-
อายุ 23 ปี ท้องผูกมา 2 ปี มีปวดหลัง ทานอาหารน้อยลง อาเจียน ปวดท้อง เวียนหัว หายใจติดขัด ทานยาดีท็อกซ์อยู่ ควรทำอย่างไร
-
Mar 06, 2022 at 10:26 AM
สวัสดีค่ะคุณหมอ หนูอายุ23ปี มีปัญหาท้องผูกมานานกว่า2ปี(ไม่ถ่ายนานสุด5วันอาการคือจะปวดหลังปวดร้าวลงขา)ในปัจจุบันหนูต้องพึ่งพวกดีท็อกหรือยาระบาย 3วันทานครั้งหนึ่งเพราะถ้าไม่ถ่ายคือใช้ชีวิตลำบากมาก อาการที่เพิ่มมาคือ ทานอาหารได้น้อยลง ทานนมกับของหวานไม่ได้เลยค่ะจะอาเจียนตลอด และมีปวดท้องด้วยเป็นบางครั้ง มีเวียนหัวหายใจติดขัดอึดอัดมากค่ะ พยายามลดการกินพวกดีท็อกเพราะกลัวติด เปลี่ยนมากินพสกผลไม้เป็นกลัวย ส้ม มะละกอรู้สึกว่าดีขึ้นแต่แค่ช่วงหนึ่งและถ่ายไม่สุดค่ะ หนูควรจะทำอย่างไรดี,เคยไปหาหมอเมื่อเป็นแรกๆก็ได้เป็นยาระบายมาค่ะพอจะมีคำแนะนำไหมค่ะ. ปล.หนูเป็นโรคกระเพาะน้ำหนัก47-48สูง162อายุ23ปี ขๆอบๆคุณค่ะMar 06, 2022 at 11:01 AM
สวัสดีค่ะ คุณ sopita,
อาการท้องผูกที่เป็นมานาน 2 ปี อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง เพราะขาดตัวกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ จากการที่มีปริมาณอุจจาระน้อย เช่น เกิดจากการกินอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย หรือขาดการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การนั่งทำงานทั้งวัน ทำให้ลำไส้ไม่บีบเคลื่อนตัว
2. จากปัญหาทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ส่งผลให้ลำไส้ลดการบีบตัวลง
3. การเบ่งถ่ายอุจจาระผิดวิธี ซึ่งเกิดจากการทํางานไม่ประสานกันของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเบ่งอุจจาระ คือมีการออกแรงเบ่งพร้อมกับขมิบหูรูดทวารหนักไปด้วย เมื่อแรงเบ่งมีไม่มากพอที่จะเอาชนะแรงต้านบริเวณหูรูด อุจจาระก็ไม่สามารถจะเคลื่อนออกมาได้ หรือมีการเบ่งถ่ายขณะหายใจเข้าแล้วแขม่วท้อง
4. การทำงานของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ หรือภาวะลำไส้เฉื่อย เป็นการที่ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวน้อยลงทําให้อุจจาระเคลื่อนลงมาช้ากว่าปกติ
5. มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดที่ควบคุมการขับถ่ายทำงานผิดปกติรวมถึงภาวะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานผิดปกติ มักพบในผู้หญิงวัยกลางคน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเบ่งอุจจาระไม่ออกหรือกลั้นถ่ายอุจจาระไม่ได้
6. การทานยาบางชนิด ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้ท้องผูกได้ เช่น ยาลดกรด ยารักษาอาการซึมเศร้า ยากันชัก ยาเสริมแคลเซียมและธาตุเหล็ก ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ เป็นต้น
7. การเสียสมดุลของฮอร์โมน เช่น ตั้งครรภ์ ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ เป็นต้น
8. โรคไส้ตรงปลิ้น (Rectal prolapse)
9. มีการอุดตันภายในลำไส้ใหญ่หรือทวารหนัก เช่น มีเนื้องอกหรือมะเร็งของลำไส้ใหญ่ แต่มักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือดปน ถ่ายเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น หรืออาจเกิดจากเนื้องอกมดลูกที่มีขนาดใหญ่จนกดเบียดลำไส้ตรงและทวารหนัก เป็นต้น
