ถามแพทย์

  • ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาวันที่ 8 ส.ค. หลังจากนั้นมีคัดจมูก จาม แทบทุกวัน อันตรายไหม ควรทำอย่างไน

  •  ringabell
    สมาชิก

    สวัสดีค่ะ

    รบกวนปรึกษาคุณหมอค่ะ 

    พอดีฉีดวัคซีนแอสตร้าเข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 8 ส.ค.64

    จากการสังเกตอาการพบว่า ช่วงดึกๆของแต่ละวัน (แทบทุกวัน) บางวันจะเป็นช่วงเช้าจะมีอาการหวัดคัดจมูก จาม อาการคล้ายภูมิแพ้และหวัด แต่ไม่ปวดหัว มีอาการเหนื่อยจากการจาม เบื้องต้นกินยาแก้แพ้และนอน ตื่นเช้ามาจะหาย ในหนึ่งสัปดาห์จะเป็นแบบนี้ประมาณ 4 วัน

    จึงอยากขอสอบถามว่า แบบนี้อันตรายไหมคะ? ควรปฏิบัติอย่างไรหรือควรไปพบแพทย์ไหมคะ?

    ขอบคุณมากค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ ringabell,

                        ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 นั้น อาจทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดได้ แต่ก็จะเป็นอยู่เพียง 1-2 วัน หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 1 สัปดาห์ ดังนั้น หากอาการคัดจมูกและจาม เป็นมาตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. รวมแล้วเกือบ 1 เดือน โดยอาการเป็นๆ หายๆ  ก็ไม่น่าเกิดจากผลของวัคซีนแล้วค่ะ แต่น่าจะเกิดจาก  การเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดแพ้อากาศ (allergic rhinitis) โดยอาการได้แก่ น้ำมูกไหล คัดจมูก จาม คันตา คันจมูก คันในลำคอ จมูกอาจได้กลิ่นลดลง อาการจะเป็นแบบเรื้อรังต่อเนื่อง โดยมีช่วงที่ดีขึ้นสลับกับช่วงอาการกำเริบ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อสัมผัสกับสารก่อนภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น ขนนก นุ่น ฝ้าย เชื้อราต่างๆ สัตว์เลี้ยงต่างๆ ทั้ง สุนัข แมว หนู กระต่าย เกสรดอกไม้ ดอกหญ้า ไรฝุ่น แมลงสาบ และแมลงต่างๆ วัสดุเฟอร์นิเจอร์ เช่น ใยมะพร้าว เป็นต้น นอกจากนี้ความเครียด อากาศที่เย็น ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้ด้วย อาการจึงมักกำเริบในช่วงกลางคืนที่อากาศเย็น หรือในช่วงหน้าฝน หน้าหนาว เป็นต้น 

                         หากอาการไม่รุนแรง ก็สามารถดูแลตนเองได้ ในเบื้องต้น ต้องพยายามหาสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการและพยายามหลีกเลี่ยง ซึ่งหากเป็นเฉพาะช่วงดึก ก็พยายามรักษาร่างกายให้อบอุ่น สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ห่มผ้าให้อบอุ่น ไม่เปิดแอร์เย็นเกินไป ไม่โดนลมจากแอร์หรือพัดลมโดยตรง ไม่เปิดหน้าต่างกว้างเกินไป ป้องกันลมพัดเข้ามา รวมถึงไม่ควรอาบน้ำเย็นในช่วงกลางคืน ไม่ดื่มน้ำเย็น เป็นต้น

                          หากมีอาการคัดจมูกมาก อาจใช้วิธีล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หรือทานยาลดอาการคัดจมูก เช่น pseudoephedrine, phenylephrine หรือใช้ยาลดอาการคัดจมูกแบบพ่นหรือหยด เช่น oxymetazoline เป็นต้น

                         นอกจากนี้ ก็ควรเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงขึ้น เพื่อช่วยลดการกำเริบของอาการ เช่น การทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะเน้นทานผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงของหวาน อาหารที่มีไขมันสูง และแป้งแปรรูปต่างๆ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น

                         แต่หากอาการไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาค่ะ