-
โรคเท้าช้างสามารถรักษาให้หายขาด โดยการขันชะเนาะจริงไหมครับ
-
Nov 20, 2017 at 09:06 PM
โรคเท้าช้างสามารถรักษาไห้หายขาดโดยการขันชะเนาะจริงไหมครับหมอNov 21, 2017 at 07:07 AM
สวัสดีค่ะ คุณ nuszazzz@gmail.com,
หากเป็นโรคเท้าช้างในระยะเรื้อรังแล้ว น้ำเหลืองจะไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ เนื่องจากเกิดท่อน้ำเหลืองอุดตัน จากการที่พยาธิโรคเท้าช้างไปทำให้ท่อน้ำเหลืองอักเสบเป็นหายๆ เรื้อรัง น้ำเหลืองก็จะซึมออกจากน้ำเหลืองและคั่งอยู่ในเนื่อเยื่อรอบๆ ทำให้เกิดการบวมโตของเนื้อเยื่อ เช่น แขน ขา อัณฑะ หรือเต้านม โดยจะค่อยๆ บวมโตขึ้นจนเสียรูปทรง และทำให้ผิวหนังมีการหนาตัวขึ้น ขรุขระคล้ายดอกกะหล่ำ
การรักษาโรคเท้าช้างในระยะนี้ เป็นการรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น โดยต้องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อนเมื่อเกิดบาดแผลขึ้นมา เนื่องจากผิวหนังที่หนาตัวขึ้นจากน้ำเหลืองคั่งดังกล่าวจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆได้ง่าย เพราะมีเลือดไหลเวียนมาเลี้ยงน้อย และผิวหนังมักอับชื้น อีกทั้งการรับรู้สัมผัสต่างๆจะลดลง มีโอกาสเกิดบาดแผลได้ง่าย และหายได้ช้า คล้ายคนเป็นโรคเบาหวาน
การดูแลรักษา เช่น ขณะอาบน้ำ ควรใช้สบู่ฟอกถูเบาๆ ไปมาให้สะอาดตามรอยพับ รอยย่น ซอกต่างๆ ของผิวหนัง ซอกนิ้ว โดยอาจใช้ผ้าผืนเล็กๆ หรือผ้าก๊อซช่วยถู แต่ห้ามใช้หินขัดตัว เพราะจะทำให้เป็นบาดแผลได้ หลังอาบน้ำต้องซับให้แห้ง ตัดเล็บมือเท้าให้สั้นอยู่เสมอ การบริหารแขนขา การนวด เพื่อให้เลือดและน้ำเหลืองไหลเวียนดีขึ้น การยกแขนหรือขาให้สูงกว่าระดับลำตัวในช่วงที่ไม่ได้ใช้งาน เป็นต้น
นอกจากนี้หากตรวจเลือดแล้วพบว่ายังมีตัวอ่อนเชื้อพยาธิโรคเท้าช้าง ต้องทานยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นด้วย
ส่วนการขันชะเนาะเพื่อลดอาการบวมจากน้ำเหลืองคั่งนั้น ถือเป็นการรักษาทางการแพทย์ทางเลือกอย่างหนึ่ง สามารถทำได้โดยอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ การรักษาต้องอาศัยระยะเวลา ซึ่งสามารถช่วยลดอาการบวมลงได้ระดับหนึ่ง แต่จะไม่สามารถกลับไปเป็นปกติได้ มักใช้ได้กับอวัยวะแขนหรือขาที่บวม แต่หากเป็นเต้านมหรืออัณฑะ จะไม่สามารถรักษาได้
การขันชะเนาะเพื่อลดอาการบวมจากน้ำเหลืองคั่งนั้น ยังสามารถใช้ได้กับโรคน้ำเหลืองคั่งจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ผลจากการฉายรังสีรักษาเพือรักษามะเร็ง ผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เป็นต้น
-
ถามแพทย์
-
โรคเท้าช้างสามารถรักษาให้หายขาด โดยการขันชะเนาะจริงไหมครับ