ส่วนการที่ทานอาหารได้น้อยลง และมีอาเจียนเมื่อทานของหวาน มีเวียนหัว หายใจติดขัด อาจเกิดจากการที่มีอุจจาะตกค้างอยู่ในลำไส้มาก เนื่องจากมีท้องผูกมานานเรื้อรัง ซึ่งการมีภาวะอุจจาระตกค้างในลำไส้ จะทำให้มีอาการต่างๆ ได้แก่ ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ต้องใช้แรงในการเบ่งอุจจาระอย่างมาก รู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด หรืออุจจาระไม่หมดท้อง มีเลือดปนอุจจาระ ปัสสาวะบ่อยจากการที่กระเพาะปัสสาวะถูกกดทับ ปวดหลังส่วนล่าง หายใจติดขัด ต้องหายใจลึกๆ ตลอดเวลา ทานอาหารได้น้อยมาก เบื่ออาหาร ขมคอ เรอเปรี้ยว ผายลมบ่อย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เป็นต้น
ส่วนการที่เคยทานยาดีทอกซ์ที่มีฤทธิ์ช่วยระบายบ่อยๆ โดยเฉพาะที่ไปออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ หากใช้อย่างต่อเนื่องจะก่อให้เกิดอาการดื้อยาหรือท้องผูกเรื้อรัง ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาขึ้นเรื่อยๆ และท้ายที่สุดอาจทำให้โครงสร้างและการทำงานของลำไส้เปลี่ยนแปลงไปได้
ดังนั้น แนะนำควรเลิกทานยาดีทอกซ์ และให้พยายามปรับพฤติกรรมดูก่อน โดยการฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอน ประมาณ 5-7 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ฝึกเบ่งถ่ายอุจจาระอย่างถูกวิธี โดยนั่งบนโถชักโครกแล้วโค้งตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย และควรมีที่วางเท้าให้เหนือจากพื้น เพื่อออกแรงเบ่งอุจจาระได้ดีขึ้น และอาจใช้มือกดท้องด้านซ้ายล่างขณะขับถ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้ดีขึ้น ไม่ควรเกร็งตัวขณะถ่าย ลดอาหารที่มีไขมันสูง เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ ดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ อย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน ไม่กลั้นอุจจาระเด็ดขาด ควรขับถ่ายทันทีที่ปวด หากยังไม่ปวดอุจจาระแต่จำเป็นต้องออกนอกบ้าน ไม่ควรพยายามเบ่งขณะที่ยังไม่ปวด เนื่องจากการเบ่งอุจจาระแรงๆ เป็นการกระตุ้นและเพิ่มแรงดันในลำไส้ หากทำบ่อยๆ อาจทำให้ลำไส้โป่งพอง เกิดริดสีดวงทวารได้ ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
หากยังมีท้องผูก และยังคงมีอาการต่างๆ ที่เกิดจากอุจจาระตกค้างอยู่ แนะนำควรไปพบแพทย์เฉพาะทางเดินอาหารเพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาต่อไป เช่น การส่องกล้อง การตรวจดูการเคลื่อนผ่านของอุจจาระภายในลำไส้ใหญ่ (colonic transit time) การตรวจหาความผิดปกติของกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก เพื่อดูว่ากล้ามเนื้อทั้ง 2 ส่วนนี้มีการคลายตัวหรือบีบตัวประสานกับการเบ่งหรือไม่ เป็นต้น
สำหรับการรักษาผู้ที่มีอาการท้องผูกรุนแรงและเรื้อรัง จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ หากเกิดจากการที่ลำไส้ทำงานน้อยผิดปกติ ก็จะรักษาที่ต้นเหตุและอาจให้ยาเพื่อกระตุ้นให้ประสาทลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น แต่หากเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดที่ควบคุมการขับถ่ายทำงานผิดปกติ ภาวะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานผิดปกติและความผิดปกติทางทวารหนักส่วนปลาย การรักษาอาจใช้การฉีดยาโบท็อกซ์หรือการผ่าตัดแก้ไขค่ะ ดังนั้น ไม่ควรปล่อยอาการท้องผูกต่อไป ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางและหาสาเหตุเพื่อรักษาค่ะ
-
ถามแพทย์
-
อายุ 23 ปี ท้องผูกมา 2 ปี มีปวดหลัง ทานอาหารน้อยลง อาเจียน ปวดท้อง เวียนหัว หายใจติดขัด ทานยาดีท็อกซ์อยู่ ควรทำอย่างไร