ถามแพทย์

  • มีอาการเครียดมากกับเหตุการณ์ในชีวิต ร้องไห้อยู่คนเดียว เก็บตัว มีอาการทำร้ายตนเอง เกิดจากอะไร เวลาโดนตะคอก จะตัวสั่น หายใจไม่ทัน ควรทำอย่างไร

  •  pair
    สมาชิก

    สวัสดีค่ะคุณหมอ อยากทราบว่าอาการเเบบนี้ควรปรึกษาเเพทย์ทางจิตเวชไหม? มันเเค่อาการเรียกร้องความสนใจ หรืออาการป่วยทางจิตใจ

    ช่วงนี้หนูมีอาการเครียดมาก หลักๆจะเป็นเรื่องธุรกิจที่พึ่งจะเริ่มทำกับเเฟน กับอารมณ์ตัวเองตอนทะเลาะกับเเฟน  คือหนูเป็นคนที่เวลามีเรื่องไม่สะบายใจ หรือทะเลาะกับเเฟน จะค่อนข้างเก็บไว้คนเดียว ไม่เคยระบายกับใครเลย ร้องไห้คนเดียว หายคนเดียวมาตลอด เเม้กระทั่งกับครอบครัว หรือโพสระบายในโซเชียลก็ไม่เคยทำ คิดว่าไม่อยากให้ใครมารับรู้ เเล้วมาช่วงนี้ เริ่มสังเกตุอาการตัวเองได่ตั้งเเต่ต้นปี เวลาทะเลาะ หรือโตนตะคอก จะมีอาการตัวสั่น ใจสั่น หายใจไม่ทัน ตัวชา ทำร้ายตัวเองเเบบควบคุมไม่ได้ ครั้งเเรกใช้คัตเตอร์กรีดที่เเขน ครั้งที่สองหยิกตัวเองจนเเขนเป็นเเผล ทั้งสองครั้งตอนทำควบคุมตัวเองไม่ได้เลย เเต่ไม่เคยคิดอยากตายนะคะ เเค่อยากทำตัวเองให้เจ็บเเค่นั้น ทุกครั้งที่เกิดเรื่องหนูจะโทษตัวเองเสมอ รู้สีกว่าตัวเองนั้นผิด จะขอโทษทุกครั้งไม่ว่าจะผิดหรือไม่ผิด 

    pair  พญ.นรมน
    สมาชิก

    สวัสดีค่ะคุณ pair

    อาการเครียดมากกับเหตุการณ์ในชีวิต ร้องไห้อยู่คนเดียว เก็บตัว มีอาการทำร้ายตนเองนั้นอาจจะเป็นภาวะซึมเศร้า โรคซึมเศร้า การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และบุคลิกภาพไปอย่างผิดปกติ

    ภาวะซึมเศร้าคือการที่มีความรู้สึกเศร้า เครียดจากเรื่องต่างๆในชีวิตไม่ว่าจะเป็นจากเรื่องส่วนตัว เรื่องในครอบครัว หรือการทำงาน ทำให้มีความรู้สึกไม่อยากจะทำอะไร ไม่อยากเข้าสังคม  คิดมาก ร้องไห้คนเดียว รู้สึกเบื่อต่อสภาพความเป็นอยู่ และจะเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าที่ควรได้รับการรักษาเมื่อมีอาการเพิ่มเติมเช่น ซึมเศร้าติดต่อกันอย่างน้อย 2 อาทิตย์ขึ้นไป โดยไม่มีช่วงที่ดีขึ้นเลย มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย อาจมีอาการเบื่ออาหาร หรือในบางรายก็จะไปรับประทานทานอาหารมากขึ้น น้ำหนักเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอนน้อยหรือนอนมากกว่าปกติ และเก็บตัวมากจนไม่ออกไปทำงาน ไม่ออกไปเข้าสังคม

    ดังนั้นถ้ามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ร่วมกับมีอาการที่ทำร้ายตนเองแล้วนั้น เหล่านี้เป็นอาการอันตรายที่บ่งบอกว่าอาจจะมีโรคทางจิตเวชเช่นโรคกลุ่มซึมเศร้าที่ยังควบคุมไม่ได้ จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพจิตและรับยารักษาอย่างเหมาะสมหรือทำจิตบำบัดร่วมไปด้วย

    ในเบื้องต้น พยายามหากิจกรรมที่ชอบทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องเศร้า พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่เราไว้ใจได้เพื่อระบายความทุกข์ ไม่เก็บตัวอยู่คนเดียวนานจนเกินไปเพราะจะทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น