ถามแพทย์

  • มีอาการมึนหัวเกือบเดือน ทานยาไม่ดีขึ้น ตอนนี้มีจุกลิ้นปี่ร่วมด้วย ควรทำอย่างไร เป็นคนสูบบุหรี่

  • เริ่มต้นเลยนะครับ ประมาณต้นเดือนเมษายนผมยืนสูบบุหรี่อยู่จู่ๆผมมีอาการมึนก็เลยทิ้งบุหรี่ไป แล้วคิดว่านอนคงหายเพราะมันมึนตลอดเลย แต่ปล่าวเลยครับตื่นมาอาการมึนยังคงอยู่ยิ่งตอนขับรถแล้วลมมันโต้หน้าจะรู้สึกแย่กว่าเดิมจนตอนนี้ผมไปหาหมอมา5-6รอบแล้วครับได้ยามาก็หลายตัวแต่ไม่ดีขึ้นเลยหลังวันที่24เมษายนมานี้รู้สึกว่าเริ่มจะมีอาการกินแล้วจุกตรงลิ้นปี่ย่อยยากร่วมด้วยครับแต่ที่กระทบที่สุดจนไปทำงานไม่ได้คืออาการมึนหัวครับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเป็นจนถึงตอนนี้ผมเลิกสูบบุหรี่แล้วครับและถ้าเกิดผมกินน้ำอัดลมอาการจะกำเริบหนักมากมันจะวูบๆวาบๆเลยครับตอนนี้ก็เลิกกินไปแล้ว อยากให้คุณหมอแนะนำทีครับบุหรี่1ซองวันเดียวหมดคนเดียวนะครับ

     สวัสดีค่ะ คุณ ณภัทร สุขพูล

    จากที่เล่ามาอาการรับประทานอาหารแล้วจุก น่าจะเป็นอาการของกระเพาะอาหารอักเสบนะคะ ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานยาแก้ปวด, ความเครียด, การดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนปริมาณมาก, การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไดโลไร เป็นต้น

    โดยทั่วไปการรักษานอกจากใช้ยาลดกรด หรือยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารแล้ว หากมีสาเหตุตามข้างต้น ควรมีการปรับเปลี่ยนหรือกำจัดสาเหตุนั้นๆด้วยค่ะ

    ส่วนการปรับพฤติกรรมที่ช่วยให้โรคกระเพาะอาหารอักเสบดีขึ้น ได้แก่ การรับประทานอาหารตรงเวลา รับประทานอาหารที่รสไม่จัด หลีกเลี่ยงชากาแฟและแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำเปล่าและออกกำลังกายเพิ่มขึ้นค่ะ

    หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไปค่ะ

    ส่วนอาการมึนศีรษะ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

    -ความผิดปกติของหูชั้นใน ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะ เช่น โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (BPPV) โรคประสาทหูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) โรคนำ้ในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) เป็นต้น

    - ความดันโลหิตต่ำ อาจเกิดจากการเปลี่ยนท่าทางรวดเร็ว การสูญเสียน้ำออกจากร่างกาย เช่น ท้องเสีย อาเจียนมาก เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ ภาวะการติดเชื้อต่างๆ

    -โรคไมเกรน : บางคนจะมีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการเวียนหัวได้

    -โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการบาดเจ็บ, เนื้องอก, การติดเชื้อ, เส้นเลือดในสมองผิดปกติ เป็นต้น

    -ภาวะอื่นๆ เช่น เครียด ยาบางชนิด โรคโลหิตจาง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นต้น

    ซึ่งอาการมึนหัว จากที่เล่ามา ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ชัดเจนนะคะ 

    การดูแลตนเองในเบื้องต้น ขณะที่มีอาการมึนหัว แนะนำให้เคลื่อนไหวร่างกายช้าลง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปนะคะ