ถามแพทย์

  • เคยมีอาการกรดไหลย้อน ตอนนี้ตื่นเช้ามาเจ็บลิ้นปี่มา 2 เดือน เจ็บใต้รักแร้ด้วย เป็นอะไรอีกไหม

  • เเต่ก่อน มีอาการกรดไหลย้อน  มีรสขม ปวดเจ็บ ลิ้นปี้ ทั้งวัน เเต่ตอนนี อาการ หายไปเเล้ว คือไม่มีรสขมเเละเเสบ  เเต่ ตื่นตอนเช้ามาเจ็บลิ้นปี่ มาได้  2เดือนเเล้วครับ บางคืน หรือ กลางวัน เจ็บ ใต้รักเเร้ด้านซ้ายด้วยครับ หรือเหนือ หัวนมด้านซ้ายขึ้นมานิดหนึ่ง เป็นๆหาย เป็นโรคอะไรอื่นอีกไหมครับ ไปหาหมอ มา 3 ครีั้งได้เเต่ยาเเก้กรดไหลย้อนมา

    สวัสดีค่ะ คุณ วศิน พรหมสนธิ,

                         อาการเจ็บตรงลิ้นปี่ ใต้รักแร้ซ้าย อาจเกิดจาก

                        1.โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารเป็นแผล โดยจะรู้สึกปวดบริเวณท้องส่วนบน อาจเป็นบริเวณลิ้นปี่ลงไปถึงเหนือสะดือหรือปวดค่อนไปทางด้านซ้าย อาจปวดแบบจุกแน่น หรือแสบร้อน และปวดร้าวทะลุไปหลังได้ นอกจากนี้อาจมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อิ่มเร็ว เรอบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

                        2.โรคกรดไหลย้อน อาการจะคล้ายๆ กับกระเพาะอาหารอักเสบ แต่จะมีอาการแสบร้อนกลางอก หรือเจ็บหน้าอกร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้ปวดร้าวไปที่รักแร้ได้ นอกจากนี้ ก็อาจทำให้มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมในคอ หรือเจ็บคอ ระคายเคืองคอ เป็นต้น

                         3. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาการคือเจ็บแน่นหน้าอก โดยอาจเจ็บตรงกลางหน้าอกหรือค่อนไปทางซ้าย หรือบริเวณลิ้นปี่ขึ้นอย่างฉับพลันทันที อาจมีร้าวไปบริเวณกราม ไหล่ รักแร้ แขนได้ และมีอาการเหนื่อยร่วม อาจมีอาการหายใจไม่เต็มอิ่ม เวียนหัว โดยอาการจะเกิดในขณะที่ออกแรงทำงาน เช่น ออกกำลังกาย ใช้แรงทำงานหนัก เป็นต้น และอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อได้พัก 

                         หากอาการเกิดขึ้นในขณะพัก คือไม่ได้ออกแรงทำงาน ก็ไม่น่าเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่น่าจะเกิดจากโรคกรดไหลย้อนและกระเพาะอาหารอักเสบมากกว่า ดังนั้น ในเบื้องต้น ก็ควรดูแลตนเองแบบโรคกระเพาะอาหารและกรดไหลย้อน ได้แก่ การทานอาหารที่ย่อยง่าย ไม่ทานเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ ทานอาหารรสจืด ห้ามทานรสจัด เคี้ยวช้าๆ ให้ละเอียดก่อนกลืน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง  ไม่ทานอาหารครั้งละปริมาณมาก ไม่ควรทานจนอิ่มเกินไป ไม่ดื่มน้ำอัดลม อัดแก๊สต่างๆ รวมถึง ชา กาแฟ โกโก้ แอลกอฮอล์ เป็นต้น ห้ามทานอาหารแล้วนอนทันที ควรเว้นระยะอย่างน้อย 2 ชั่วโมงสำหรับอาหารมื้อเบา หากทานมื้อหนัก ควรเว้นระยะอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง ห้ามทานยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs เช่น แก้ปวดเมื่อย ปวดข้อ เป็นต้น  หากอาการยังไม่บรรเทา อาจทานยาลดกรด เช่น ยาธาตุน้ำขาว ยาที่ช่วยยับยั้งการหลั่งกรด เช่น แรนิทิดีน (ranitidine) ยาโอเมพราโซล (omeprazole) เป็นต้น

                        แต่หากอาการยังคงเป็นต่อเนื่อง ไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจรักษาต่อไปค่ะ