ถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน (Bartholin's Cyst)

ความหมาย ถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน (Bartholin's Cyst)

Bartholin's Cyst หรือถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน เป็นอาการที่ต่อมบาร์โธลินด้านใดด้านหนึ่งเกิดการบวมขึ้นเป็นถุงน้ำหรือซีสต์ มักพบในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ไปจนถึงก่อนวัยหมดประจำเดือน โดยปกติต่อมบาร์โธลินจะอยู่ที่บริเวณปากช่องคลอดแต่ละด้าน มีหน้าที่ผลิตสารหล่อลื่นภายในช่องคลอด เพื่อช่วยป้องกันเนื้อเยื่อช่องคลอดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ 

บางกรณีที่เกิดการอุดตันที่บริเวณปากต่อมบาร์โธลิน จะทำให้สารหล่อลื่นที่ถูกผลิตออกมาไหลกลับไปภายในต่อม ทำให้อาการบวมขึ้นแต่ยังปวด ซึ่งจะเรียกว่าถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน แต่หากของเหลวที่สะสมภายในถุงน้ำเกิดการติดเชื้อ จะทำให้เกิดหนองและกลายเป็นเป็นฝีได้

ต่อมบาร์โธลินอักเสบ

วิธีการรักษา Bartholin's Cyst จะขึ้นอยู่กับขนาดและอาการที่เกิดขึ้นจากการอักเสบ ในบางครั้งการดูแลตนเองที่บ้านก็สามารถรักษาถุงน้ำบาร์โธลินได้ หรืออาจได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยลดการติดเชื้อของต่อมบาร์โธลิน แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้นอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเอาถุงน้ำออก 

อาการของ Bartholin's Cyst

หากก้อนนูนหรือถุงน้ำมีขนาดเล็กและไม่มีการอักเสบ ผู้ป่วยอาจไม่สังเกตหรือรับรู้ถึงอาการดังกล่าว เพราะมักจะไม่มีอาการเจ็บปวด แต่หากมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงก้อนเนื้อที่บวมขึ้นใกล้บริเวณปากช่องคลอดและมักจะมีอาการ ดังนี้

  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณก้อนที่นูน
  • รู้สึกไม่สบายตัวขณะเดินหรือนั่งลง
  • รู้สึกเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีไข้ 

หากมีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงบริเวณก้อนนูนใกล้ปากช่องคลอดและอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ หรือหากผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 40 ปี และพบว่ามีก้อนนูนเกิดขึ้นใหม่บริเวณปากช่องคลอดก็ควรรีบไปพบแพทย์เช่นกัน เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นอย่างโรคมะเร็งตามมา

สาเหตุของ Bartholin's Cyst

ต่อมบาร์โธลินเป็นต่อมขนาดเล็กเท่าเมล็ดถั่วที่อยู่บริเวณปากช่องคลอดทั้งสองด้าน โดยปกติมักจะไม่สามารถคลำพบได้เพราะมีขนาดเล็กมาก โดยอาจมีขนาดเพียง 1 เซนติเมตร มีหน้าที่ผลิตสารหล่อลื่นส่งผ่านทางท่อเล็ก ๆ ไปสู่ช่องคลอด หากท่อดังกล่าวเกิดการอุดตันจะทำให้สารหล่อลื่นนี้ไม่สามารถไหลออกมาเพื่อหล่อลื่นช่องคลอด จึงอาจทำให้เกิดสะสมของสารหล่อลื่นและบวมขึ้นเป็นถุงน้ำได้ในเวลาต่อมา

สาเหตุการอุดตันของท่อลำเลียงสารหล่อลื่นในช่องคลอดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่แพทย์เชื่อว่าอาจเกิดได้จากการเติบโตที่ผิดปกติของผิวหนัง การได้รับการบาดเจ็บ หรือการระคายเคือง ในบางกรณีอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม รวมถึงการติดเชื้ออีโคไล (E. coli) หรือแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

แม้ว่า Bartholin's Cyst จะเกิดขึ้นได้กับเพศหญิงในทุกช่วงวัย แต่มักพบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะช่วงระหว่างอายุ 20-29 ปี

