-
มีอาการเหมือนโรคปากนกกระจอก มีรอยแตกแดง เจ็บ บริเวณข้างมุมปาก เป็นมา 3 เดือนแล้ว รักษาอย่างไร
-
May 27, 2022 at 11:57 AM
สวัสดีค่ะคุณหมอ พอดีมีอาการเหมือนโรคปากนกกระจอก มีแผลเป็นรอยแตกแดง เจ็บ บริเวณข้างมุมปาก ซึ่งเป็นมานานเกือบ3เดือนแล้วค่ะ เป็นๆหายๆ อยากทราบว่าเราต้องทายาอะไร หรือ กินยาตัวไหนบ้างคะ แล้วถ้าต้องพบแพทย์จะต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านใดหรอคะMay 27, 2022 at 12:33 PM
สวัสดีค่ะ คุณ AP0628,
การมีรอยแดง ผิวหนังแตก ที่บริเวณมุมปาก น่าจะเป็นอาการของปากนกกระจอก (Angular cheilitis) ซึ่งคือการมีการอักเสบที่เกิดตรงมุมปาก โดยจะมีอาการเจ็บ ปวดแสบปวดร้อนตรงมุมปาก มีรอยแดง อาจมีการลอก แห้ง แตก หรืออาจเกิดตุ่มพองน้ำขึ้นมา เป็นแผล และมีน้ำเหลืองไห โดยอาจเป็นที่มุมปากข้างเดียวหรีอทั้ง 2 ข้างก็ได้
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดปากนกกระจอก ได้แก่
1. การติดเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งถือเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคนี้คือเชื้อแคนดิดา (Candida) ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อ เช่น การที่น้ำลายหมักหมมที่มุมปาก จากการเลียปากบ่อยๆ ซึ่งความชื้นและอุ่นของน้ำลายทำให้เชื้อราและแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี หรือการมีมุมปากตก จากอายุที่มากขึ้นหรือน้ำหนักลดลง ทำให้รอยย่นที่มุมปากลึกมากขึ้น เกิดการหมักหมมน้ำลายได้ง่ายขึ้น
2. เกิดการติดเชื้อในปาก หรือริมฝีปาก แล้วเชื้อได้ลุกลามขึ้น เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อราจากโรคเชื้อราในช่องปาก หรือเชื้อไวรัสจากโรคเริมที่ริมฝีปาก
3. ขาดวิตามินบี 2 ((ไรโบฟลาวิน) ซึ่งช่วยในการทำงานของกระบวนการเมตาบอลิซึมต่าง ๆ และบำรุงรักษาเนื้อเยื่อผิวหนัง การขาดวิตามินบี 2 จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปากนกกระจอกได้
4. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) อาจทำให้เกิดปากนกกระจอกได้
5. ปากแห้งแตก ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น อากาศที่แห้ง มีลมพัดแรง ทำให้ริมฝีปากขาดความชุ่มชื้น การดื่มน้ำน้อย ร่างกายขาดน้ำ การระคายเคืองจากสารเคมีต่างๆ เช่น จาก ลิปสติก ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก รวมถึงอาหารบางชนิด เป็นต้น ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก เป็นต้น การสูบบุหรี่
หากอาการเป็นมานาน 3 เดือนแล้ว แนะนำควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุ โดยอาจไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมในเบื้องต้นก่อนค่ะ
ส่วนการดูแลในเบื้องต้น ควรพยายามดื่มน้ำมากๆ ไม่เลียหรือเม้มริมฝีปาก หลังจากทานอาหารเสร็จควรบ้วนปากรวมถึง ริมฝีปากด้วย หลีกเลี่ยงการใช้ลิปสติกที่เป็นสีหากไม่จำเป็น สำหรับลิปบาล์มหรือลิปมัน ควรเลือกที่ไม่ผสมสี กลิ่นและสารกันเสีย และใช้เมื่อปากแห้งมากจริงๆ เท่านั้น การใช้บ่อยๆ อาจทำให้ยิ่งแห้งมากขึ้นแทน หลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่รุนแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีลมแรง เป็นต้น นอกจากนี้ ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดสารอาหารต่างๆ รวมถึงวิตามินบี 2 (ซึ่งพบมากในนม โยเกิร์ต ชีส เนื้อแดง ทูน่า แซลมอน ถั่วเหลือง อัลมอนด์ ผักใบเขียว ธัญพืช)
-
ถามแพทย์
-
มีอาการเหมือนโรคปากนกกระจอก มีรอยแตกแดง เจ็บ บริเวณข้างมุมปาก เป็นมา 3 เดือนแล้ว รักษาอย่างไร