ถามแพทย์

  • ปวดข้อเข่า ข้อมือ ข้อเท้า สะโพก มีไข้ต่ำ เพลีย เป็นตอนเช้าตื่นนอน ไม่ผื่น เป็นโรคอะไร

  •  Chataporn Malakeemah
    สมาชิก
    มีอาการปวดข้อ รวมสะโพกและหลัง มีไข้ต่ำ เพลีย เป็นตอนเช้าตื่นนอนขึ้นมาลุกเดินลำบากมาก โดยเฉพาะข้อเข่า ข้อมือ ข้อเท้า ตามตัวไม่ทีผื่นอะไร ไข้ต่ำ จนไม่มีไข้แต่เพลียค่ะ ทานแค่ยาพาราอย่างเดียว อยากทราบว่ามีโอกาสเป็นโรคอะไรได้คะ ถ้าพบหมอตรวจเลือดสามารถสินิจฉัยได้ใช่ไหมคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Chataporn Malakeemah,

                       อาการปวดตามข้อต่าง คือข้อเข่า ข้อมือ ข้อเท้า สะโพก มีไข้ต่ำๆ เพลีย อาจเกิดจาก

                         1.จากโรคภูมิแพ้ตนเองต่างๆ  เช่น โรคพุ่มพวง ชนิด SLE, โรคหนังแข็ง เป็นต้น ซึ่งมักจะมีอาการหลากหลายต่างๆ เช่น มีไข้ต่ำๆ เรื้อรังหรือเป็นๆ หายๆ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดบวมตามข้อต่างๆ ขาบวม มีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า ผิวไวต่อแสงแดด มีปากเป็นแผล ผมร่วง โลหิตจาง  เป็นต้น

                         2. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จะมีอาการปวดตามข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อนิ้วเท้า เริ่มแรกจะปวดไม่มาก มักเป็นตอนกลางคืนและเวลาตื่นนอนตอนเช้า พอนานไปจะปวดมากขึ้นและข้อจะบวมขึ้น มีข้อฝืดแข็งซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว ต่อมาจะเริ่มปวดบริเวณข้อที่ใหญ่ขึ้น เช่น ข้อศอก ข้อเข่า ข้อไหล่ และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น หากเป็นเวลานานจะทำให้ข้อนิ้วมือมีการผิดรูปได้

                          3. จากการหยุดใช้ยาสเตียรอยด์กะทันหัน อาจทำให้มีอาการปวดข้อคล้ายโรครูมาตอยด์ได้ 

                          4. เก๊าท์ แต่ในระยะเริ่มแรก อาการปวดมักจะเป็นเพียงข้อเดียว ข้อที่บ่อย คือ นิ้วหัวแม่เท้า และจะมีอาการบวม แดง ร้อนร่วมด้วย ถ้าไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษา อาการอาจกำเริบทุก 1-2 ปี ส่วนข้อที่ปวดก็จะเพิ่มจากข้อเดียวเป็น 2-3 ข้อ เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า จนกระทั่งเป็นเกือบทุกข้อได้ แต่ก็มักไม่ได้ทำให้มีไข้ร่วมด้วย

                           5. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยาสูง แต่อาการคือจะมีไข้สูง ไม่ใช่ไข้ต่ำๆ และจะปวดตามข้อต่างๆ มาก อาจมีอาการอ่อนเพลีย ปวดหัว ตาแดงคลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ และมีผื่นขึ้นด้วย  

                           6. โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น

                           ดังนั้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ซึ่งแพทย์ก็จะทำการตรวจร่างกาย และอาจตรวจเลือดเพิ่มเติม ซึ่งบางครั้งการตรวจเลือดในเบื้องต้น อาจยังไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ แพทย์อาจต้องตรวจเลือดที่เฉพาะเจาะจงต่อโรคที่สงสัยในขั้นตอนต่อไปอีก ดังนั้น การสินิจฉัย อาจไม่สามารถทำได้ในการตรวจเลือดเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ อาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เอ๊กซเรย์ เป็นต้น