ถามแพทย์

  • เป็นไข้สูงมา 3 วัน เจ็บคอมาก กลืนน้ำลายเจ็บ มีก้อนเล็กๆ ที่คอ ต้องดูแลอย่างไร

  •  Rungnapa Pang
    สมาชิก
    พอดีเป็นต่อมทอนซิลมาตั้งแต่เด็กๆ แต่วันนี้ป่วยเป็นไข้ขึ้นสูงมา3วัน ตอนกลางคืนจะไม่มีไข้นอนเหงื่อออกทั้งคืน แต่พอเช้ามาไข้ขึ้นสูงเหมือนเดิม แล้วก็เจ็บคอหนักมากแบบกลืนน้ำลายยังเจ็บ จับดูที่คอมีก้อนเล็กๆประมานหัวนิ้วโป้งมือ2ก่อน ยังงี้ต้องดูแลตัวเองอย่างไงคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Rungnapa Pang,

                     อาการมีไข้สูง เจ็บคอ กลืนแล้วเจ็บ อาจเกิดจาก

                     1. คอหอยอักเสบ (pharyngitis) มักเป็นผลจากการที่กำลังเป็นโรคไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่อยู่ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส อาการคือจะมีไข้ ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ เสียงแหบ จาม มีน้ำมูก คัดจมูก ตาแดง ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว

                       มีประมาณ 10-15% ที่คออักเสบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้วิงเวียน คอแดง เจ็บคอ กลืนลำบาก มีจุดหรือแผ่นสีขาวหรือสีเทาบริเวณลำคอ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวมโต ซึ่งจะทำให้คลำได้เป็นก้อนเล็ก ที่บริเวณคอ

                      2. ทอนซิลอักเสบ (tonsillitis) สาเหตุส่วนใหญ่ประมาณ 70%-80% เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อไวรัสอื่นๆ  อีกประมาณ 15-20% เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยหากเกิดจากเชื้อไวรัส จะมีอาการของไข้หวัดร่วมด้วย แต่หากเป็นทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย จะมีอาการเจ็บคอมากจนกลืนน้ำและอาหารได้ลำบาก มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีกลิ่นปาก อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอด้านหน้าโต ต่อมทอนซิลทั้งสองข้างจะบวมโต สีแดงจัด และมักมีแผ่นหนองอยู่บนทอนซิล มักไม่มีอาการของไข้หวัด

                          ดังนั้น หากมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก กลืนลำบาก มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต โดยที่ไม่มีอาการของไข้หวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส คือไม่มีจาม ไม่มีน้ำมูก ไมไอ เป็นต้น ก็น่าจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แนะนำควรไปพบพบแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะทานค่ะ เพราะหากไม่ได้รับยาปฏิชีวนะรักษา อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีที่ทอนซิล เชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือดแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ทำให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อ เป็นต้น หรืออาจกลายเป็นไข้รูมาติกได้

                        ส่วนการดูแลตนเองในเบื้องต้นได้แก่ การดื่มน้ำเปล่ามากๆ โดยควรดื่มน้ำที่อุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่น งดน้ำเย็น พักผ่อนเยอะๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผักและผลไม้ ทานอาหารอ่อน ๆ รสจืด งดใช้เสียงมาก งดการสูบบุหรี่ หรืออยู่ในที่มีควันบุหรี่ หรือควันต่างๆ งดดื่มแอลกอฮอล์ บ้วนปากล้างลำคอด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ ทานยาลดไข้แก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน เป็นต้น