ถามแพทย์

  • หมอที่โรงพยาบาลบอกเป็นหลอดลมอักเสบ ได้ยามาทาน ควรปรับพฤติกรรมอย่างไร จะได้หายเร็วขึ้น

  •  SATHAPHORN
    สมาชิก
    สวัสดีครับคุณหมอ ผมไปตรวจโรคที่โรงพยาบาลมา หมอบอกว่ากลอดลมอักเสบ คือได้ยามากลับมาทานนะครับ แต่อยากทราบว่าควรปรับพฤติกรรมอะไรร่วมด้วยมั้ยครับ จะได้กายได้เร็วขึ้น ส่วนตัวเป็นคนไม่สูบบุหรี่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ครับ

    สวัสดีค่ะ คุณ SATHAPHORN,  

                        หลอดอักเสบ หากเป็นไม่เกิน 3 สัปดาห์ เรียกว่าเป็นหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน แต่หากเป็นนานเกิน 3 สัปดาห์ เรียกว่าเป็นหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง

                         หลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันนั้น ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด  มีส่วนน้อยประมาณร้อยละ 10 ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้ว ก็มักเป็นตามหลังไข้หวัด ซึ่งไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ทำให้การติดเชื้อลามลงไปถึงหลอดลม ดังนั้น ก็จะมีอาการของไข้หวัดนำมาก่อน เช่น ไข้ จาม คัดจมูก มีน้ำมูก ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ และต่อเนื่องด้วยอาการไอมาก ไอบ่อย ซึ่งมักมีเสมหะร่วมด้วย อาจมีหอบเหนื่อย หายใจลำบากได้ อาการไอมักนานเป็นกว่า 1 สัปดาห์

                       หลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน มักจะหายได้เอง ภายใน 7-10 วัน ถ้าปฏิบัติตนถูกต้อง และเนื่องจากส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่จำเป็นต้องทานยาปฏิชีวนะ 

                       ส่วนการดูแลตนเอง เพื่อให้หายเร็วขึ้น ได้แก่ การดื่มน้ำเปล่ามากๆ หลีกเลี่ยงน้ำเย็น ไม่โดนลมเย็น  โดยเฉพาะแอร์ พัดลมเป่า ไม่อาบน้ำเย็น ไม่สูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควัน สารเคมี ฝุ่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ทานขนมกรุบกรอบ อาหารหวานจัด เพราะจะทำให้ไอมากขึ้น ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ งดการทำงานหหนักไปก่อน เป็นต้น ทานยารักษาตามอาการ เช่น ทานยาลดไข้เมื่อมีไข้ ทานยาแก้ไอ  เช่น dextromethorphan ถ้ามีเสมหะมาก อาจทานยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะ เป็นต้น 

                        สำหรับหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ โรคหืด หรือเกิดจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน หรือสัมผัสกับมลภาวะ  หรือสารระคายเคืองจากการประกอบอาชีพ เช่น ฝุ่น ควัน หรือไอระเหยสารเคมี หรืออาจเกิดจากเป็นโรคพันธุกรรมบางอย่าง ซึ่งการดูแลรักษาจะซับซ้อนกว่าหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น ซึ่งมักจะต้องติดตามประเมินอาการจากแพทย์เป็นระยะๆ แต่การดูแลตนเองโดยรวม ก็จะคล้ายกับหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันค่ะ