การวินิจฉัย Bartholin's Cyst

แพทย์จะสอบถามอาการเบื้องต้นและประวัติการรักษา รวมถึงอาจใช้วิธีการตรวจภายใน หรืออาจมีการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในช่องคลอดหรือปากมดลูกเพื่อนำไปตรวจสอบในกรณีที่อาจพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

หากผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 40 ปี หรือเข้าสู่ช่วงวัยหลังหมดประจำเดือน แพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวินิจฉัยเซลล์มะเร็งที่อาจพบได้ โดยแพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยต่อไปยังสูตินรีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง

การรักษา Bartholin's Cyst

หากมีอาการในระยะแรก ถุงน้ำที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็กและยังไม่เกิดอาการผิดปกติกับร่างกาย ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาและสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ที่บ้าน แต่หากเกิดอาการผิดปกติขึ้น รู้สึกเจ็บปวดไม่สบายตัว หรือถุงน้ำกลายเป็นฝี ผู้ป่วยก็อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์

การดูแลตนเองเบื้องต้น

การดูแลตนเองเบื้องต้นขณะอยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยสามารถใช้วิธีนั่งแช่น้ำอุ่นในอ่างน้ำหรือประคบอุ่น โดยอาจทำวิธีนี้วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยให้อาการทุเลาลงและช่วยให้ถุงน้ำแห้งเร็วขึ้น หากมีอาการปวดก็สามารถรับประทานยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่ายาพาราเซตามอล

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัดในการรักษาผู้ป่วย ดังนี้

  • การผ่าตัดเอาหนองออกหากผู้ป่วยใช้วิธีดูแลตนเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการเจ็บปวดรุนแรง ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเอาหนองออกโดยอาจให้ยาชาก่อนการผ่าตัดและจะทำการใส่ท่อระบายหนองที่ค้างอยู่ภายใน ซึ่งแพทย์อาจคาท่อระบายหนองไว้เพื่อระบายหนองจนหมด ร่วมกับสั่งจ่ายยาแก้ปวดให้ผู้ป่วยรับประทาน
  • การผ่าและเย็บปากถุงน้ำบาร์โธลิน (Marsupialization) ในกรณีที่เกิด Bartholin's Cyst ซ้ำอีก แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีผ่าตัดเปิดปากถุงน้ำออกแล้วเย็บปากถุงน้ำกับขอบแผล โดยแพทย์จะรักษาอาการอาการอักเสบที่เกิดขึ้นโดยให้ยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัด วิธีนี้เป็นการผ่าตัดที่ใช้เวลาไม่นานและผู้ป่วยสามารถกลับบ้านภายในวันเดียวกัน 
  • การผ่าตัดเอาต่อมบาร์โธลินออก หากรักษาด้วยวิธีการข้างต้นแล้วอาการผิดปกติยังไม่หายไป แพทย์อาจแนะนำให้ตัดต่อมบาร์โธลินออก แต่มักจะพบได้น้อย โดยแพทย์จะวางยาสลบและทำการผ่าตัดในโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งวิธีการนี้อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษาได้ เช่น ภาวะเลือดออกมากผิดปกติหลังการผ่าตัด เป็นต้น 

นอกจากนี้ ในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีอาการอักเสบหรือเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาปฎิชีวนะตามที่แพทย์อาจสั่ง เพื่อช่วยลดการอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนของ Bartholin's Cyst

หากอาการของผู้ป่วยแย่ลงและไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่การอักเสบและการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นในร่างกาย ในบางกรณีอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งทำให้การอักเสบสามารถถูกส่งผ่านไปทั่วร่างกายผ่านระบบไหลเวียนเลือดและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ Bartholin's Cyst หรือฝีต่อมบาร์โธลินอาจกลับมาเกิดซ้ำได้อีก จึงต้องได้รับการรักษาอีกครั้ง

การป้องกัน Bartholin's Cyst

การเกิด Bartholin's Cyst ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงยังไม่พบวิธีที่ป้องกันได้อย่างสิ้นเชิง แต่มีความเกี่ยวข้องกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงอาจลดความเสี่ยงได้โดยการรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศอยู่เสมอและมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ก็อาจช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิด Bartholin's Cyst ได้ ทั้งนี้ หากสงสัยว่าตนเองมีอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง