ถ่ายเป็นเลือด (Hematochezia)

ความหมาย ถ่ายเป็นเลือด (Hematochezia)

ถ่ายเป็นเลือด (Rectal Bleeding หรือ Hematochezia) คืออาการที่มีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากทวารหนัก ถ่ายอุจจาระแล้วมีเลือดหรือลิ่มเลือดปนอยู่ หรือถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีแดงเข้ม ซึ่งสาเหตุหลักที่มักทำให้ถ่ายเป็นเลือดคือการบาดเจ็บที่อวัยวะในระบบย่อยอาหารอย่างลำไส้ใหญ่ ไส้ตรง หรือทวารหนัก 

การถ่ายเป็นเลือดอาจเป็นแค่เพียงการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยไปจนถึงอาจเป็นสัญญาณอันตรายของปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ ปริมาณของเลือดที่ถ่ายออกมา รวมถึงระยะเวลาที่เกิดอาการถ่ายเป็นเลือด

ถ่ายเป็นเลือด

สาเหตุของอาการถ่ายเป็นเลือด

โดยปกติแล้ว คนเรามักถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นผลจากน้ำดีในตับที่ช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร ในบางครั้ง อาจพบว่าสีของอุจจาระแตกต่างไปจากปกติ เช่น เขียว สีเหลือง สีซีด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีภายในร่างกายในระบบย่อยอาหาร การทำปฏิกิริยาของแบคทีเรียและเอนไซม์ในลำไส้ หรือการรับประทานอาหารบางชนิดที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสีอุจจาระ

ส่วนการขับถ่ายออกมาเป็นเลือดนั้นเป็นผลมาจากอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่ายได้รับความเสียหาย จึงเกิดภาวะเลือดออก โดยสาเหตุที่มักเป็นที่มาของอาการถ่ายเป็นเลือด ได้แก่

  • ริดสีดวงทวาร 
  • มีแผลฉีกขาดที่รูทวารหนักจากการขับอุจจาระที่แข็งตัวจากอาการท้องผูก
  • ทวารหนักและไส้ตรงอักเสบ
  • ลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • ถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • มีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ หรือมีการกำจัดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ออกไป
  • ภาวะลำไส้ขาดเลือด
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ 

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุของการถ่ายเป็นเลือดอื่น ๆ ที่พบได้ไม่มากนัก เช่น

  • มีภาวะเลือดออก หรือมีแผลบริเวณช่องท้อง ลำไส้เล็ก หลอดอาหาร หรือกระเพาะอาหาร
  • มีความผิดปกติของเส้นเลือด เส้นเลือดโป่งพอง หรือเส้นเลือดแตก ทำให้มีเลือดไหลเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร
  • กระเพาะอาหารอักเสบ
  • มีเนื้องอกในลำไส้เล็ก
  • มีแผลในลำไส้ตรง

อาการถ่ายเป็นเลือด

นอกจากการมีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากทวารหนัก การถ่ายอุจจาระแล้วมีเลือดหรือลิ่มเลือดปนอยู่ หรือการถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีแดงเข้มแล้ว อาจพบอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น

  • ท้องผูกหรือท้องร่วง
  • เจ็บปวดขณะถ่ายอุจจาระ
  • ปวดเกร็งบริเวณท้อง
  • อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
  • คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ
  • หายใจลำบาก ใจสั่น 
  • หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม หรือเป็นลมหมดสติ
  • หน้าซีด ตัวซีด หรือโลหิตจางจากการเสียเลือดเรื้อรัง
  • ความดันโลหิตต่ำ หรือมีภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกขึ้นยืน
  • ในบางรายอาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะช็อคจากการเสียเลือดมาก

อาการถ่ายเป็นเลือดที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการถ่ายเป็นเลือดต่อเนื่องนานกว่า 3 สัปดาห์ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่รุนแรงเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น วิงเวียนศีรษะ เป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็วและตื้น เกิดความสับสน มองเห็นภาพซ้อน มีอาการปวดบริเวณทวารหนักหรือท้อง รวมถึงคลำพบก้อนบริเวณท้อง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการถ่ายเป็นเลือด

ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยการสอบถามลักษณะและความรุนแรงของอาการ ปริมาณเลือดที่พบ ความบ่อยของการถ่ายเป็นเลือด อาการข้างเคียงที่มี และประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย จากนั้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารและลำไส้ รวมถึงบริเวณทวารหนักหรืออาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • การส่องกล้องตรวจทวารหนักและไส้ตรง (Anoscopy) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อภายในไส้ตรงและทวารหนัก
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible Sigmoidoscopy) เพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่
  • การส่องกล้องตรวจช่องท้องและลำไส้เล็ก (Endoscopy) เพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในช่องท้องไปจนถึงลำไส้เล็ก
  • การตรวจเลือด (Blood Test) เพื่อตรวจหาความสมบูรณ์ของเลือด ตรวจหาการติดเชื้อ หรือความผิดปกติภายในเซลล์เม็ดเลือด เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการป่วยที่เป็นไปได้
  • การเอกซเรย์บริเวณช่องท้องและอวัยวะภายในต่าง ๆ เพื่อหาตำแหน่งที่มีเลือดออกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
  • การตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อ (Biopsy) และนำตัวอย่างชิ้นเนื้อนั้นไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาการติดเชื้อหรือความผิดปกติของเซลล์ต่อไป

การรักษาอาการถ่ายเป็นเลือด

หากมีอาการถ่ายเป็นเลือดหรือถ่ายมีเลือดปนเพียงเล็กน้อย อาจเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่รุนแรงอย่างอาการท้องผูก ซึ่งผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาอาการได้ เช่น รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง ดื่มน้ำมาก ๆ และฝึกสุขนิสัยการขับถ่ายที่ดี แต่หากถ่ายเป็นเลือดปริมาณมาก หรือถ่ายเป็นเลือดบ่อย ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา โดยแพทย์จะทำการรักษาตามอาการ ดังนี้

การรักษาอาการเสียเลือดมาก

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง มีเลือดออกมาก ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียนศีรษะ เป็นลม หรืออาจมีอาการช็อค แพทย์อาจต้องให้เลือดหรือน้ำเกลือเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อทดแทนเลือดที่เสียไป และอาจพิจารณาจ่ายยารักษาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย

การรักษาที่สาเหตุ

แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงแล้วจึงวางแผนการรักษา ซึ่งวิธีการรักษาย่อมขึ้นอยู่กับการเจ็บป่วยที่เป็นต้นเหตุ ความรุนแรงของอาการ และสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย 

ตัวอย่างการรักษาอาการถ่ายเป็นเลือดตามโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น

  • การรักษาแผลที่ทวารหนัก โดยการนั่งแช่น้ำอุ่น (Sitz Bath) ซึ่งจะช่วยบรรเทาแผลและริดสีดวงทวารที่เกิดขึ้น โดยควรรักษาอาการท้องผูกควบคู่ไปด้วย
  • การห้ามเลือด แพทย์จะสอดกล้องพร้อมเครื่องมือพิเศษเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจหาตำแหน่งอวัยวะภายในที่มีเลือดออก และฉีดสารให้เลือดหยุดไหล โดยอาจใช้เลเซอร์หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ยึดปิดเส้นเลือดที่เสียหาย
  • การให้ยา แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อรักษาอาการ เช่น ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. Pylori) ในกระเพาะอาหาร หรือยาต้านการอักเสบเพื่อรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • การผ่าตัด เช่น ผ่าตัดนำติ่งเนื้อออกไป ผ่าตัดนำเนื้อร้ายจากการป่วยมะเร็งออกไป หรือผ่าตัดนำเนื้อเยื่อส่วนที่เสียหายจากการบาดเจ็บหรืออักเสบออกไป

ภาวะแทรกซ้อนของอาการถ่ายเป็นเลือด

หากถ่ายเป็นเลือดในปริมาณมาก หรือมีอาการถ่ายเป็นเลือดเรื้อรัง ก็อาจส่งผลให้ร่างกายเสียเลือดมากหรืออวัยวะในร่างกายได้รับเลือดไหลเวียนไม่เพียงพอ และนำไปสู่การเกิดภาวะช็อคซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ หากอาการถ่ายเป็นเลือดมีสาเหตุมาจากริดสีดวงบริเวณลำไส้ใหญ่หรือทวารหนัก และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ด้วย

การป้องกันอาการถ่ายเป็นเลือด

ถ่ายเป็นเลือดอาจป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและการเจ็บป่วยที่อวัยวะภายในระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการถ่ายเป็นเลือดได้โดย

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสุขอนามัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อป้องกันการเกิดอาการท้องผูก ท้องร่วง หรือความเสียหายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับระบบย่อยอาหาร
  • รับประทานพืชผักผลไม้และธัญพืชที่มีเส้นใยสูง
  • ดื่มน้ำสะอาดปริมาณมาก ๆ
  • ฝึกสุขนิสัยในการขับถ่าย
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์อาจทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่ออวัยวะภายในระบบทางเดินอาหาร เสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และอาจลดสมรรถภาพในการแข็งตัวของเลือด