ถามแพทย์

  • ปวดท้องกระเพาะในเวลาที่ท้องว่าง ถ้าได้ทานข้าวจะหายปวด แต่ทานยาธาตุ จะปวดมากขึ้น

  •  Notinlife Butintheheart
    สมาชิก
    มีอาการปวดท้องกระเพาะอาหารน่ะค่ะในเวลาที่ท้องว่างเมื่อทานยาธาตุน้ำแดงหรือยาธาตุน้ำขาวจะมีอาการปวดมากขึ้นไม่หาย แต่ถ้าได้ทานข้าวจะหายปวด ต้องรักษายังไงคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Notinlife Butintheheart,

                       อาการปวดท้อง หากเป็นบริเวณส่วนบนของช่องท้อง อาจเกิดจาก

                      1.โรคกระเพาะอาหารอักเสบ  โดยจะมีอาการปวดบริเวณท้องส่วนบน อาจเป็นบริเวณลิ้นปี่ลงไปถึงเหนือสะดือหรือปวดค่อนไปทางด้านซ้าย อาจปวดแบบจุกแน่น หรือแสบร้อน และปวดร้าวทะลุไปหลังได้ นอกจากนี้อาจมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อิ่มเร็ว เรอบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

                      2.นิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งมักจะทำให้เกิดอาการปวดท้องบริเวณช่องท้องส่วนบนหรือด้านขวา และมักปวดร้าวไปยังไหล่ขวาหรือบริเวณหลังด้านขวา และมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในกระเพาะอาหาร และอาจมีจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ด้วย

                       3. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน แต่จะมีอาการปวดท้องบริเวณท้องส่วนบนแบบรุนแรง และมักปวดร้าวไปที่หลัง อาการปวดมักจะมากขึ้นเมื่อทานอาหาร และมีท้องอืด แน่นท้อง มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นต้น 

                       4. เนื้องอกหรือมะเร็งของกระเพาะอาหาร ตับ หรือตับอ่อน แต่อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีเบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลำได้ก้อนที่ท้อง เป็นต้น

                        ในเบื้องต้น แนะนำให้ลองรักษาแบบโรคกระเพาะอาหารอักเสบไปก่อน เช่น การทานอาหารเมื่อเริ่มรู้สึกหิว ไม่ควรปล่อยให้หิวจัด ทั้งนี้ อาจไม่จำเป็นต้องทานแค่ 3 มื้อ หากหิวบ่อย อาจทาน 4-5 มื้อได้ เพียงแต่ให้ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลง ไม่ทานมากเกินไป ไม่ทานอิ่มเกินไป เลือกทานอาหารที่ย่อยง่าย ไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดต่างๆ อาหารผัด ไม่ทานอาหารรสจัด ไม่ทานเผ็ด ควรเคี้ยวช้าๆ ให้ละเอียด ไม่ทานและกลืนเร็ว ไม่ดื่มน้ำอัดลม อัดแก๊สต่างๆ รวมถึงชา กาแฟ โกโก้ แอลกอฮอล์ และไม่ควรทานอาหารก่อนนอนภายใน 2 ชั่วโมง ห้ามทานยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs เช่น แก้ปวดเมื่อย ปวดข้อ ปวดประจำเดือน เป็นต้น  

                         ส่วนการทานยาธาตุน้ำขาวหรือน้ำแดง แล้วอาการเป็นมากขึ้น ก็ควรงดทานไป และอาจทานยาลดกรดชนิดอื่นๆ เช่น แรนิทิดีน (ranitidine) ยาโอเมพราโซล (omeprazole) เป็นต้น แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาค่ะ