ถามแพทย์

  • เหล็กมีสนิมขูดที่หัวเข่าจนมีเนื้อฉีก กินยาแก้อักเสบกับล้างแผลแล้ว ต้องฉีดบาดทะยักไหม

  •  Rapeeporn
    สมาชิก
    เหล็กมีสนิมค่ะ แล้วไม่แน่ใจว่าฉีดวัคซีนครบหรือป่าว กลัวจะเป็นบาดทะยักค่ะ มันขูดจนเนื้อฉีก เป็นมาตั้งแต่วันเสาร์แล้วค่ะ แต่ก็กินยาแก้อักเสบกับล้างแผลไปแล้ว ไม่อยากไปโรงบาล เพราะพ่อบอกว่าหน้าจะฉีดครบแล้ว คือฉีดครบไม่ครบแต่แผลมันถึงเนื้อมันจะเกี่ยวกันมั้ยคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Rapeeporn,

                    โรคบาดทะยักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งพบเชื้อชนิดนี้ในพื้นดิน พื้นผิวที่มีฝุ่นต่างๆ รวมทั้งผิวหนังและอุจจาระคน และยังพบได้ในมูลสัตว์ต่างๆเช่น หมู ไก่ หมา แมว วัว ควาย เป็นต้น เชื้อบาดทะยักสามารถเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดโรคได้หลายทาง ซึ่งรวมถึงบาดแผลสดต่างๆ  เช่น แผลจากตะปู หรือเศษไม้ตำ แผลถูกสัตว์กัด แผลถลอก แผลฉีกขาด แผลถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นต้น ดังนั้นหากถูกเหล็กที่มีสนิมขูดจนเป็นแผลที่เนื้อเปิด ควรพิจารณฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักค่ะ 

                    ทั้งนี้หากในสมัยเด็ก ได้รับวัคซีนครบตามกำหนด (ในเด็กเล็กจะเป็นวัคซีนรวมป้องกัน คอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัและอื่นๆ) เมื่อเกิดบาดแผลขึ้น จะพิจารณาตามนี้ 

                    1. หากแผลที่เกิดจากการโดนเหล็กขูด เป็นแผลสะอาด แผลไม่ลึก ขนาดแผลไม่ใหญ่ หากได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก หรือคอตีบ-บาดทะยัก เข็มสุดท้ายมาไม่เกิน 10 ปี ไม่ต้องฉีดวัคซีนค่ะ แต่หากเกิน 10 ปีแล้ว ควรฉีดวัคซีนค่ะ

                    2. หากแผลที่เกิดจากการการโดนเหล็กขูด เป็นแผลสกปรก คือมีเศษดิน สนิมปนเปื้อนแผล บาดแผลลึก ปากแผลแคบ หากได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักเข็มสุดท้ายมาเกิน 5 ปีแล้ว ต้องฉีดวัคซีนค่ะ 

                      แต่หากในสมัยเด็กได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด ควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก  หรือคอตีบ-บาดทะยัก 1 เข็มในครั้งนี้ และฉีดอีก 2 เข็ม ในอีก  1 เดือนและ 6 เดือนถัดไปค่ะ และหากแผลสกปรกมากควรได้รับการฉีดอิมมูโนโกลบูลินต้านพิษบาดทะยักด้วยค่ะ

                    นอกจากนี้บาดแผลดังกล่าว ยังมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ได้อีก ดังนั้นควรดูแลทำความสะอาดแผลด้วยค่ะ โดยหากแผลมีขนาดเล็กและสะอาด ให้ล้างทำความสะอาดด้วยสบู่หรือยาฆ่าเชื้อในครั้งแรก และทำความสะอาดแผลต่อทุกวันด้วยน้ำเกลือ เช็ดให้แห้ง อาจใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพไวโดน-ไอโอดีน (povidone-iodine) และหลีกเลี่ยงการโดนน้ำจนกว่าแผลจะหาย ระวังการโดนฝุ่นละอองต่างๆ โดยการปิดแผลด้วยผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซ หากแผลมีขนาดใหญ่หรือลึก และสกปรก แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อดูแลบาดแผลค่ะ