ถามแพทย์ กลับไปที่ชุมชนถามตอบ มีอาการปวดตามข้อนิ้วมือ Jutha Sukr สมาชิก Jan 23, 2023 at 11:11 AM สวัสดีค่ะ เริ่มมีการใช้งานมือหนักช่วงวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมา (ใช้คอมพิวเตอร์) อย่างต่อเนื่อง และมีอาการปวดข้อนิ้วมือทั้งสองข้างมาตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เริ่มทำงานจนถึงปัจจุบันเวลากำมือจะรู้สึกเจ็บมากๆ เวลาที่ไม่ได้กำจะรู้สึกล้าๆหน่วงๆที่ข้อนิ้วค่ะ ไม่มีอาการบวม หรือรู้สึกร้อนตรงข้อ จะรู้สึกเจ็บข้อนิ้วมากๆหลังจากตื่นนอนค่ะ ไม่รู้ว่าเกิดจากการนอนทับด้วยหรือเปล่า มีโอกาสเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือไม่คะ แพทย์หญิงสลิล ศิริอุดมภาส สมาชิก Jan 23, 2023 at 11:35 AM สวัสดีค่ะ คุณผู้ใช้งาน, อาการปวดข้อนิ้วมือทั้ง 2 ข้าง อาจเกิดจาก 1. การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นรอบๆ นิ้ว เช่น จากการใช้งานมากไป การถูกกระแทก เป็นต้น 2. โรคข้อนิ้วมือเสื่อม อาการปวดมักเกิดภายหลังการใช้ข้อทำงาน เมื่อพักการใช้งานก็จะดีขึ้น อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ อาจมีลักษณะบวมแดงบริเวณข้อนิ้วมือร่วมด้วย หากมีการเสื่อมมากจะทำให้ข้อนิ้วมือผิดรูปได้ 3. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จะมีอาการปวดตามข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อนิ้วเท้า เริ่มแรกจะปวดไม่มาก มักเป็นตอนกลางคืนและเวลาตื่นนอนตอนเช้า พอนานไปจะปวดมากขึ้นและข้อจะบวมขึ้น มีข้อฝืดแข็งซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว ต่อมาจะเริ่มปวดบริเวณข้อที่ใหญ่ขึ้น เช่น ข้อศอก ข้อเข่า ข้อไหล่ และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น หากเป็นเวลานานจะทำให้ข้อนิ้วมือมีการผิดรูปได้ 4. โรคภูมิแพ้ตนเองต่างๆ นอกจากรูมาตอยด์ เช่น โรคพุ่มพวง ชนิด SLE, โรคหนังแข็ง แต่ผุ้ป่วยมักจะมีอาการของระบบอื่นๆ ที่ชัดเจนกว่าการปวดข้อนิ้วมือ 5. จากการหยุดใช้ยาสเตียรอยด์กะทันหัน อาจทำให้มีอาการปวดข้อคล้ายโรครูมาตอยด์ได้ หากอาการปวดเกิดหลังจกาที่มีการใช้นิ้วมือทำงานหนัก และไม่ได้มีข้อบวมหรือแดง ก็น่าจะเป็นแค่การบาดเจ็บของของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ข้อนิ้วได้ ดังนั้น ในเบื้องต้น ก็ควรพักการใช้นิ้วทำงานหนักต่างๆ เช่น การหิ้วของหนัก การใช้งานคอมพิวเตอร์มากไป การขับมอเตอร์ไซด์ การทำอาหาร ทำงานบ้านมากไป การทำสวน เป็นต้น ใช้การประคบร้อนบ่อยๆ หรือแช่ในน้ำอุ่น ทานแก้ปวด เช่น ไดโคลฟีแนค ไพรอซิแคม และยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น แต่หากอาการเป็นนานต่อเนื่องไม่หายไป ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาค่ะ Share: กลับไปที่ชุมชนถามตอบ