ถามแพทย์

  • มีเสมหะในคอตลอดเวลา คันคอ ไอ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แนะนำการดูแลรักษาด้วย

  •  Danai Taotong
    สมาชิก

    ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีเสมหะในคอตลอดเวลา คันคอ แล้วก็มีอาการไอหรือกระแอม รวมถึงแน่นหน้าอกนิดๆ แต่ไม่มีอาการเป็นไข้หรือเข้าพื้นที่สุ่มเสี่ยงโควิท 19 ครับ แต่เดือนที่ผ่านมาเป็นกรดไหลย้อนไปสองครั้งไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องหรือเปล่า รบกวนคุณหมอแนะนำวิธีดูแลอาการนี้เบื้องต้นด้วยครับ ขอบคุณครับ

    สวัสดีค่ะ คุณ Danai Taotong,

                         หากไม่ได้มีประวัติเสี่ยงในการรับเชื้อโรคโควิด 19 มา เช่น การกลับมาจากต่างประเทศ การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มาจากต่างประเทศ การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ก็ไม่น่าติดโรคนี้มาค่ะ และหากอาการเป็นมาเกือบ 1 เดือน โดยมีค่อาการมีเสมหะในคอ คันคอ ไอ ก็ไม่ได้เป็นลักษณะของโรคโควิด 19 ค่ะ ดังนั้น อาการที่เป็นอยู่ จึงเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น 

                       - เป็นโรคกรดไหลย้อน  ซึ่งเกิดจากการที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาถึงบริเวณลำคอ ทำให้เกิดการระคายเคืองคอและมีเสมหะได้  และเมื่อมีเสมหะ ก็จะกระตุ้นให้เกิดการไอได้ นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แสบร้อนจากช่วงอกไปจนถึงลิ้นปี่ เจ็บหน้าอก มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมในคอ เรอบ่อย เจ็บคอ ระคายเคืองคอ เป็นต้น

                       - ภูมิแพ้อากาศ แต่นอกจากจะมีเสมหะและไอแล้ว มักมีน้ำมูกใส จาม คันจมูก คันหัวตา ร่วมด้วย 

                       - โรคหอบหืด อาจทำให้มีเสมหะในลำคอและไอได้ แต่ก็มักจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก หายใจเสียงดังวี๊ดๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นพักๆ เมื่อสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดการแพ้ต่างๆ 

                        - การหายใจเอาสารเคมี มลพิษ ฝุ่นละออง ควันบุหรี่เข้าไปบ่อยๆ ซึ่งจะไประคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ อาจทำให้มีน้ำมูกมาก และไหลลงคอจนเป็นเสมหะได้ 

                         ในเบื้องต้น หากไม่มีไข้ ไม่มีน้ำมูก คัดจมูก ไม่มีจาม ไม่มีหายใจเหนื่อย ก็ควรดูแลตนเองแบบโรคกรดไหลย้อนที่เคยเป็น ได้แก่ การเลือกทานอาหารที่ย่อยง่าย ไม่ทานอาหารครั้งละปริมาณมากไป เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ทานช้าๆ ไม่เร่งรีบ ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และน้ำอัดลมอัดแก๊สต่างๆ เป็นต้น ทานอาหารที่รสไม่จัด ไม่ทานของมัน เช่น อาหารทอด อาหารผัด ไม่ทานเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ หลังทานอาหารต้องห้ามนอนทันที ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง และอาจทานยาช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กได้เร็วขึ้น เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ (metoclopramide) เป็นต้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุค่ะ