ถามแพทย์

  • ปวดท้องมา 2 วัน ซื้อยาลดกรด alum milk กับ Ranitidine ก็ยังไม่หายปวด ควรทำอย่างไร

  •  Narachtaphon Suk-im
    สมาชิก
    สวัสดีครับ ผมปวดท้องมา2วันแล้วครับแตีไ่มีอาการลดลงเลย ซื้อยาลดกรดของ Maslow alum milk กับ Ranitidine ก็ยังไม่หายปวดท้องครับ ผมควรทำยังไงดีครับ ไม่ได้นอนมา1คืนแล้วครับเนื่องจากปวดท้อง

    สวัสดีค่ะ คุณ Narachtaphon Suk-im,

                    อาการปวดท้อง สาเหตุจะแบ่งออกตามตำแหน่ง คือ

                    1. ปวดท้องบริเวณด้านขวาบน สาเหตุ ได้แก่

                          - ตับอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ แต่มักจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองร่วมด้วย และอาจมีไข้ร่วมด้วย

                         - นิ่วในถุงน้ำดี จะทำให้ปวดบิดรุนแรงเป็นพัก ๆ ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงด้านขวา และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย อาการปวดท้องมักเกิดขึ้นหลังจากที่รับประทานอาหารมัน ๆ หรือรับประทานอาหารมื้อหนัก หรือตอนกลางคืน 

                        - การอักเสบของลำไส้ส่วนที่อยู่บริเวณช่องท้องขวาด้านบน มักมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

                   2. ปวดท้องบริเวณด้านขวาล่าง สาเหตุ ได้แก่

                       - ไส้ติ่งอักเสบ อาการปวดจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 24-48 ชั่วโมง อาการปวดจะเป็นต่อเนื่องตลอดเวลา ร่วมกับมีไข้ และอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเสีย หรือท้องอืด เป็นต้น

                       -  ลำไส้ส่วนที่อยู่ช่องท้องด้านขวาล่างอักเสบ

                   3. ปวดท้องบริเวณด้านซ้านบน สาเหตุ ได้แก่

                        - โรคกระเพาะอาหารอักเสบ อาการปวดจะเป็นบริเวณลิ้นปี่ลงไปถึงเหนือสะดือหรือปวดค่อนไปทางด้านซ้าย อาจปวดแบบจุกแน่น หรือแสบร้อน อาการปวดอาจเป็นเวลาหิวก่อนทานอาหาร หรือหลังทานอาหารไปแล้วก็ได้ นอกจากนี้อาจมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อิ่มเร็ว เรอบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

                       - กรดไหลย้อน อาการจะคล้ายๆ กับกระเพาะอาหารอักเสบ และจะมีปวดแสบร้อนกลางหน้าอก มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมในคอ หรือเจ็บคอ ระคายเคืองคอตลอดเวลา ไอแห้งๆ เป็นต้น

                   4.  ปวดท้องบริเวณด้านซ้านบน สาเหตุ ได้แก่

                       - ลำไส้ส่วนที่อยู่ช่องท้องด้านซ้ายล่างอักเสบ

                       - ถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ อาการจะคล้ายกับไส้ติ่งอักเสบ แต่อาการปวดจะอยู่ทางด้านซ้ายแทน

                    5. หากปวดบริเวณตรงกลางท้องน้อย อาจเกิดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่จะมีอาการปัสสาวะที่ผิดปกติร่วมด้วย

                       ในเบื้องต้น หากมีอาการคล้ายกับโรคกระเพาะอาหารอักเสบ การดูแลคือ การทานอาหารอ่อนย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดต่างๆ เนื้อสัตว์ติดมัน หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด  ควรแบ่งทานครั้งละพอประมาณ ไม่ควรทานจนอิ่มเกินไป เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ทานช้าๆ ไม่เร่งรีบ และไม่ควรทานอาหารก่อนนอนภายใน 2 ชั่วโมง ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โอเลี้ยง โกโก้ ช็อกโกแลต และน้ำอัดลมอัดแก๊สต่างๆ และอาจทานยาลดกรดชนิดต่างๆ เช่น ยาธาตุน้ำขาว ยาที่ยับยั้งการหลั่งกรด เช่น แรนิทิดีน (ranitidine) ยาโอเมพราโซล (omeprazole) เป็นต้น

                         หากอาการยังไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่นๆ เพิ่มเติม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษาค่ะ