ถามแพทย์

  • ปวดเบ้าตาด้านขวาและหัวคิ้ว ร้าวไปถึงด้านกกหูและท้ายทอย ก่อนหน้าจะปวด มีอาการตาขวามัวและมองเห็นแสงสีดำๆขาวๆ

  •  Plearnpiss
    สมาชิก
    สวัสดีค่ะ คือมีอาการปวดเบ้าตาด้านขวาและทางหัวคิ้ว ร้าวไปถึงด้านกกหูและท้ายทอย ก่อนหน้าจะปวดมีอาการตาทางด้านขวามัวและมองเห็นเป็นฝ้าแสงสีดำๆขาวๆเป็นประมาณเกือบ1ชั่วโมง แต่ตอนนี้เห็นปกติ แต่ยังมีอาการปวดเบ้าตาและปวดหัวข้างขวาอยูค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Plearnpiss,

                          อาการปวดหัวที่เป็นด้านเดียว และก่อนที่จะมีอาการปวด มีอาการตามัว มองเห็นแสงผิดปกติเกิดขึ้น  อาจเป็นอาการที่เกิดจากการปวดศีรษะไมเกรนได้ อย่างไรก็ตาม โดยปกติ โรคปวดศีรษะไมเกรน มักเป็นแบบต่อเนื่องเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ คือจะเกิดปวดศีรษะขึ้นมาระยะๆ เช่น สัปดาห์ละครั้ง หรือเดือนละครั้ง เป็นต้น โดยลักษณะอาการส่วนใหญ่คือจะทำให้ปวดหัวขึ้นมาข้างเดียว มักปวดบริเวณขมับ รอบดวงตา และอาจลามไปด้านหลังของศีรษะ อาการปวดเป็นแบบตุ๊บๆ โดยส่วนใหญ่จะปวดต่อเนื่องนาน 1-3 วันแล้วหายไป ขณะปวดอาจมีอาการอื่นๆ ร่วม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร  มึนหัว เป็นต้น บางรายจะมีอาการนำมาก่อนปวดศีรษะ เช่น เห็นแสงสว่างผิดปกติ เป็นต้น สำหรับปัจจัยที่กระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบ เช่น ความเครียด ช่วงมีประจำเดือน อาหารบางอย่าง เป็นต้น

                          ดังนั้น หากอาการเพิ่งเป็นครั้งแรก อาจยังไม่สามารถตอบได้ว่าเป็นปวดศีรษะไมเกรนหรือไม่ แนะนำควรสังเกตอาการต่อเนื่องไปก่อนค่ะ

                           ทั้งนี้ อาการปวดหัวยังเกิดได้อีกจากหลายสาเหตุ เช่น

                          - ปวดศีรษะจากความเครียด (tension-type headache) แต่ลักษณะคือะปวดเหมือนมีเข็มขัดรัดรอบศีรษะ โดยตำแหน่งที่ปวดจะอยู่บริเวณท้ายทอย หน้าผาก และบริเวณขมับทั้ง 2 ข้างอาการปวดจออยู่ได้หลายวัน มักจะพบร่วมกับอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ อาการปวดจะเป็นมากในช่วงบายถึงค่ำ ส่วนตอนเช้ามาอาการปวดจะเป็นน้อย อาการปวดจะถูกกระตุ้นเมื่อมีความเครียด วิตกกังวล ทำงานหนัก เรียนหนัก ใช้สายตามากไป อดนอน เป็นต้น 

                        - ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (cluster headache) เป็นอาการปวดศีรษะข้างเดียวแบบรุนแรง มราจะมีอาการเพียงไม่กี่ชั่วโมงแล้วหายไป และปวดขึ้นมาอีกเป็นระยะๆ มักมีอาการตาแดง น้ำตาไหล น้ำมูกไหล หนังตาตกร่วมด้วย

                        - เป็นอาการปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ คือมาจากโรคหรือความผิดปกติของโครงสร้างบริเวณศีรษะและคอ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เป็นไข้ติดเชื้อโรคต่างๆ ทั้งในสมองและนอกสมอง ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ มีฟันผุ เหงือกอักเสบ ปวดศีรษะจากโรคต้อหิน มีสายตาสั้น มีหลอดเลือดในสมองโป่งพอง เนื้องอกในสมอง เป็นต้น ส่วนใหญ่อาการปวดจะเป็นแบบเฉียบพลัน เป็นต่อเนื่อง ไม่ได้เป็นแบบเป็นๆ หายๆ และหากโรคยังไม่หาย อาการปวดก็มักจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

                         ในเบื้องต้น ไม่ว่าจะปวดจากอะไร การลดอาการปวด ได้แก่ การลดความเครียด นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนต่างๆ และแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สายตามากเกินไป เป็นต้น และทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน เป็นต้น