ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab)

ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab)

Trastuzumab (ทราสทูซูแมบ) เป็นยาที่แพทย์ใช้ร่วมกับยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อรักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร โดยยาจะออกฤทธิ์ชะลอหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในร่างกาย

นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้ยา Trastuzumab ด้วยจุดประสงค์อื่น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น ใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือใช้รักษาผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกที่ผลิตโปรตีนชนิดเฮอร์ทู (HER2) ซึ่งเป็นโปรตีนที่อาจส่งผลให้เซลล์มะเร็งเกิดการเจริญเติบโตมากผิดปกติ

ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab)

เกี่ยวกับยา Trastuzumab

กลุ่มยา ยาในกลุ่มสารภูมิต้านทาน (Monoclonal Antibody)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ชะลอหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีดทางหลอดเลือดดำ
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ในปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA โดยทางการแพทย์พบว่าตัวยาสามารถส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ อีกทั้งยังไม่ทราบว่าตัวยาสามารถปนไปกับน้ำนมได้หรือไม่ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Trastuzumab

คำเตือนในการใช้ยา Trastuzumab 

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Trastuzumab เกี่ยวกับประวัติแพ้ยาต่าง ๆ รวมถึงหากกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิตามิน หรือยาต่าง ๆ อยู่
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Trastuzumab เกี่ยวกับโรคประจำตัวหรือปัญหาทางด้านสุขภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคปอด โรคไต โรคภูมิแพ้ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หรือมีประวัติการรักษาโรคมะเร็งมาก่อน
  • การใช้ยา Trastuzumab อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ป่วยที่กำลังใช้ยารักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นร่วมด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดระหว่างที่ใช้ยานี้
  • การใช้ยา Trastuzumab อาจส่งผลกระทบบางอย่างต่อหัวใจต่อผู้ป่วยได้แม้จะหยุดยาไปแล้ว ดังนั้น หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาโรคใด ๆ ภายในช่วง 7 เดือนหลังหยุดยา ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการใช้ยานี้ด้วย
  • การใช้ยา Trastuzumab อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น หรืออาจส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้ออยู่มีอาการรุนแรงขึ้น ดังนั้น ระหว่างที่ใช้ยานี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เพิ่งผ่านการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็นหรือกำลังป่วยเป็นโรคติดเชื้ออยู่ เช่น โรคอีสุกอีใส โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ 
  • หากผู้ป่วยที่ใช้ยา Trastuzumab ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน ผ่าตัด หรือทำฟัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบก่อน
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Trastuzumab เนื่องจากยานี้สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ได้
  • ก่อนใช้ยา Trastuzumab แพทย์จะให้ผู้ป่วยตรวจการตั้งครรภ์ก่อน และแพทย์จะให้ผู้ป่วยคุมกำเนิดในระหว่างที่ใช้ยานี้ไปจนถึง 7 เดือนหลังใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากผู้ป่วยตั้งครรภ์ระหว่างใช้ยานี้
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในช่วงให้นมบุตร แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรระหว่างที่ใช้ยานี้ไปจนถึง 7 เดือนหลังใช้ยาเพื่อให้ปลอดภัยต่อทารก
  • ผู้สูงอายุที่ต้องใช้ยา Trastuzumab ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงเกี่ยวกับหัวใจจากการใช้ยานี้ได้ง่าย
  • การใช้ยา Trastuzumab อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการเวียนศีรษะได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ดังนั้น ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การขับขี่ยานพาหนะ และการทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

ปริมาณการใช้ยา Trastuzumab 

ปริมาณการใช้ยา Trastuzumab จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ดังนี้

ก่อนหรือหลังรักษามะเร็งเต้านม

ตัวอย่างการใช้ยา Trastuzumab เพื่อลดขนาดก้อนเนื้อมะเร็งบริเวณเต้านมก่อนที่จะใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ ต่อไป หรือใช้หลังการรักษามะเร็งเต้านมเพื่อป้องกันมะเร็งกลับมาเกิดซ้ำ

ผู้ใหญ่ แพทย์จะให้ยานี้หลังจากที่ผู้ป่วยผ่านการรักษามะเร็งด้วยวิธีอื่นมา เช่น การทำเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษา หรือการผ่าตัด โดยในช่วงแรกของการให้ยา แพทย์จะค่อย ๆ ให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 90 นาที จากนั้นแพทย์จะปรับปริมาณยาเป็น 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 30 นาที โดยความถี่ในการให้ยาจะอยู่ที่ 1 สัปดาห์/ครั้ง ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือเมื่อแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยกลับมาเกิดโรคซ้ำ

