ถามแพทย์

  • อายุ 19 ปี มีอาการเจ็บที่บริเวณหน้าอกข้างซ้าย บริเวณหัวใจ ไปหาหมอได้ยามาทาน ยังเป็นอยู่เกิดจากอะไร

  •  Thanya Tambun
    สมาชิก

    เจ็บครั้งแรกประมาณ3ปีที่แล้ว มีอาการเจ็บแน่นๆ เป็นหายๆมาหลายเดือนก็ไปหาหมอก็ให้ยาคลายกล้ามเนื้อมาทาน เหมือนจะหายก็กลับมาเจ็บอีกครั้งแต่ครั้งที่2 เจ็บมากขึ้นมากกว่าครั้งแรกปล่อยไว้ประมานเดือนสองเดือนก็ไปหาหมออีกครั้ง ครั้งนี้หมอพาไปเอ็กซเรย์ปอด และตรวจคลื่นหัวใจ พบว่าคลื่นหัวใจเต้นผิดจังหวะรับมายามาทานหลังจากนั้นประมาณ2เดือนก็หาย ครั้งที่3 มาเจ็บอีกครั้งเมื่อตอนเดือนธันวาคมปี61 อาการเจ็บเริ่มเจ็บแบบจี๊ดๆ และเจ็บมากขึ้นจากครั้งที่1และ2 รอบนี้เจ็บมากจนหายใจไม่ออก บางครั้งเจ็บจนน้ำตาไหลก็มี แล้วช่วงนี้มีอาการปวดหัวไมเกรนด้วยค่ะ จะสลับกันเจ็บ มีอาการหน้ามืดบ่อยๆ แต่ไม่คอยมีอาการใจสั่นหรือเหงื่ออกค่ะ อยากทราบเกิดจากสาเหตุแะไรค่ะ ทุกครั้งที่เจ็บจะเจ็บทวีคูณมากขึ้น  ปล.ตอนนี้อายุ ย่างเข้า19ปีค่ะ

     

    สวัสดีค่ะ คุณ Thanya Tambun

    อาการเจ็บหน้าอก สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุตั้งแต่โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคกล้ามเนื้อเอ็นกระดูก ระบบทางเดินอาหาร

    -สาเหตุที่เกี่ยวกับโรคหัวใจที่พบบ่อย ได้แก่ โรคกล้ามหัวใจตายหรือขาดเลือด เป็นโรคที่พบบ่อย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมาก มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ในภาวะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกตรงกลางหรือด้านซ้าย เจ็บเหมือนมีอะไรบีบรัด เหงื่อออก ถ้าออกแรงจะเป็นมากขึ้น

    -สาเหตุที่เกี่ยวกับโรคปอด เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ จะมีอาการเจ็บเวลาหายใจเข้าออก ไอ จาม เป็นต้น

    -สาเหตุที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ จะมีอาการแสบร้อนที่ลิ้นปี่ บางคนมีอาการแสบร้อนมาถึงหน้าอก บางคนจะรู้สึกเหมือนมีลมดัน บางคนจะมีอาการจุกมาที่คอได้ เป็นต้น

    -สาเหตุที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อเอ็นกระดูกที่บริเวณหน้าอก เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ กระดูกอ่อนบริเวณหน้าอกอักเสบ อาการเจ็บจะเป็นมากขึ้นเวลาใช้กล้ามเนื้อบริเวณนี้ อาจจะเป็นการขยับ การกดหน้าอก หรือหายใจเข้าออกแล้วเจ็บมากขึ้น

    ***อาการที่ควรรีบมาพบแพทย์ ได้แก่ อาการเจ็บแน่นกลางหน้าอกหรือด้านซ้ายแบบบีบรัด เจ็บมากเวลาออกแรง หรือ ขณะพักอาการเจ็บหน้าอกไม่ทุเลา, มีอาการหอบเหนื่อย, มีอาการนอนราบลำบากร่วมด้วย เป็นต้น หากอาการเจ็บไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการตามที่กล่าวข้างต้น แต่รับประทานแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมเช่นกัน

    จากที่คุณ Thanya Tambun เล่ามายังสรุปสาเหตุไม่ได้นะคะ แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอลบรรเทาอาการ และแนะนำไปพบแพทย์นะคะ