ถามแพทย์

  • แฟนมีเม็ดเลือดขาวมากผิดปกติ ปวดหลังมาก หมอบอกเกิดจากการติดเชื้อในร่างกายหรือพยาธิ ให้ยาฆ่าพยาธิมากินอาการปวดลดลง แบบนี้ถือว่ารุนแรงไหม

  •  Taeng Ka Wut
    สมาชิก
    แฟนหนูมีเม็ดเลือดขาวมากผิดปกติ มีอาการปวดหลังมาก หมอบอกเกิดจากการติดเชื้อในร่างกาย หรือ พยาธิ แต่ยังไม่ชัด ให้ยาฆ่าพยาธิมากินอาการปวดลดลงแต่ยังไม่ เป็นแบบนี้ถือว่ารุนแรงมั้ยค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Taeng Ka Wut,

                    ค่าปกติของเม็ดเลือดขาวรวมทุกชนิดในผู้ใหญ่ คือประมาณ 4,000-11,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร หากแยกสาเหตุตามชนิดเม็ดเลือดขาวที่สูง จะแบ่งเป็น

                    1. เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิว (neutrophil) หากสูงกว่าปกติ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย เช่น เป็นฝี ปอดบวม กรวยไตอักเสบ เป็นต้น เกิดจากากรฉีดวัคซีนบางชนิด เช่น นิวโมคอคคัส เป็นโรครูมาตอยด์ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง การใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ลิเทียม heparin, carbamazepone, phenytoin, phenobarbital เป็นต้น เป็นโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งของอวัยวะต่างๆ พบในภาวะเครียด การบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุ หลังการผ่าตัด การออกกำลังกายที่หนัก เป็นต้น

                  2. เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซด์ (lymphocyte) ที่สูงกว่าปกติ มักมีสาเหตุจากติดเชื้อไวรัสต่างๆ เช่น ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดไอกรน รวมถึงโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด

                  3. เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ (momocyte) หากสูงกว่าปกติ พบได้ในการติดเชื้อต่างๆ เช่นติดเชื้อไวรัส EBV ที่ทำให้เกิดโมโนนิวคลีโอสิส ติดเชื้อวัณโรค เชื้อมาลาเรีย เป็นต้น พบในโรคภูมิแพ้ตัวเอง มะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด และมะเร็งของอวัยวะต่างๆ

                  4. เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (eosinophil)  หากสูงกว่าปกติ พบได้ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ลมพิษ หอบหืด การติดเชื้อพยาธิต่างๆ โรมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดอิโอซิโนโนฟิล เป็นต้น

                  5. เม็ดเลือดขาวชนิดบาโซฟิล(basophil) ที่สูงกว่าปกติพบได้น้อยมาก อาจเกิดจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด

                 ดังนั้นแนะนำให้ดูชนิดของเม็ดเลือดขาวที่ขึ้นสูงผิดปกติก่อนค่ะ ว่าเป็นชนิดไหน แล้วจึงดูอาการและอาการแสดงประกอบกัน ว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรค่ะ หรืออาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมต่างๆ ในกรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อพยาธิ อาจต้องส่งอุจจาระตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือเอ็กเรย์บริเวณที่สงสัย หรือตรวจเลือด หรือส่งชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นต้น