-
ทำงานมา 1 เดือน มียืนและเดินทั้งวัน รองเท้าที่ใส่แข็ง มีอาการปวดส้นเท้าหลังเลิกงานและตื่นนอน ควรทำอย่างไร
-
Sep 15, 2018 at 05:51 AM
สวัสดีค่ะคุณหมอ หนูเพิ่งเข้าทำงานบริษัทหนึ่งได้ 1 เดือน และมีอาการปวดส้นเท้าทุกวัน ตอนแรกคิดว่าพักบ้างก็หาย แต่หนูเริ่มคิดว่ามันสะสมมากแล้ว เพราะจากตอนแรกที่แค่ปวดส้นเท้า หนูเริ่มเจ็บตอนที่เท้าคลายตัวหลังทำงาน/ตื่นนอนแล้วค่ะ ปัจจัยที่หนูคิดว่าเกี่ยวกับเท้ามีประมาณนี้ค่ะ - ประชุม พวกหนูต้องประชุมด้วยการยืนทุกวัน วันละหลายครั้ง รวมไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง - ยืน/เดินตลอดเวลาทั้งวัน หนูมีเวลานั่งพักแค่ช่วงเบรค (พักเที่ยง 1 ชม. เบรคกินข้าวเย็น 1 ชม.) เวลาที่เหลือหนูไม่ได้นั่งเลย (8:00-20:00) เพราะเก้าอี้มีให้แค่คนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ จะเขียนเอกสารก็ยังต้องยืนเขียนกับโต๊ะประชุมที่ไม่มีเก้าอี้ให้ - รองเท้าเซฟตี้ พื้นมันแข็งมาก แต่ตอนช่วงเรียนหนูก็ใส่มันปกติจนชินแล้ว ก็ไม่เคยปวดส้นเท้า แต่อาจเป็นเพราะตอนเรียนได้นั่งเป็นปกติ - กลับถึงบ้านไม่เคยประคบเท้า เพราะกว่าจะถึงก็ 4 ทุ่ม หนูอาบน้ำเสร็จแล้วนอนเลย ง่วงเกินกว่าจะทำต่อค่ะ - ชีวิตปกติก่อนทำงาน หนูเพิ่งเรียนจบ ตอนเรียนก็เน้นคำนวณ งานอดิเรกคือวาดรูป เพราะงั้นจะไม่เคยใช้เท้าหนัก หรือต่อให้ทำกิจกรรมอะไรก็มีเก้าอี้ให้นั่งพักขา นานๆทีจะไปเที่ยว เคยเดินห้างทั้งวันก็ทั้งปวดหลังปวดขา แต่แค่พักซักวันก็หาย จากที่ว่ามา หนูกังวลว่าหนูจะทำงานนี้ต่อไม่ได้ ถ้าทำงานนี้ไปเรื่อยๆแล้วอาการปวดมันเรื้อรังจะทำยังไง แต่ถ้าลาออกเพราะปวดส้นเท้าก็ดูแปลกๆ พี่ๆที่ทำงานเค้ายังอยู่ได้ เพราะงั้นจึงอยากปรึกษาว่า หนูควรทำยังไงดีคะ ลาออกเพื่อลดความเสี่ยง หรือทนๆไปเพราะเท้าหนูอาจจะปรับตัวได้ ขอคำแนะนำด้วยค่ะSep 15, 2018 at 10:04 AM
สวัสดีค่ะ คุณ Nale Elne,
อาการปวดส้นเท้า อาจเกิดจากโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ หรือคือโรครองช้ำ ซึ่งอาการคือ จะปวดบริเวณส้นเท้าหรืออาจลามไปทั้งฝ่าเท้า อาการจะปวดมากที่สุดเมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังจากตื่นนอนหรือจากนั่งพักเป็นเวลานาน สาเหตุของโรคอาจเกิดได้จาก
1. การรับน้ำหนักเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นฝ่าเท้าต้องรับน้ำหนักมาก พบในผู้ที่ต้องยืนต่อเนื่องเป็นเวลานาน
2.มีน้ำหนักตัวมาก
3. การออกกำลังกายบางอย่างที่มีการกระแทกส้นเท้ามากไป เช่น การวิ่งระยะทางไกล หรือวิ่งบนพื้นที่ขรุขระมากไป การเต้นแอโรบิค การเต้นบัลเล่ย์ เป็นต้น
4.สวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้า
5.เอ็นร้อยหวายยึด หรือเอ็นบริเวณน่องยึด ทำให้ส้นเท้าและข้อเท้าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
6. ปัจจัยทางโครงสร้างร่างกาย เช่น อุ้งเท้าแบนไป อุ้งเท้าโก่งมากไป
7. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เส้นเอ็นที่เชื่อมกับข้อต่อกระดูกอาจเกิดการอักเสบ และทำให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
เนื่องจากลักษณะงานที่คุณ Nale Elne ทำมีการยืนและเดินทั้งวัน รวมถึงการใส่รองเท้าที่มีพื้นแข็ง จึงน่าจะเป็นสาเหคุของการเกิดโรครองช้ำได้
ในเบื้องต้นพยายามลดปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ไปก่อน เช่น หากมีน้ำหนักตัวมาก ก็พยายามลดน้ำหนักตัวลง การเปลี่ยนรองเท้าที่ใช้ทำงานให้มีขนาดพอดี และมีพื้นบุตรงส้นเท้าที่ยืดหยุ่นไม่แข็งเกิน ส่วนเวลาอื่นๆ ให้งดการใส่รองเท้าส้นสูง ควรหมั่นแช่เท้าในน้ำอุ่นและบีบนวดเท้า งดการออกกำลังกายที่ต้องใช้เท้ากระแทกพิ้น เช่น การวิ่งหรือเต้น เป็นต้น ในช่วงที่ปวดมาก อาจทานแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไดโคลฟีแนค (diclofenac), นาโปรเซน (naproxen) เพื่อบรรเทาอาการ หากยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่ามีโรคอื่นๆ หรือไม่ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น หากไม่มีโรคอื่นๆ และได้พยายามลดปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดแล้ว จึงอาจจำเป็นต้องพิจารณาเปลี่ยนงานค่ะ
-
ถามแพทย์
-
ทำงานมา 1 เดือน มียืนและเดินทั้งวัน รองเท้าที่ใส่แข็ง มีอาการปวดส้นเท้าหลังเลิกงานและตื่นนอน ควรทำอย่างไร