ถามแพทย์

  • ปวดใต้ราวนมซี่โครงด้านขวา หายใจเข้าออกจะเจ็บแปล็บๆ หาหมอได้ยามาทาน ไม่หาย เป็นอะไร

  •  Ornysaid
    สมาชิก
    ปวดใต้ราวนมซี่โครงด้านขวา จะปวดเสียดๆๆ แปร๊บๆ หายใจเข้าออกจะเสียวเจ็บๆแปร๊บๆๆค่ะ ไม่มีไข้ไม่ไอ รู้สึกตึงๆๆ หาหมอให้ยาdiclofenac กับ orphenadrire มาทานอาทิตย์นึงไม่หายค่ะ มีแตวโน้มเปฌนไรได้ย้างคะ ต้องกลับไปหาหมออีกทีดีไหม เอ็กเรย์แล้วกอไม่เจออะไรที่ผิดปกติค่ะ แต่เรารู้สึกตึง เจ็บเสียดแปร๊บๆ มากกค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Ornysaid,

                      อาการปวดใต้ราวนม หายใจเข้าออกจะเจ็บแปล๊บๆ อาจเกิดจาก

                    1. การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก จากการใช้งานหนัก หรือใช้งานมากไป เช่น ยกของหนัก ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่ใช้กล่ามเนื้อหน้าอกมากไป เช่น ยกเวท วิดพื้น หรือมีการเคลื่อนไหวผิดท่าทันทีทันใด การเกิดอุบัติเหตุกระแทกที่หน้าอกโดยตรง เช่น การถูกต่อย ถูกชก ถูกชน เป็นต้น อาการปวดมักจะสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของหน้าอก เช่น การเอี้ยวตัว บิดตัว ยกของหนัก หรือการหายใจเข้าลึก ๆ ไอ หรือจาม มักมีจุดที่กดเจ็บชัดเจน  

                    2. กระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ มักจะปวดหลายตำแหน่งแต่เป็นข้างเดียว อาการปวดจะเป็นแบบแปล๊บๆ หรือคล้ายมีอะไรกดทับและมีอาการเจ็บเวลากดที่ตำแหน่งของกระดูกอ่อน  อาการปวดจะมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของหน้าอก การหายใจเข้าลึก ๆ ไอ หรือจาม  สาเหตุจะคล้ายกับการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก 

                     3. มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด อาการคือ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เจ็บขณะหายใจ หายใจเร็ว ไอ สะอึก นอนราบไม่ได้ ต้องนอนเอนตัวหรือนั่ง เป็นต้น

                    4.ช่องเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ อาการคือเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อหายใจเข้า อาจเจ็บร้าวไปที่ไหล่ได้ มักมีอาการเหนื่อยร่วม 

                   5. เยื่อหุ้มปอดอักเสบ อาการเจ็บหน้าอกจะเป็นแบบเจ็บแปล๊บๆ อาจเจ็บร้าวไปที่ไหล่และที่หลัง อาการจะดีขึ้นเมื่อหายใจเบาๆ หรือนอนตะแคงทับปอดข้างที่มีการอักเสบไว้ 

                   ในเบื้องต้น หากได้เอ๊กซเรย์ปอดแล้ว ไม่พบสิ่งผิดปกติ และไม่มีอาการอื่นๆ ร่วม เช่น ไอ เหนื่อย หายใจเร็ว หายใจลำบาก ไข้ เป็นต้น ก็น่าจะเกิดจากกล้ามเนื้อบาดเจ็บหรือกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบได้ ทั้งนี้ นอกจากทานยาแล้ว ควรงดการทำงานหนักต่างๆ เช่น ยกของหนัก เข็นของหนัก งดการออกกำลังกาย ใช้การประคบร้อนบริเวณที่ปวด เป็นต้น แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ก็ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาเพิ่มเติมต่อไปค่ะ