ถามแพทย์

  • อัลตราซาวด์ พบเป็นไขมันพอกตับ แล้วเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีอยู่ อันตรายไหม

  •  Arunrat Samranphan
    สมาชิก

     

    Ultrasound of the upper abdomen 

     

     

    Result: 

    - The liver is normal in size and diffuse increased echogenicity without focal lesion.

    - The portal and hepatic veins are patent. No IHD dilatation is seen. 

    -The gallbladder, pancreas, spleen and both kidneys appear within normal limit. No ascites or lymphadenopathy is noted 

     

     

    Impression 

     

    - Fatty liver

    ถ้าในกรณีที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี ด้วย ถือว่าอันตรายมั้ยคะ

    ขอบคุณค่ะ

     

     

    สวัสดีค่ะ คุณผู้ใช้งาน,

                      ผลอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน

                      - ตับมีขนาดปกติ แต่พบค่าคลื่นความถี่ในตับสูงกว่าปกติแบบทั่วๆ โดยไม่พบก้อนชัดเจน

                       - หลอดเลือดใหญ่ของตับปกติดี ท่อน้ำดีไม่มีการขยายตัว

                       -  ถุงน้ำดี ตับอ่อน ม้าม ไตทั้ง 2 ข้าง ปกติดี ไม่มีน้ำในช่องท้อง ไม่มีต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องโต 

                       สรุปผล มีภาวะไขมันพอกตับ 

                       ซึ่งภาวะไขมันพอกตับ แบ่งออกเป็น

                      - ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป

                      - ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์  เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญ เช่น มีโรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น หรือเกิดจากการอดอาหาร การลดน้ำหนักมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ ความผิดปกติของลำไส้ในการดูดซึมสารอาหาร  มีโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี หรือการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางอย่าง เป็นต้น

                         ดังนั้น หากเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบชนิดบีอยู่ ก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดไขมันพอกตับได้ ดังนั้น ก็ควรดูแลรักษาไวรัสตับอักเสบบีที่เป็นอยู่ โดยควรไปพบอายุรแพทย์เพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ หากมีข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วย ก็ต้องรักษาค่ะ ในขณะนี้ ไม่สามารถบอกได้ว่าอันตรายหรือไม่ ต้องตรวจเพิ่มเติมอีกค่ะ

                         การเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีนั้น หมายความว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังค่ะ ไม่ได้หมายความว่าเป็นแค่พาหะ ซึ่งการดูแลต่อจากนี้ ได้แก่ 

                      - การตรวจเลือดเพื่อประเมินดูภาวะของโรค ได้แก่ HBeAg, HBeAb, และ HBV DNA

                     - ตรวจติดตามการทำงานของตับ โดยตรวจ ALT (alanine aminotranferase) ทุก 3-6 เดือน

                     - ตรวจประเมินระยะของโรคตับ ด้วยอัลตราซาวน์ หรือวัดความยืดหยุ่นตับ ด้วยเครื่อง transient elastography

                     หากการตรวจติดตามเป็นระยะดังกล่าว มีความผิดปกติที่เข้าเกณฑ์การรักษา แพทย์ก็จะจ่ายยาต้านไวรัสให้ค่ะ ซึ่งยาที่ใช้รักษามีทั้งชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังและยาทาน เช่น Interferon-alpha, lamivudine เป็นต้น

                     สำหรับการดูแลตนเองทั่วไป ได้แก่ การงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมถึงการสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ซื้อยาและอาหารเสริมรับประทานเอง ลดอาหารที่มีไขมันสูง หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ เช่น ถั่วลิสง พริกแห้งที่อาจปนเปื้อนเชื้อรา เนื้อสัตว์ปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม อาหารที่อาจใส่ดินประสิว เช่น ไส้กรอก เบคอน เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ของหมักดอง แหนม อาหารสุกๆดิบๆ เช่น ปลาร้า นอกจากนี้แนะนำให้คนที่อยู่ใกล้ชิดกับไปตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีด้วยค่ะ