-
อายุ 28 ปี มีห้อเลือดที่ฝ่าเท้า 2 จุดสีแดงสด ไม่เจ็บ ไม่คัน มี 1 จุดกำลังใกล้หาย อันตรายไหม
-
May 08, 2022 at 10:29 AM
ขออนุญาตสอบถามค่ะมีห้อเลือดที่ฝ่าเท้าสองจุดขนาดประมาณ1 Cm สีแดงสด ไม่เจ็บไม่คัน ลูบๆเป็นรอยบุ๋มตามขนาดของเลือดที่เป็น อีกจุดคือกำลังใกล้หายมีขนาดประมาณ0.5ซม แฟนพึ่งสังเกตุเห็นเมื่อคืนว่าเป็นห้อเลือดค่ะ ก็เลยไม่ได้สังเกตุว่ามี แบบนี้จะเป็นอันตรายมั้ยคะ ไม่เคยได้รับการกระแทก หรืออะไรล้มใส่หรืออุบัตเหตุต่างๆ คือเกิดขึ้นเองค่ะ ขณะนี้มีประจำเดือนมาด้วยค่ะ แต่มีอาการปวดส้นเท้ามานานเป็นเดือนร่วมด้วย ส่วนสูง 156 นน 62 อายุ 28ปี เพศหญิงค่ะ ไม่มีประวัตแพ้ยา หรืออาหาร ช่วงนี้ไม่ได้ใช้ยาอะไรMay 08, 2022 at 10:52 AM
สวัสดีค่ะ คุณ vandana,
คำว่าห้อเลือดนั้น ปกติจะหมายถึงการมีเลือดคั่งใต้เล็บ (Subungual hematoma) ค่ะ โดยจะทำให้เล็บมีสีแดงออกม่วง แล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำค่ะ
ดังนั้น การที่จุดสีแดงที่ฝ่าเท้า จึงไม่ได้เรียกห้อเลือด แต่อาจเป็น
- แผลฟกช้ำ ถือเป็นแผลชนิดที่ไม่การฉีดขาดหรือแยกตัวของผิวหนัง แต่เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดเล็กๆ ในชั้นเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนัง หรือในชั้นกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดมีเลือดออกในชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ และปรากฏเป็นสีแดงขึ้นในช่วงแรก ซึ่งต่อมา สีแดงจะหลายเป็นสีม่วงน้ำเงิน หลังจากนั้น จะกลายเป็นสีม่วงเข้มดำไปนาน 1-5 วัน แล้วจะค่อยๆ กลายเป็นสีเขียวและเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาล แล้วจะหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์
- จุดเลือดออกใต้ผิวหนัง (petechiae) อาจเกิดได้จากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ หรือหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบก็ได้ โดยจะเห็นเป็นจุดสีแดงเข้มขนาด 1-2 มิลลิเมตรใต้ผิวหนัง เมื่อลองกดแล้วสีจะไม่จางลง ไม่มีอาการเจ็บและไม่คัน
- ก้อนเนื้องอกหลอดเลือดที่ผิวหนัง ซึ่งทำให้เกิดเป็นจุดนูนสีแดงได้
- เป็นผื่นชนิดต่างๆ เช่น ผื่นแพ้ ผื่นจากแมลงสัตว์กัดต่อย เป็นต้น มักมีอาการคัน หรือเจ็บ แสบร่วม
ดังนั้น หากจุดสีแดงที่เกิดขึ้น มีสีแดงคงที่ คือไม่ได้มีการเปลี่ยนสีไปตามเวลา ก็ไม่ใช่แผลฟกช้ำ แต่อาจเป็นจุดเลือดออก (petechiae) หรือเนื้องอกหลอดเลือดก็ได้ แต่หากจุดหายไปได้เอง ก็ไม่ใช่เนื้องอก แต่น่าจะเป็นจุดเลือดออกมากกว่าค่ะ ซึ่งหากมีแค่ 2 จุด ก็ไม่ได้ถือว่าผิดปกติหรืออันตรายอะไรค่ะ แนะนำควรสังเกตผิวหนังบริเวณอื่นๆ ว่ามีหรือไม่ หากพบที่บริเวณอื่นๆ อีก และพบหลายจุด ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุค่ะ
ส่วนอาการปวดส้นเท้า อาจเกิดจากโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (หรือโรครองช้ำ) ซึ่งอาการคือ จะปวดบริเวณส้นเท้าหรืออาจลามไปทั้งฝ่าเท้า อาการจะปวดมากที่สุดเมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังจากตื่นนอนหรือจากนั่งพักเป็นเวลานาน สาเหตุของโรคอาจเกิดได้จาก
1. การรับน้ำหนักเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นฝ่าเท้าต้องรับน้ำหนักมาก พบในผู้ที่ต้องยืนต่อเนื่องเป็นเวลานาน
2. มีน้ำหนักตัวมาก
3. การออกกำลังกายบางอย่างที่มีการกระแทกส้นเท้ามากไป เช่น การวิ่งระยะทางไกล หรือวิ่งบนพื้นที่ขรุขระมากไป การเต้นแอโรบิค การเต้นบัลเล่ย์ เป็นต้น
4. สวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้า
5.เอ็นร้อยหวายยึด หรือเอ็นบริเวณน่องยึด ทำให้ส้นเท้าและข้อเท้าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
6. ปัจจัยทางโครงสร้างร่างกาย เช่น อุ้งเท้าแบนไป อุ้งเท้าโก่งมากไป
7. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เส้นเอ็นที่เชื่อมกับข้อต่อกระดูกอาจเกิดการอักเสบ และทำให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
ในเบื้องต้นพยายามลดปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ไปก่อน เช่น หากมีน้ำหนักตัวมาก ก็พยายามลดน้ำหนักตัวลง งดการใส่ส้นสูง ใส่รองเท้าให้มีขนาดที่พอดี และมีพื้นบุตรงส้นเท้าที่ยืดหยุ่นไม่แข็งเกิน ควรหมั่นแช่เท้าในน้ำอุ่นและบีบนวดเท้า งดการออกกำลังกายที่ต้องใช้เท้ากระแทกพิ้น เช่น การวิ่งหรือเต้น เป็นต้น ในช่วงที่ปวดมาก อาจทานแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไดโคลฟีแนค (diclofenac), นาโปรเซน (naproxen) เพื่อบรรเทาอาการ หากยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจค่ะ
-
ถามแพทย์
-
อายุ 28 ปี มีห้อเลือดที่ฝ่าเท้า 2 จุดสีแดงสด ไม่เจ็บ ไม่คัน มี 1 จุดกำลังใกล้หาย อันตรายไหม