ในบางกรณี แพทย์อาจเลือกให้ยาผู้ป่วยในปริมาณ 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 90 นาที จากนั้นแพทย์จะปรับปริมาณยาเป็น 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นระเวลาประมาณ 30–90 นาที โดยความถี่ในการให้ยาจะอยู่ที่ 3 สัปดาห์/ครั้ง ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือเมื่อแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยกลับมาเกิดโรคซ้ำ

มะเร็งเต้านม

ตัวอย่างการใช้ยา Trastuzumab เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย

ผู้ใหญ่ ในช่วงแรกแพทย์จะค่อย ๆ ให้ยาทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 90 นาที จากนั้นแพทย์จะปรับปริมาณยาเป็น 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 30 นาที โดยความถี่ในการให้ยาจะอยู่ที่ 1 สัปดาห์/ครั้ง ซึ่งแพทย์อาจใช้ยานี้เพียงชนิดเดียวหรืออาจใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

มะเร็งกระเพาะอาหาร

ตัวอย่างการใช้ยา Trastuzumab เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย

ผู้ใหญ่ ในช่วงแรกแพทย์จะค่อย ๆ ให้ยาทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 90 นาที จากนั้นแพทย์จะปรับปริมาณยาเป็น 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นระยะเวลาประมาณ 30–90 นาที โดยความถี่ในการให้ยาจะอยู่ที่ 3 สัปดาห์/ครั้ง

การใช้ยา Trastuzumab 

ยา Trastuzumab เป็นยาที่ต้องฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น รวมถึงยังเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผล ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 52 สัปดาห์ หรือจนกว่าร่างกายของผู้ป่วยหยุดตอบสนองต่อตัวยา โดยความถี่จะอยู่ที่ประมาณ 1–3 สัปดาห์/ครั้ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ดังนั้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ 

นอกจากนี้ ในระหว่างที่ใช้ยานี้ แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจเพิ่มเติมเป็นระยะ ๆ เช่น ตรวจการตอบสนองต่อยา ตรวจผลข้างเคียงต่อยา และตรวจการทำงานของหัวใจ ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง และผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง หากผู้ป่วยลืมไปพบแพทย์ตามนัด

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Trastuzumab 

การใช้ยา Trastuzumab อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น เกิดอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คัดจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจลำบาก มีไข้ หนาวสั่น ปวดบริเวณโพรงไซนัส อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เกิดแผลในปาก การรับรสชาติผิดปกติ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดผิดปกติ นอนไม่หลับ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ 

แม้อาการในข้างต้นอาจไม่รุนแรง แต่ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากเกิดอาการในข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นเองหรือมีความรุนแรงขึ้น

แต่ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากผู้ป่วยพบอาการบางอย่างที่มีความรุนแรง เช่น

  • สัญญาณของอาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น หายใจลำบาก หรือเกิดอาการบวมบริเวณริมฝีปาก ใบหน้า ลิ้น และลำคอ 
  • สัญญาณของภาวะหัวใจวาย เช่น หายใจไม่อิ่ม น้ำหนักเพิ่มมากผิดปกติ อ่อนเพลียมากผิดปกติ หรือเกิดอาการบวมบริเวณเท้าและข้อเท้า 
  • สัญญาณของภาวะเซลล์มะเร็งถูกทำลายอย่างฉับพลัน เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย กล้ามเนื้อเป็นตะคริว หัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ รู้สึกเหมือนมือเข็มทิ่มที่มือ เท้า หรือบริเวณรอบริมฝีปาก 
  • สัญญาณของภาวะเซลล์เม็ดเลือดในร่างกายต่ำ เช่น มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย เกิดรอยช้ำตามร่างกาย เลือดออกง่าย ผิวซีด เกิดรอยแผลตามผิวหนัง มือเย็น เท้าเย็น รู้สึกคล้ายจะเป็นลม 
  • สัญญาณของการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอเรื้อรัง ไอ มีไข้ หนาวสั่น 
  • อาการอื่น ๆ เช่น เจ็บหน้าอก ผื่นขึ้น อ่อนแรงครึ่งซีก พูดลำบาก สับสน ปวดกระดูก อารมณ์แปรปรวน ปวดศีรษะขั้นรุนแรง มองไม่ชัด รู้สึกปวดตุบ ๆ บริเวณลำคอหรือหู หรือมีไข้ขึ้นอย่างเรื้อรังร่วมกับอาการเจ็บคอและแผลในปาก