ถามแพทย์

  • มีติ่งเล็กๆ ขึ้นที่ปากทวาร เจ็บนิดๆ ไม่มีเลือด เป็นอะไร

  •  nattasita
    สมาชิก

    มีติ่งเล็กๆขึ้นที่ปากทวารแต่ไม่ได้ออกมาจากข้างในนะคะ จะรู้สึเจ็บนิดมากๆถ้าไปจับ รู้สึกตัวว่ามีหลังจากที่เรานั่งถ่ายสักพัก เวลาถ่ายเยอะก้อนใหญ่ พอล้างน้ำทำความสะอาดก็ลองจับคลำดู รู้สึกว่ามีตุ่มติ่งเล็กๆเลยค่ะ ไม่มีเลือดอะไรทั้งสิ้น พอวันต่อมาไม่ได้ถ่ายมันก้ไม่มีอาการไม่มีติ่งนั้นเลยค่ะ แต่เมื่อไหร่ที่ถ่ายหนักเยอะมากก็จะรู้สึกว่ามีติ่งนี้ค่ะ มันอยู่ปากทวารเลย พอไปอ่านข้อมูลต่างๆก็คิดว่าไม่น่าจะใช่ริดสีดวงนะคะ แต่กลัวว่าจะเป็นรึเปล่า แล้วติ่งแบบนี้รักษาเองได้มั้ย

    สวัสดีค่ะ คุณ nattasita,

                        ติ่งเล็กๆ ที่ขึ้นที่ปากทวาร อาจเป็น

                       1. ริดสีดวงทวารชนิดภายนอก จะเห็นเป็นติ่งเนื้อยื่นออกมากจากรูทวารหนักเมื่อมีอาการท้องผูกหรือมีการเบ่งถ่ายมาก หรือมีท้องเสียเกิดขึ้น มักไม่ทำให้เกิดเลือดออกเหมือนริดสีดวงภายใน แต่จะทำให้มีอาการเจ็บ แสบ หรือปวดได้ 

                       2. แผลปริขอบทวารหนัก ในช่วงเริ่มแรก อาการคือมีเลือดสีแดงสดติดออกมากับก้อนอุจจาระ โดยจะเกิดเมื่ออุจจาระแข็ง หรือเป็นก้อนใหญ่ ต้องออกแรงเบ่งมาก ก้อนอุจจาระก็จะไปครูดกับเยื่อบุของทวารหนัก ทำให้เกิดเป็นแผล ซึ่งมักมีปริมาณเลือดไม่มาก อาจเพียงแค่ติดกระดาษที่ใช้เช็ดก้น และจะมีอาการปวดเจ็บหรือแสบรูทวารหนักร่วมด้วย เมื่อเป็นเรื้อรัง เยื่อบุผิวรอบๆ แผลที่ทวารหนักนี้จะหนาตัวขึ้น ทำให้มีลักษณะเป็นติ่งเนื้อขึ้นมาได้ด้วย

                        3. หูดหงอนไก่ จะเป็นติ่งเนื้อหรือตุ่มเนื้ออ่อนๆ สีชมพูหรือสีเนื้อ ผิวมักขรุขระ อาจพบติ่งเดียวหรือหลายติ่ง อาจมีอาการคันร่วมด้วยแต่มักไม่มีอาการเจ็บ เป็นติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์

                        4. เป็นติ่งเนื้อธรรมดาของผิวหนังรอบๆ ทวารหนัก มักไม่มีอาการอะไร ถ้ามีขนาดใหญ่เวลานั่งอาจรู้สึกเจ็บ

                        5. ก้อนที่ลำไส้ใหญ่หรือบริเวณทวารหนักจากสาเหตุอื่นๆ เช่น เนื้องอกของลำไส้ตรง หรือเนื้องอกทวารหนัก ที่ยื่นออกมาจนพ้นรูทวารหนัก

                       หากคลำได้ติ่งเมื่อเกิดการถ่ายอุจจาระมาก โดยที่ไมีเคยมีอาการถ่านเป็นเลือด ไม่มีเลือดซึมติดกีะดาษทิชชู ก็อาจเป็นริดสีดวงทวารชนิดภายนอก หรือติ่งเนื้อธรรมดาที่ทวารหนักก็ได้ค่ะ ซึ่งก็ไม่ได้อันตรายอะไร แต่ไม่ควรพยายามไปเแกะ หรือดึงเอาติ่งออกเอง เพราะอาจทำให้เกิดแผลและกาติดเชื้อขึ้นมาได้ หากต้องการการวินิจฉัยที่แน่นอน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจค่ะ ส่วนการดูแลตนเองด้านอื่นๆ ก็คือพยายามอย่าให้มีท้องผูกหรืออย่าให้อุจจาระแข็ง ไม่เบ่งถ่าย ไม่นั่งถ่ายอุจจาระนานเกินไป เป็นต้น