ถามแพทย์

  • เคี้ยวเนื้อที่เหนียวแล้วมีอาการเสียว ปวดแปล๊บๆ ที่ด้านขวา ไม่แน่ใจว่าปวดฟันหรือปวดกราม

  •  nutafc
    สมาชิก

    พอดีเมื่อวานเย็นผมเคี้ยวอาหารเหมือนจะผิดจังหวะเคี้ยวเนื้อค่อนข้างเหนียวแล้วมีอาการเสียวแปล้บขึ้นมาบริเวณฝั่งขวา ผมเป็นคนเน้นเคี้ยวด้านขวาข้างเดียวบ่อยเพราะฝั่งซ้ายมีซี่นึงที่ทำรากฟันมาเลยไม่ค่อยลงแรงมาก(แต่มีลงบ้างเว้นเคี้ยวอาหารเหนียวๆ/หนัก จะใช้ขวาอย่างเดียว) แล้วเช้าวันต่อมามาทานมื้อเช้า มีอาการปวดๆแปล้บๆที่เดิม เลยสงสัยว่าปวดฟันหรือปวดทัี่กรามหรืออย่างอื่น อาการปวดอยู่บริเวณข้างๆหู/แก้ม จะปวดเฉพาะลงน้ำหนักเคี้ยวเนื้อสัตว์/ผักแข็งๆเท่านั้นครับ ผมดูแลช่องปากค่อนข้างจะดีหลังจากรักษารากฟันมา แปรงฟันหลังตื่นนอน-ก่อนนอนสม่ำเสมอ บ้วนน้ำเกลือหลังอาการประจำ ทานผักผลไม้ นมบ่อยเพราะลดน้ำหนักด้วยครับ ทำแบบนี้มานานมาก เลยสงสัยว่าที่มาเป็นแบบฉับพลันอาจะเพราะจากการเคี้ยวฝั่งเดียวมากๆแล้วเจอของเหนียวกว่าปกติเข้าไปเลยมีอากาเลยวานรบกวนคุณหมอวินิจฉันเบื้องต้นให้หน่อยครับแล้วมีการบรรเทาอาการแบบไหนช่วยให้หายไวขึ้นบ้างครับ ขอบคุณครับ

    สวัสดีค่ะ คุณ nutafc,

                       อาการเสียวฟัน ปวดแปล๊บๆ ที่เป็นอยู่ อาจเกิดจาก

                      1. ฟันผุ ซึ่งหากผุลึกเกินชั้นเคลือบฟันลงไปจนถึงชั้นเนื้อฟัน จะทำให้มีอาการเสียวฟันเมื่อทานของหวานจัด เย็นจัด หรือร้อนจัดได้ และเกิดอาการปวดเวลาเคี้ยวอาหารมากๆ ได้ 

                      2. ฟันคุด ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดได้ และหากมีการผุของฟันคุด หรือมีการอักเสบของเหงือกตามมา ก็จะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น

                      3. มีเหงือกอักเสบ เกิดจากการมีคราบหินปูนสะสมบนเหงือกส่วนที่หุ้มฟัน ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตและเกิดการอักเสบตามมา และทำให้เกิดอาการปวดได้

                     4. ฟันเกิดการบิ่นหรือแตก จาการเคี้ยวของที่แข็งมาก โดยหากเกิดการบิ่นหรือแตกลึกถึงชั้นเนื้อฟันข้างใน ก็จะทำให้เกิดอาการเสียวฟัน หรือปวดเวลาเคี้ยวอาหารได้ 

                      5. ข้อต่อขากรรไกรอักเสบ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ และแรงกระแทกจากการบดเคี้ยวที่รุนแรง ก็จะเป็นสาเหตุได้ด้วย อาการคือจะทำให้ปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกรซึ่งอยู่บริเวณหน้าหู และเวลาอ้าปาก หุบปาก หรือเคี้ยว จะเจ็บมากขึ้น หากกดบริเวณหน้าใบหูก็จะเจ็บ และอาจมีเสียงผิดปกติที่ข้อต่อขากรรไกร เช่น เสียงคลิก หรือ เสียงกรุบกรับ และอาจมีอาการบวมเล็กน้อยได้ เป็นต้น 

                       หากยังคงปวดต่อเนื่อง แนะนำควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูว่าเกิดจากสาเหตุในช่องปากหรือไม่ และจะได้รักษาตามสาเหตุค่ะ แต่หากไม่มีปัญหาของเรื่องเหงือกและฟัน ก็อาจเกิดจากข้อต่อขากรรไกรอักเสบได้ ในช่วงนี้ แนะนำควรงดการอ้าปากกว้าง การพูดเยอะ หลีกเลี่ยงการทานอาหารแข็งที่ต้องเคี้ยวมาก เช่น เนื้อสัตว์ที่เหนียว เป็นต้น และดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากดังที่ได้ทำอยู่ต่อไปค่ะ หากปวดมาก อาจทานยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (์NSAIDs) เช่น ไดโคลฟีแนค (diclofenac), ไพรอกซิแคม (piroxicam), ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เป็นต้น โดยอาจทานร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อค่ะ