อนค่ะ โดยอาจจะแยกจากเรื่องแผลในกระเพาะได้ยาก แต่กรดไหลย้อนมักเด่นที่อาการแสบร้อนกลางอก หรือรู้สึกขมๆที่คอร่วมด้วย การแยกจริงๆแล้วอาจจะต้องใช้การส่องกล้องทางเดินอาหาร ซึ่งแพทย์จะทำในรายที่มีข้อบ่งชี้เช่น รักษาด้วยยาลดกรดไปแล้วไม่ดีขึ้น มีน้ำหนักลดอย่างชัดเจน ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด อ้วกเป็นเลือด

    การเจาะเลือดนี้อาจจะเจาะดูปริมาณเม็ดเลือดแดงว่าไม่ได้ซีดจากการเสียเลือดในทางเดินอาหารค่ะ ส่วนจะเจาะเพื่อหาโรคร่วมอื่นๆอันใดบางนั้น คงต้องถามแพทย์ผู้รักษาค่ะ

    การดูแลตัวเองเบื้องต้น เน้นการปรับพฤติกรรมเช่น  รับประทานอาหารในปริมาณที่พอดี ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ควรเข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร รับประทานอาหารอ่อนๆรสไม่จัดมาก งดชา กาแฟ เป็นต้น ร่วมกับรับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร หรือยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร เพื่อช่วยเพิ่มการบีบตัวของลำไส้มากขึ้น

    หากมีอาการผิดปกติที่เป็นข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องทางเดินอาหาร หรือรับประทานยาลดกรดไป 2-4 อาทิตย์แล้ว อาการไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับไปพบแพทย์ค่ะ